xs
xsm
sm
md
lg

จม.เปิดผนึกจาก “สมาคมคีเลชัน” เตรียมยื่น “วิทยา” แจ้งปรับ คกก.คัดกรองแพทย์ทางเลือก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จดหมายเปิดผนึก ลงวันที่ 17 มิถุนายน โดยสมาคมการแพทย์คีเลชั่นแห่งประเทศไทย ที่จะยื่นต่อนายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สธ. เรื่องขอให้ปรับเปลี่ยนและทบทวนการทำงานคณะกรรมการคัดกรองศาสตร์การแพทย์ทางเลือก มีใจความว่า

“ตามที่กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้แต่งตั้งคณะกรรมการคัดกรองศาสตร์การแพทย์ทางเลือกขึ้นเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2551เพื่อคัดกรองศาสตร์การแพทย์ทางเลือกที่มีคุณภาพ ความปลอดภัย มีประสิทธิผลและความคุ้มค่า เพื่อบูรณาการเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพของประเทศ หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2552 ที่ผ่านมา คณะกรรมการชุดดังกล่าว ได้จัดให้มีการแถลงข่าว ความว่า “คีเลชั่น รักษาสารพัดโรคโดยไร้หลักฐานการวิจัย” และได้มีการแถลงด้วยว่า คณะกรรมการดังกล่าวได้ศึกษาข้อมูลทั่วโลก จนได้ข้อเท็จจริงว่า ไม่มีสถาบันหรือหน่วยงานใดรับรองว่าคีเลชั่นใช้รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจได้

แต่ในข้อเท็จจริง การได้รับสารพิษและการสะสมสารพิษโลหะหนักในร่างกาย เช่น ตะกั่ว ปรอท และสารโลหะหนักชนิดอื่นๆ เป็นสาเหตุหนึ่งในการทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ มีหลักฐานยืนยันชัดเจนและได้รับการยอมรับจากแพทย์ทั่วโลกว่าการทำคีเลชั่น ได้รับการยอมรับว่าสามารถช่วยกำจัดพิษโลหะหนักออกจากร่างกายได้ ช่วยลดการสะสมของสารพิษโลหะหนัก ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ

ศาสตร์คีเลชั่นเป็นศาสตร์ที่มีหลักฐานการวิจัยต่างๆ นับแต่คศ.1950 เรื่อยมา โดยมีการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ชั้นนำของโลก ในด้านสถาบันวิชาการ ประเทศต่างๆ ในยุโรป สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย ต่างก็มีสมาคมวิชาการของการแพทย์คีเลชั่นเกิดขึ้นเกือบทุกประเทศเช่น America College of Metal in Medicine (ACAM) สหรัฐอเมริกา ,ICIMสหรัฐอเมริกา, The International Board of Clinical Metal Toxicology (IBCMT) ในประเทศเนเธอร์แลนด์ , MTMในเยอรมัน, Australasian College of Nutritional and Environment Medicine (ACNEM) ของประเทศออสเตรเลีย , AUSCAM ประเทศออสเตรเลีย , Korean Integrative Medicine Institue (KIMI) เกาหลี ,NZCTนิวซีแลนด์, The Hongkong Foundation for Biomedical Research on Toxic Metal ฮ่องกง, ISSMTCT ประเทศอินเดีย องค์กรเหล่านี้ทำหน้าที่ส่งเสริมงานวิจัยและเผยแพร่ความรู้ทั้งในและต่างประเทศ ทั้งจัดการฝึกอบรมแพทย์ทั่วโลกเพื่อให้การบริการอย่างมีมาตรฐาน

สำหรับประเทศไทย การพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้มีการดำเนินงานด้านคีเลชั่นบำบัดอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งได้จัดให้มีการสัมมนาวิชาการการแพทย์คีเลชั่นอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2551 โดยร่วมมือกับ Australasian College of Nutritional and Environment Medicine ซึ่งปัจจุบันได้อบรมแพทย์คีเลชั่นไปแล้วมากกว่า 200 คน ซึ่งแพทย์ในภาครัฐและเอกชนที่ผ่านการฝึกแล้วก็ได้ให้บริการแก่ประชาชนทั่วประเทศ ฉะนั้นการจะว่าหาว่าแพทย์ซึ่งผ่านหลักสูตรของกระทรวงสาธารณสุข กำลังทำเวชปฏิบัติที่ไร้หลักวิชาการไร้สถาบันย่อมเป็นไปไม่ได้

อนึ่งถ้าพิจารณารายชื่อคณะกรรมการฯ ดังกล่าวจะพบว่าในรายชื่อนอกจากตัวประธานคณะกรรมการฯแล้วบุคคลอื่นๆ เกือบทั้งหมดเป็นแพทย์แบบแผน ที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์การแพทย์ทางเลือกอย่างแท้จริง อีกทั้งยังเป็นตัวแทนจากหน่วยงานรัฐถึง 8 ตำแหน่ง เช่น กองควบคุมยา กองควบคุมอาหาร กองควบคุมเครื่องมือแพทย์ กองการประกอบโรคศิลปะ กรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์ มีแพทย์ด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกอยู่จริงเพียง 3 ตำแหน่ง ได้แก่รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนจีน ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ทางเลือก นอกจากนี้เป็นเจ้าหน้าที่เพื่อทำหน้าที่ด้านธุรการจากสำนักการแพทย์ทางเลือกอีก 3 ตำแหน่ง ด้วยสัดส่วนนี้จึงยากที่คณะกรรมการชุดดังกล่าวจะเข้าใจถึงศาสตร์การแพทย์ทางเลือกได้อย่างถ่องแท้

จากข้อเท็จจริงเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า การแถลงข่าวของกรรมการชุดดังกล่าวเป็นคำแถลงที่มิได้ตั้งอยู่บนฐานข้อมูลความเป็นจริง การแถลงดังกล่าวมีผลขัดแย้งกับการทำงานที่ผ่านมาของกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเอง ซึ่งได้มีการจัดสัมมนาวิชาการแพทย์คีเลชั่นมาแล้วกว่าหนึ่งปี มีผู้ป่วยที่ได้รับประโยชน์จากคีเลชั่นแล้วมากกว่าหมื่นราย ย่อมเป็นเหตุให้เกิดความสับสน ทั้งในด้านการทำงานในกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย ในหมู่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม และในหมู่ประชาชนผู้รับบริการ และเป็นการลบหลู่ดูหมิ่นแพทย์วิชาชีพทางคีเลชั่นในที่สาธารณะ เป็นเหตุให้เกิดความเสื่อมเสียเกียรติยศชื่อเสียงของแพทย์คีเลชั่นและเกิดความแตกแยกในหมู่ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ด้วยกัน

การแถลงดังกล่าวละเมิดสิทธิพื้นฐานของประชาชนในการที่จะเข้าถึงและเลือกรับบริการด้านสาธารณสุขอันจะนำมาซึ่งโอกาสคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

การแถลงดังกล่าวยังส่อแสดงว่าคณะกรรมการชุดนี้น่าจะประกอบด้วยสัดส่วนคณะกรรมการที่ไม่ถูกต้องเพราะประกอบด้วยแพทย์แบบแผนและบุคลากรของรัฐที่ไม่เคยศึกษาและมีประสบการณ์ด้านแพทย์ทางเลือก จึงขาดวิสัยทัศน์และมุมมองของศาสตร์การแพทย์ทางเลือก ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว แพทย์แบบแผนที่ไม่เคยผ่านการศึกษาเพื่อยกระดับความรู้ด้านการแพทย์ทางเลือก ย่อมไม่สามารถเข้าใจศาสตร์นี้ได้อย่างถ่องแท้ จึงไม่สามารถกลั่นกรองศาสตร์การแพทย์ทางเลือกได้อย่างเหมาะสม

แท้จริงการวางนโยบายและคัดกรองศาสตร์การแพทย์ทางเลือกควรที่ประชาชนจะได้เข้ามามีส่วนร่วมอันอาจจะเข้ามาในลักษณะของไตรภาคี ดังนั้นหากกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จะแต่งตั้งคณะกรรมการคัดกรองก็ควรที่จะมีบุคคลากรจากสามฝ่าย อันได้แก่ภาครัฐผู้มีจิตใจกว้างขวาง ศึกษาศาสตร์ต่างๆ อย่างเป็นธรรม บุคคลากรจากภาควิชาการ อันได้แก่ผู้มีความรู้เข้าใจทางศาสตร์การแพทย์ทางเลือกหลายสาขา และผู้บริโภคคือภาคประชาชนระดับต่างๆ

ด้วยเหตุนี้สมาคมการแพทย์คีเลชั่นไทย จึงขอเรียกร้องให้ ฯพณฯ ทบทวนการทำงานของคณะกรรมการดังกล่าว และขอให้ยุบเลิกคณะกรรมการชุดปัจจุบัน พร้อมกับพิจารณาคัดเลือกชุดใหม่ที่ประกอบด้วยภาคประชาชน นักวิชาการผู้มีความรู้หลากหลาย และบุคลากรจากภาครัฐ บุคคลากรการแพทย์ที่มีจิตใจกว้างขวาง เข้าในศาสตร์การแพทย์ทางเลือก ได้มีส่วนร่วมในคณะกรรมการชุดนี้ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น