“สอ เสถบุตร” เห็นชื่อนี้แล้วหลายคนคงคิ้วชนกัน ยิ่งถ้าเป็นเยาวชนรุ่นใหม่ด้วยแล้วคงต้องส่ายหัว แต่หารู้ไม่ว่าผลงานที่ สอ เสถบุตร ฝากทิ้งไว้กับคนรุ่นหลังนั้น เปรียบได้กับคำภีร์ของนักภาษาชิ้นสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่ง ที่ต้องเคยผ่านตา ผ่านมือใครหลายๆ คนมาแล้วนั่นก็คือ “พจนานุกรม ไทย-อังกฤษ/อังกฤษ-ไทย”
กว่า 4 ทศวรรษที่ดิกชันนารีเล่มแรกของประเทศไทยเกิดขึ้น จากการกลั่นกรองผ่านอัจฉริยภาพทางภาษา ของ สอ เสถบุตร ที่ต้องใช้ความพยายามและผ่านอุปสรรคมาอย่างยาวนาน เพื่อที่คำภีร์ด้านภาษาอังกฤษนี้จะได้ผ่านตานักเรียน นักศึกษามาหลายยุคหลายสมัย แต่จะมีกี่คนที่ทราบว่าดิกชันนารีที่ถูกยกให้เป็นเล่มแรกของสยามนั้น สอ เสถบุตร เขียนขึ้นระหว่างการถูกจองจำในฐานะนักโทษการเมือง
ถึงขนาด “ศ.คร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช” กล่าวในหนังสือ “ลิขิตชีวิต สอ เสถบุตร” ไว้ตอนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าการติดคุกจะทำให้คนซึ่งมีความรู้ทางภาษาอังกฤษกลายเป็นผู้ทำปทานุกรมที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ทุกคนไป ด้วยเหตุผลแต่เพียงว่า เพราะเขามีเวลาว่างมากกว่าคนอื่น ข้าพเจ้าเห็นว่าในสภาพการณ์ดังกล่าว มีคนจำนวนไม่น้อยที่มักใช้เวลาว่างหมดไปด้วยการสงสารตนเอง หรือนั่งรอคอยโชคชะตาพ้นผ่านไป สอ เสถบุตร เป็นนักวิทยาศาสตร์จึงเชื่อว่ามนุษย์อาจบังคับชะตาชีวิตของเขาเองได้ด้วยการไตร่ตรองหาเหตุผล และวางกรอบแห่งชีวิตไว้เสมอ”
** คำภีร์ภาษาอันทรงค่า
“กนิษฐะวิริยา ต.สุวรรณ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรีมา พลับบลิชชิง จำกัด ซึ่งได้รับโอนลิขสิทธิ์จากไทยวัฒนาพานิชในการผลิตและจัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวมามากว่า 40 ปี บอกว่า ดิกชันนารี ของ สอ เสถบุตร ถือเป็นสิ่งที่มีค่าต่อระบบการศึกษาและสังคมไทย ที่ใช้เป็นเครื่องมือในการค้นคว้าหาความรู้ซึ่งทางสำนักพิมพ์ได้ทำการปรับปรุงมาโดยตลอด สำหรับปัจจุบันลูกค้าหลัก คือ นักเรียน นักศึกษา ซึ่งสิ่งที่ได้รับจากทั้งผู้ปกครอง และครูผู้สอนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ดิกชันนารีของ สอ เสถบุตร ยังเป็นดิกชันนารีที่ได้รับการไว้วางใจมากที่สุด ถึงแม้ทุกวันนี้จะมีคู่แข่งเกิดขึ้นมากมาย แต่รากฐาน ต้นตำรับของดิกชันนารีทั้งหมดก็มาจาก สอ เสถบุตร นั่นเอง ซึ่งยอดขายทางการตลาดก็เป็นตัวชี้วัดหลักถึงความนิยมได้
“ดิกชันนารี สอ เสถบุตร มีจุดเด่นอยู่ที่รูปแบบการออกเสียงของคำศัพท์ เพราะคุณสอ เป็นนักเรียนนอกสมัยก่อน ไม่ใช่นักเรียนนอกอย่างสมัยนี้ ที่บางคนพูดไม่ชัดทั้งภาษาไทยและอังกฤษ คุณสอมีความรู้ที่ลึกซึ่งในหลักไวยากรณ์ รายละเอียดของการใช้จึงมีสอดแทรกอยู่ในทุกคำศัพท์ ทั้งนี้ยังมีคำตรงข้าม คำใกล้เคียง หน้าที่ของคำ และตัวอย่างประโยคเพื่อความถูกต้องในการนำไปใช้อีกด้วย”กนิษฐะวิริยา กล่าวถึงดิกชันนารีเล่มสำคัญ
** ปรับสู่ยุคใหม่ “ดิกชันนารี สอ เสถบุตร”
ด้านแนวทางการพัฒนา ปรับปรุงดิกชันนารีนั้น แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่ใครก็จะทำกันได้ สำนักพิมพ์พรีมาจึงได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านภาษาทั้งจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และราชบัณฑิตยสถานมาเป็นคณะทำงาน...
“เพ็ญแข คุณาเจริญ” ผู้ทรงคุณวุฒิจากราชบัณฑิตยสถาน ในฐานะผู้ปรุงแต่งดิกชันนารีคนสำคัญ ให้ข้อมูลว่า ดิกชันนารีของ สอ เสถบุตร มีหลายรูปแบบซึ่งฉบับเต็มหรือที่เรียกว่าฉบับห้องสมุด นั้นจะมีการรวบรวมคำศัพท์ และตัวอย่างประโยคไว้อย่างละเอียดที่สุดเล่มเดียวของประเทศก็ว่าได้ โดยเฉพาะดิกชันนารี ฉบับห้องสมุด ซึ่งมีขนาดใหญ่ก็มีการปรับปรุงเช่นกัน แต่เป็นเพียงการเพิ่มคำศัพท์เล็กน้อย
สำหรับฉบับนักเรียน นักศึกษา นั้นได้มีการปรับรูปแบบให้เล็กลง ง่ายต่อการพกพา ราคาไม่สูงมากนัก ที่สำคัญคือมีความทันสมัยของคำศัพท์ โดยการปรับเปลี่ยนก็จะมีการตัดคำศัพท์ที่เป็นชื่อเฉพาะ ชื่อคน สถานที่ต่างๆ ตลอดจนคำตายที่ไม่ค่อยใช้ในปัจจุบันออก แล้วเพิ่มคำศัพท์ที่สมัยใหม่กว่า 3,000 คำ โดยเน้นที่ศัพท์คอมพิวเตอร์ ศัพท์เศรษฐศาสตร์การเงิน การธนาคาร และสำนวนภาษาต่างประเทศที่ใช้บ่อย อย่างไรก็แล้วแต่ดิกชันนารีเล่มเก่าๆ ก็สามารถเก็บไว้ได้ เพราะศัพท์บางคำในเล่มใหม่ๆ อาจจะไม่มีก็ได้
“ตอนนี้ดิกชันนารีถือเป็นเครื่องมือทางการศึกษาอย่างหนึ่ง แต่เนื่องจากความสะดวกสบายในปัจจุบันทำให้นักเรียน นักศึกษานิยมใช้ดิกชันนารีอิเล็กทรอนิกส์มากกว่า ที่ง่ายต่อการใช้ ไม่ต้องมานั่งเปิดหา ซึ่งไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร เพียงแต่เสียดายเพราะการได้เปิดหาคำศัพท์ด้วยตนเองนั้นจะช่วยในการซึมซับความจำต่อศัพท์นั้นๆ ได้ดียิ่งขึ้น โรงเรียนเองก็น่าจะส่งเสริมให้เด็กใช้ดิกชันนารี โดยเฉพาะของ สอ เสถบุตร ที่ให้รายละเอียดที่มากกว่าการหาคำศัพท์ จนในบางครั้งสามารถกลายเป็นหนังสืออ่านเล่นได้ เพราะจะสอดแทรกวัฒนธรรมด้านภาษาเข้าไปด้วย โดยการสร้างดิกชันนารีขึ้นมาสักเล่มไม่ใช่เรื่องง่ายจึงควรหันกลับมาใช้ประโยชน์ให้สมกับที่มีการสร้างขึ้นมาเช่นกัน” เพ็ญแข อธิบาย
** ความประณีตการใช้ภาษา เรื่องน่าห่วงเด็กไทย
ถึงตรงนี้นอกจากปัญหาการใช้ดิกชันนารีของนักเรียน นักศึกษาแล้ว สิ่งที่น่าห่วงอีกอย่างคือการใช้ภาษาไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย หรือภาษาต่างประเทศ ซึ่ง เพ็ญแข มองว่า ภาษามีวิวิวัฒนาการในตัวเองที่จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ และเด็กเองก็มักจะเปลี่ยนได้เร็ว เพราะเขาจะไม่ค่อยยึดติดอยู่กับของเดิม แต่การเปลี่ยนแปลงในทุกสังคมก็ต้องมี 2 แรงที่ยื้อกัน คือ ของเดิม ที่เป็นมาตรฐาน และ ของใหม่ ที่ต้องพัฒนาคู่กันไปเรื่อยๆ
“ที่น่าสังเกต คือ ณ ตอนนี้คนไทยไม่ปราณีตกับการใช้ภาษา ถึงแม้เด็กจะใช้ภาษาสมัยใหม่อยู่เป็นประจำแต่ก็ไม่มีความปราณีตของการใช้ อย่างการพูดไม่เต็มประโยค การใช้คำควบกล้ำที่ยังมีปัญหา ถึงจะไม่ผิดแต่ก็เป็นการสื่อสารที่ไม่ชัดเจน ทำให้ดูไม่สุภาพ จึงอยากให้มีการพยายามใช้ภาษาอย่างประณีตขึ้นเพื่อผลดีแก่ผู้พูดเอง” ผู้ทรงคุณวุฒิราชบัณฑิตฯ ฝากทิ้งท้าย
ตามรอยชีวิต “สอ เสถบุตร” “สอ เสถบุตร” เกิดวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2446 เป็นบุตรชายคนโตในตระกูล “เศรษฐบุตร” บิดาชื่อ นายสวัสดิ์ มารดาชื่อ นางเกษร มีน้องชาย 2 คน การศึกษาจบ ม.8 จาก ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย และได้รับทุนคิงสกอลาชิพ (ทุนเล่าเรียนหลวง) ไปศึกษาต่อยังประเทศอังกฤษ จนสำเร็จปริญญาตรีเกียรตินิยม สาขาธรณีวิทยากับวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ก่อนกลับมารับบรรดาศักดิ์เป็น “รองเสวกเอก หลวงมหาสิทธิโวหาร” ด้วยวัยเพียง 26 ปี ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมบัญชีกลาง ต่อมาได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เป็นปลัดกรมองคมนตรี สังกัดกรมราชเลขาธิการในราชสำนัก ต่อมาในปี พ.ศ.2476 ถูกจับในคดีกบฏบวรเดช จนถูกถอดบรรดาศักดิ์ และศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ที่ บางขวาง, เกาะตะรุเตา และ เกาะเต่า ซึ่งระหว่างที่ถูกจองจำในฐานะนักโทษการเมืองถึง 11 ปี (พ.ศ.2476-2487) นั้นกลับเป็นช่วงเวลาในการถือกำเนิดขึ้นของ “งานแห่งชีวิต” นั่นคือปทานุกรม (พจนานุกรมอังกฤษเป็นไทย) ที่ได้รับความนิยมจนถูกยกย่องทั่วประเทศให้เป็นพจนานุกรมเล่มแรกและยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา ซึ่ง สอ เสถบุตร เองแอบลักลอบส่งต้นฉบับออกมาตีพิมพ์นอกเรือนจำผ่านทางมารดาที่เดินทางเข้ามาเยี่ยม หลังจากได้รับอิสรภาพได้เข้าสู่แวดวงสื่อสารมวลชนโดยเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “สามัคคีสาร” รับตำแหน่งผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ “ศรีกรุง” “สยามราษฎร์” เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษชื่อ “ลิเบอร์ตี้” กับ “ลีดเดอร์” จนเข้าสู่ถนนการเมืองร่วมกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช พร้อมจัดตั้งพรรคการเมือง ชื่อ “ก้าวหน้า” ต่อมาได้รับเลือกเป็น ส.ส.ธนบุรี เขต 1 ก่อนได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร ในรัฐบาล พ.ต.ควง อภัยวงศ์ และโอนมาสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ เส้นกราฟชีวิตเดินทางมาจนถึง วันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2513 สอ เสถบุตร ได้ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคหัวใจวายเฉียบพลัน ที่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รวมอายุได้ 67 ปี 7 เดือน 1 วัน |