เป็นเรื่องที่ค่อนข้างอยู่ในกระแสของผู้ที่สนใจข่าวสารด้านสุขภาพเลยทีเดียว สำหรับข้อขัดแย้งระหว่างคณะกรรมการคัดกรองศาสตร์แพทย์ทางเลือก กับกลุ่มแพทย์ผู้มีความเชื่อว่า การรักษาแนวทางเลือกที่เรียกว่า “คีเลชั่นเทอราพี” สามารถรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ รวมไปถึงโรคอื่นๆ ได้
คีเลชั่นเทอราพี หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “คีเลชั่น” ที่อาจจะคุ้นหูสำหรับผู้ที่สนใจศาสตร์การแพทย์ทางเลือก หรือผู้ที่ติดตามข่าวสารด้านสุขภาพอยู่เป็นประจำ หากแต่คงมีประชาชนอีกไม่น้อยที่ไม่รู้ว่าเจ้า “คีเลชั่น” นี้คืออะไร
นพ.วิชัย โชควิวัฒน ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดกรองศาสตร์แพทย์ทางเลือก อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ว่า คีเลชั่นไม่ใช่ของใหม่ในวงการแพทย์ มันไม่ได้ถูกใช้สำหรับการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ หากแต่เป็นวิธีที่ถูกคิดขึ้นเพื่อรักษาผู้ป่วยที่มีโลหะหนักสะสมอยู่มากในร่างกาย
“ผู้ป่วยด้วยอาการมีพิษโลหะหนักในร่างกาย มักจะพบในผู้ที่ทำงานเหมืองแร่ เพราะเศษขี้แร่มันจะปะปนออกมาอยู่ในสิ่งแวดล้อม ในอากาศ ในน้ำ ในอาหาร ในพืชที่ปลูกไว้ในพื้นที่ อย่างที่เป็นข่าวที่คนงานเหมืองคลิตี้ จ.กาญจนบุรี มีป่วยด้วยพิษโลหะหนักประเภทตะกั่วในร่างกาย หรือในภาคเหนือตามเหมืองแมงกานีส หรือที่อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช ที่คนงานเหมืองป่วยด้วยพิษสารหนู”
นพ.วิชัยอธิบายต่อว่า สำหรับผู้ป่วยประเภทดังกล่าว แพทย์จะใช้วิธีคีเลชั่นในการรักษา โดยวิธีการนี้แพทย์จะวิธีการฉีดสารชื่อ EDTA หรือ ethylene diamine tetraacetic acid เข้าไปทางหลอดเลือดดำเพื่อให้สารชนิดนี้ ไปจับกับโลหะหนักและขับออกทางปัสสาวะ ซึ่งการนำวิธีคีเลชั่นมารักษาพิษโลหะหนักนี้ไม่อันตราย และเป็นการรักษาทั่วไปที่ถูกต้องและใช้กันมานานแล้ว
“ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า มีแพทย์กลุ่มหนึ่งเชื่อว่ามันใช้รักษาโรคอื่นได้ด้วย โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งแพทย์กลุ่มนี้เชื่อว่าคีเลชั่นจะช่วยขับแคลเซียมที่เกาะอยู่ที่ผนังหลอดเลือดหัวใจทำให้หัวใจอุดตันให้ออกมากับปัสสาวะเช่นเดียวกับที่มันสามารถจะขับโลหะหนักออกมาได้”
ประธานคณะกรรมการคัดกรองศาสตร์แพทย์ทางเลือกระบุว่า แนวคิดที่ว่านี้ไม่ได้มีเฉพาะในประเทศ แต่ที่สหรัฐอเมริกาก็กำลังประสบปัญหาแพทย์และผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยใช้คีเลชั่นเป็นทางเลือกรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ เนื่องจากการรักษาโรคนี้ตามหลักแล้วจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเปิดช่องอก แพทย์ที่ทำจำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านสูงมาก และผู้ป่วยก็จะต้องถูกผ่าตัด เจ็บตัว และพักฟื้นนาน แต่การรักษาด้วยวิธีทางเลือกด้วยคีเลชั่น แพทย์ที่รักษาด้วยวิธีนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาก และผู้ป่วยก็ไม่ต้องผ่าตัดเปิดช่องอก
“หมอที่จะทำคีเลชั่นนั้นเป็นหมออะไรก็ได้ เพราะไม่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะ แค่ฉีดสารเข้าไปในหลอดเลือดดำเท่านั้น ที่อเมริกาเขาก็เจอปัญหานี้ คือหมอและผู้ป่วยเลือกที่จะใช้คีเลชั่นเป็นทางเลือกรักษาหลอดเลือดหัวใจ และมีมากจนขนาดที่องค์กรด้านสุขภาพของเขาต้องออกมาทำวิจัยในเรื่องนี้ว่ามันปลอดภัยและได้ผลจริงหรือไม่ ซึ่งจากการศึกษาของเราไม่พบว่ามีสถาบันสุขภาพระดับชาติใดของอเมริกา ที่จะรับรองการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจด้วยการทำคีเลชั่นเลย ทั้งสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกาหรือสถาบันสุขภาพแห่งชาติของเขา”
นพ.วิชัยให้ข้อมูลต่อไปอีกว่า แต่ในเมื่อมีผู้ป่วยและแพทย์เลือกวิธีนี้ในการรักษาหลอดเลือดหัวใจเป็นจำนวนมาก ทางสหรัฐอเมริกาโดยกรมสอบสวนการวิจัยด้านสุขภาพแห่งสหรัฐอเมริกา อันเป็นหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือสูง ก็ได้ทำการสอบสวนข้อมูลหลักฐานเกี่ยวกับการทำคีเลชั่น ก็พบว่า ไม่มีหลักฐานที่ใช้แล้วได้ผล หนำซ้ำบางรายยังเกิดอาการแทรกซ้อนจากการนำไปใช้ด้วย คือเกิดภาวะไตวาย และรวมถึงอาการแพ้อื่นๆ หลายอย่าง สหรัฐอเมริกาจึงออกบทสรุปของการนำคีเลชั่นไปใช้เป็นแนวการรักษาทางเลือกของโรคหลอดเลือดหัวใจว่า เป็นการรักษาที่ยังไม่รับรองความปลอดภัยและไม่รับรองว่าได้ผล
“แต่จากที่มีประชาชนสนใจใช้มาก เขาก็ทำการศึกษาวิจัย เป็นการวิจัยขนาดใหญ่ ทำมาตั้งแต่พ.ศ.2546 เป็นการวิจัยระบบ Randomization Double Blind คือเชิญอาสามัครที่ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจเข้ามา แล้วอธิบายว่ามีการรักษาทางเลือกแบบคีเลชั่น ที่เป็นแนวใหม่ ไม่ต้องผ่าตัด แต่ก็มีความเสี่ยง และอาจจะได้ผลหรือไม่ได้ผล ยังไม่มีข้อสรุป”
หากอาสาสมัครตกลงทดลองการรักษาแนวนี้ ก็จะนำตัวไปรักษา แต่ยาที่ฉีดเข้าไปจะมีทั้งยาจริงและยาหลอกที่ถูกเข้ารหัสเอาไว้ โดยผู้ป่วยรวมถึงแพทย์ผู้ให้ยาก็จะไม่ทราบว่าอันไหนยาจริง อันไหนยาหลอก เพื่อป้องกันอคติทางการรักษา และเพื่อให้ผลการวิจัยเป็นไปแบบเที่ยงตรงที่สุด ซึ่งอาสาสมัครที่รับการรักษานี้จะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษา”
สำหรับในประเทศไทย นพ.วิชัยให้ภาพการเข้ามาของคีเลชั่นเพื่อการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจว่า เริ่มเห็นบ้างประปรายเมื่อราวปีพ.ศ.2549 แต่ขณะนั้นยังไม่แพร่หลายนัก แต่ในระยะหลังเริ่มจะนิยมมากขึ้น ซึ่งการเข้ามาแพร่หลายในประเทศไทยก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เนื่องจากโลกยุคนี้เป็นโลกยุคโลกภิวัฒน์ การนำส่งข้อมูลข่าวสารเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว เมื่อมีความนิยมในฝั่งตะวันตก ก็ใช้เวลาไม่นานที่จะเข้าประเทศไทย
"ในไทยก็มีเหมือนกันที่ว่าทำแล้วไม่ได้ผล เสียเงินเสียทอง เพราะราคาค่อนข้างสูง ทำครั้งละเป็นพันถึงเป็นหมื่นบาท และเวลาทำต้องทำเป็นคอร์ส บางครั้งเสียไปเป็นหมื่นเป็นแสนก็ไม่ได้ผล มีคนมาพูดให้ฟังเหมือนกัน แต่เขาก็ไม่ได้ร้องเรียนเพราะเหมือนเขาเสียรู้ไปแล้ว ทางกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกก็เชิญผมมาเมื่อ 3-4 เดือนก่อน ให้ผมมาช่วยดูหน่อย ซึ่งผมก็ยินดี”
นพ.วิชัยเล่าต่อว่า หลังจากรับงานก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งการเน้นไปในด้านการตรวจสอบเอกสาร หลักฐานการวิจัยต่างๆ และพบว่ามีทำมากพอสมควร แต่เราไม่มีตัวเลขว่ามากน้อยเท่าใด แต่ที่ทราบคือมีทำทั้งในโรงพยาบาลของรัฐบาลและโรงพยาบาลเอกชน
“ในไทยหากจะมีการทำ ผมคิดว่าแพทย์ต้องแฟร์กับคนไข้ ต้องให้ข้อมูลให้ชัดเจนว่ามันยังไม่เป็นที่รับรองผลว่าจะได้ผลหรือไม่ และเป็นวิธีที่มีความเสี่ยง ให้คนไข้รับทราบและตกลงยินยอมรับการรักษาเสียก่อน และที่สำคัญคือในเมื่อวิธีนี้ยังไม่รับรองว่าได้ผลและปลอดภัย แพทย์ผู้ใช้วิธีนี้ในการรักษา ไม่ควรเรียกเก็บค่ารักษาจากการรักษาด้วยวิธีนี้”
นพ.วิชัยยังทิ้งท้ายอีกด้วยว่า แม้จะมีการกล่าวอ้างผลงานวิจัยและเอกสารข้อมูลเชิงวิชาการต่างๆ จากกลุ่มแพทย์ที่เชื่อว่าคีเลชั่นสามารถรักษาหลอดเลือดหัวใจได้ แต่ในวงการแพทย์ทราบกันดีว่าเอกสารการแพทย์หรืองานวิจัยในวงการนี้จะมีการแบ่งระดับความน่าเชื่อถือ และยืนยันว่าเอกสารที่แพทย์กลุ่มนี้นำมาแสดงนั้นเป็นเอกสารงานวิจัยที่จัดอยู่ในอันดับที่ไม่น่าเชื่อถือเลย
และในขณะที่ นพ.วิชัย ออกมายืนยันว่าคีเลชั่นเป็นวิธีที่ความเสี่ยงและยังไม่ได้รับการรับรองจากสถาบันใดๆ ว่าได้ผลจริงนั้น กลุ่มแพทย์ผู้เชื่อว่าคีเลชั่นไม่อันตรายและมีประโยชน์ต่อคนไข้ อย่าง “นพ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล” แห่งสถานบำบัดโรคแนวทางเลือกอย่าง “บัลวี” ก็ได้ออกโรงคัดค้านการแถลงข่าวของนพ.วิชัย อย่างทันควัน โดยส่งหนังสือชี้แจงผ่านไปยังสื่อหลายสำนักอย่างเผ็ดร้อน ความว่า
“นับเป็นอันตรายอย่างยิ่ง ถ้าจะด่วนสรุปเช่นนั้น ด้วยความเคารพและห่วงใยต่อท่านเป็นส่วนตัว และต่อสังคมไทยอันเป็นส่วนรวม ผมจำเป็นต้องเสนอข้อมูลต่อไปนี้เพื่อการพิจารณาครับ ผมเชื่อว่าผู้รักสุขภาพสมัยนี้ไม่ใช่คนไม่มีหัวคิด ที่จะถูกบุคคลภาครัฐพูดเพียงไม่กี่คำก็เชื่อซะแล้ว เพราะมิฉะนั้นการแพทย์ทางเลือกในโลกคงไม่เติบใหญ่กระทั่งทุกวันนี้”
นพ.บรรจบกล่าวโดยอ้างข้อมูลอ้างอิงจาก Am. J. Cardiol.;jk คีเลชันใช้รักษาพิษโลหะหนักตั้งแต่ปีค.ศ.1940 แต่พอถึงปีค.ศ.1950 นพ.นอร์แมน คลาร์ก ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยรพ.โปรวิเดนซ์ ที่มิชิแกนก็พบว่าการรักษาพิษตะกั่วด้วยวิธีนี้ทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการปวดเค้นอกเพราะหัวใจขาดเลือดดีขึ้นด้วย และในค.ศ.1960 คลาร์กและโมเชอร์ ตีพิมพ์ผลการรักษาโรคกลุ่มหัวใจหลอดเลือดด้วยคีเลชั่นกับผู้ป่วยจำนวน 283 คนเป็นเวลา 4 ปี พบว่า 87% ดีขึ้น
“ตำราแพทย์ว่าด้วยคีเลชัน(Textbook – the Secientific Basis of EDTA Chelation Therapy) โดยบรู๊ซ ฮาลสเตด ได้ตีพิมพ์เมื่อค.ศ.1979 และใช้เป็นตำรามาตรฐานของวงการนี้ มันมีขนาดความหนาเท่ากับฮาร์ริสัน (Harrison) ซึ่งเป็นตำรามาตรฐานของอายุรศาสตร์ของการแพทย์แบบแผน ปีค.ศ.1984 ดร.แครนตัน แพทย์ผู้โดดเด่นและเป็นกรรมการแพทยสภาที่สหรัฐฯได้เขียนหนังสือวิชาการระดับประชาชนชื่อ ทางลัดเพื่อเลี่ยงบายพาส (Bypassing Bypass) กล่าวถึงผลดีของคีเลชั่นที่ทำให้ลดความจำเป็นของการทำบายพาส หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ไปแล้ว 165,000 เล่มจำหน่ายไปทั่วโลก”
นพ.บรรจบยังได้อ้างถึงงานวิจัยกรณีการใช้คีเลชั่นในการรักษาโรคต่างๆ อาทิ เบาหวาน คลอเลสเตอรอล และอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง ที่มีในเอกสารวิชาการต่างๆ อื่นๆ อีกมากมาย รวมทั้งได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในไทย กองแพทย์ทางเลือก กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ได้มีคำสั่งมอบอำนาจเป็นลำดับชั้นเพื่อจัดให้มีการศึกษาอบรมแพทย์คีเลชั่นออกมาเป็นรุ่นๆ มาตั้งแต่พ.ศ.2550 ปีที่ผ่านมา โดยเป็นความร่วมมืออย่างเป็นทางการกรมแพทย์ทางเลือกของประเทศไทยกับสถาบันทางออสเตรเลีย โครงการนี้ได้ผลิตแพทย์คีเลชั่นมากว่า 200 คนแล้ว แพทย์เหล่านี้มีทั้งภาครัฐและเอกชนและได้เปิดให้บริการอยู่ทั่วประเทศในขณะนี้ เพราะฉะนั้นจะกล่าวหาว่าแพทย์เหล่านี้ซึ่งผ่านหลักสูตรของกระทรวงเองว่ากำลังทำเวชปฏิบัติที่มั่วนิ่ม ไร้สถาบัน ไร้งานวิจัยย่อมเป็นไปไม่ได้
“แต่ที่น่าแปลกใจคือคณะกรรมการคัดกรองศาสตร์แพทย์ทางเลือก ที่แต่งตั้งโดยอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก เมื่อธันวาคม 2551 จู่ๆก็แถลงข่าวในเชิงลบล้างผลงานของกรมตัวเองที่ดำเนินงานมากว่า 2 ปีแล้ว ชาวบ้านตาดำๆก็งงเป็นไก่ตาแตกซิครับ” นพ.แห่งบัลวีรายนี้กล่าวผ่านแถลงการณ์ของตนเอง
ด้านสมาคมการแพทย์คีเลชั่นแห่งประเทศไทยเองก็ไม่นิ่งเฉย เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมาก็ออกมาแถลงข่าวโต้นพ.วิชัยในประเด็นที่คล้ายกับที่นพ.บรรจบโต้มาแล้วก่อนหน้านี้ โดย “นพ.บัญชา แดงเนียม” ในฐานะคณะกรรมการสมาคมการแพทย์คีเลชั่นแห่งประเทศไทยได้หยิบยกประเด็นการขาดผู้เชี่ยวชาญด้านแพทย์ทางเลือกในกลุ่มคณะกรรมการคัดกรองศาสตร์ฯ ทำให้ขาดความเชี่ยวชาญในการพิจารณา และได้เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนบุคคลากรในกลุ่มกรรมการฯ ดังกล่าวนี้ พร้อมกับเรียกร้องให้มีเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญด้านคีเลชั่นและภาคประชาชนเข้าไปเป็นกรรมการร่วมด้วย
“มีงานวิจัยและเอกสารทางวิชาการมากมายที่ระบุว่าการทำคีเลชั่น ช่วยรักษาอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจได้ รวมถึงโรคอื่นๆ ด้วยทั้งเบาหวาน ความดันโลหิต อาการอ่อนเพลียอื่นๆ รวมถึงการปรับสมดุลร่างกาย มันเป็นการ Detox อย่างหนึ่ง ในไทยยังไม่เคยมีคนไตวายจากการทำคีเลชั่น ในต่างประเทศพบบ้างแต่น้อยมาก สัดส่วนเป็นหมื่นๆ คนจะพบสัก1-2คนเท่านั้น” นพ.บัญชากล่าว
แต่ในขณะที่แขกรับเชิญให้มาร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้กับสมาคมการแพทย์คีเลชั่นไทย อย่าง “นพ.ชัชดนัย มุสิกไชย” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจเองก็ยังยอมรับว่าการทำคีเลชั่นมีความเสี่ยง และยังไม่มีการรับรองว่าวิธีการรักษาชนิดนี้จะได้ผลแน่นอนหรือไม่
“ในฐานะแพทย์โรคหัวใจนะครับ ก็คงเช่นเดียวกับแพทย์ด้านนี้ท่านอื่นๆ คือทุกคนรอผลงานวิจัยของอเมริกาที่จะออกในปีหน้า ที่จะฟันธงว่าการรักษาแนวนี้ได้ผลหรือไม่อย่างไรและมีความเสี่ยงหรือไม่ ซึ่งตอนนี้ก็ยังรออยู่ครับ ไม่มีใครพูดอะไรในเรื่องนี้ และในโรงเรียนแพทย์ก็พูดถึงคีเลชั่นเพื่อการรักษาภาวะพิษโลหะหนักสะสมอันเป็นวิธีการรักษาแบบมาตรฐานเท่านั้น แต่ในบริบทอื่น ในโรงเรียนแพทย์ไม่มีการพูดถึงครับ” นพ.ชัชดนัยกล่าว