xs
xsm
sm
md
lg

ชื่อคนพัวพันทุจริตยาโผล่นั่งกรรมการพัฒนาระบบยา ภาคปชช.บุกสธ.ค้านเต็มที่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
เครือข่ายผู้ป่วยฯ บุก สธ.เหตุกังวล “วิทยา” เสนอแต่งตั้งอดีตผู้พัวพันทุจริตยา 2 ราย นั่งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ชี้ควรทบทวนใหม่ เพราะมีกรรมการบางรายมีประวัติด่างพร้อยไม่เหมาะสม จี้เร่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯ เหตุล่าช้าผู้ป่วยยาจิตเวชได้รับความเดือดร้อน พร้อมถกร่างพ.ร.บ.ครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขเละเทะประชาชนยังไร้ที่พึ่ง

รายงานข่าวจากกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายวิทยา แก้วภารดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ทำหนังสือถึงนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เสนอ ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้ง “กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ” ทั้งสิ้น 10 คน ตามความในข้อ 4 (29) ของ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ.2551 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 25 ธันวาคม 2551 โดยรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒินั้น พบว่า มีผู้ที่เคยมีข้อกล่าวหาว่าพัวพันคดีทุจริตยา ที่ทำให้นายรักเกียรติ สุขธนะ อดีตรัฐมนตรีสาธารณสุขถูกตัดสินจำคุกนั้น

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ในวันที่ 22 มิถุนายนนี้ เวลา 14.00 น.เครือข่ายผู้ป่วยเรื้อรัง มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสาธารณสุขและผู้บริโภค ฯลฯ จะเดินทางเข้าพบนายวิทยา แก้วภารดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อหารือใน 3 เรื่องหลัก คือ 1.การตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เนื่องจากกังวลต่อการเตรียมแต่งตั้งคณะกรรมการบางรายมาเป็นคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ 2.ความล่าช้าในการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบยาฯ ทำให้ผู้ป่วยจิตเวชได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักและ 3. เนื้อหาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขที่ภาคประชาสังคมยังคงมีความเห็นแตกต่างกับทางกระทรวงสาธารณสุขอย่างมาก

“ได้ข้อมูลมาว่า จะมีการตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบยาฯ ที่มีผู้เคยพัวพันคดีทุจริตยาเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการพัฒนาระบบยาฯ จึงมีความไม่สบายใจ ไม่ไว้วางใจให้เข้ามาทำหน้าที่ ซึ่งรัฐมนตรีอาจยังไม่ทราบข้อมูลประวัติความเป็นมาของคดีการทุจรติยา ว่ามีใครที่เกี่ยวข้องบ้างจึงต้องมาให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ทั้งนี้ รัฐมนตรีไม่ควรสนับสนุนให้บุคคลเหล่านี้เข้ามาทำงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบยาที่มีความสำคัญมาก นอกจากนี้ยังมีการเสนอชื่อผู้แทนองค์กรภาคเอกชนที่ไม่เคยมีบทบาทใดๆ ในการคุ้มครองผู้บริโภคมาเป็นกรรมการด้วย”น.ส.สารีกล่าว

น.ส.สารี กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ หลังจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีมติเห็นชอบ ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2551ให้เพิ่มยาริสเพอริโดน( Risperidone )ชนิดเม็ด และ ยาเซอร์ทราลีน (Sertraline) ชนิดเม็ด สำหรับใช้รักษาอาการผู้ป่วยจิตเภท และผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ครอบคลุมอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ทันทีที่ได้รับการบรรจุเข้าอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่การพิจารณาเรื่องนี้ทำไม่ได้ เนื่องจากรองนายกรัฐมนตรีที่มีหน้าที่รับผิดชอบยังไม่แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ จึงยังไม่มีการพิจารณายาสำหรับผู้ป่วยจิตเวชซึ่งขณะนี้ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ขอให้รัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องนี้ ทบทวนการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบพัฒนาระบบยา เนื่องจากมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิบางรายมีความไม่เหมาะสม ทั้งนี้ ควรพิจารณาประวัติที่มาอย่างไร มีความด่างพร้อยหรือไม่ เพราะคณะกรรมการพัฒนาระบบยาฯ มีความสำคัญในการพิจารณายาบรรจุเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ จึงไม่ควรมีประวัติมัวหมอง แม้ว่าจะไม่มีคำตัดสินให้ลงโทษตามกฎหมายเพราะหลักฐานสาวไม่ถึง แต่ในวงการต่างทราบว่ามีการเชื่อมโยงกันอย่างไรบ้าง ผู้ที่จะมาเป็นคณะกรรมการจึงควรเป็นคัดเลือกผู้ที่มีคุณภาพมาทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนให้มากที่สุด

“ที่สำคัญ จะหารือเรื่อง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ที่ตอนนี้ถูกยำจนเละ เสียรูป มีการเปลี่ยนชื่อกฎหมาย จากการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายเป็นกฎหมายสมานฉันท์ให้ผู้ที่มีปัญหาขัดแย้งรักกัน แถมยังให้ไปขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่ควบคุมโรงพยาบาล ซึ่งมีโอกาสเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนทั้งในเชิงนโยบายและการไกล่เกลี่ย ซึ่งจะทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่มีที่พึ่ง”นายนิมิตร์กล่าว

สำหรับรายชื่อกรรมการผู้คุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ 10 ราย มีดังนี้ 1.นพ.ยุทธโพธารามิก มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบราราชชนนี (พอ.สว.) 2.นพ.กฤษฎา มนูญวงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์ 3.นพ.สถาพร วงศ์เจริญ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสาธารณสุข 4.รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 5.พล.ต.ต.สุทัตต์ จารุดิลก ผู้ทรงคุณวุฒิด้านทันตกรรม 6.ภก.สุรกิจ นาทีสุวรรณ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเภสัชกรรม 7.สพ.ญ.ยวนตา พฤกษราช ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสัตวแพทย์ 8.นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์แผนไทยหรือการแพทย์ทางเลือก 9.นพ.ดร.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐศาสตร์ และ10.ศ.นพ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย
สารี อ๋องสมหวัง
กำลังโหลดความคิดเห็น