ชู “โรงพยาบาลสมุย” ต้นแบบ แลกเปลี่ยนความร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่ ดูแลผู้ป่วยผ่าตัดสมอง ช่วยลดอัตราเสียชีวิต แม้มีบุคลากรน้อย ชี้ได้ใช้ทรัพยากรในเกาะอย่างคุ้มค่า
นพ.ธรรมนูญ สุขุมานันท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า โรงพยาบาลเกาะสมุยได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่ โดยในปี 2552 ได้ทำสัญญากับโรงพยาบาลกรุงเทพสมุย ในการส่งต่อผู้ป่วยผ่าตัดสมอง โดยคิดอัตราค่าใช้จ่ายตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนดตามค่าเฉลี่ยรายโรคที่จ่ายกับโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งขณะนี้มีผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัดสมอง 3-4 รายต่อปี นอกจากนี้ ยังได้ประสานความร่วมมือกับโรคพยาบาลเอกชนในพื้นที่เกาะสมุยในลักษณะเดียวกันอีก 3 แห่ง แบบไม่เป็นทางการ คือ โรงพยาบาลไทยอินเตอร์ โรงพยาบาลบ้านดอน และ โรงพยาบาลสมุยอินเตอร์ ซึ่งโรงพยาบาลได้ริเริ่มดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว ที่ผ่านมา ช่วยลดอัตราการพิการและเสียชีวิตได้ รวมทั้งมีการบริการจัดการที่ดีขึ้น
“โรงพยาบาลกรุงเทพสมุย เป็นโรงพยาบาลที่มีความพร้อมในการผ่าตัดสมอง ขณะที่โรงพยาบาลสมุยมีศัลยแพทย์เพียงคนเดียวแต่ต้องอยู่เวรตลอด 1 เดือน เป็นภาระงานหนักมาก ไม่มีเครื่องมืออุปกรณ์ ทำให้ไม่สามารถทำการผ่าตัดสมองได้ ดังนั้น การประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนถือเป็นการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างคุ้มค่า นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนความร่วมมือ โดยโรงพยาบาลสมุยมีระบบการจัดการขยะติดเชื้อ จึงสามารถรับขยะจากโรงพยาบาลเอกชนมาเป็นผู้ดำเนินการกำจัดได้ โรงพยาบาลรัฐและเอกชนจึงมีหลายเรื่องที่สามารถช่วยกันได้” นพ.ธรรมนูญ กล่าว
นพ.ธรรมนูญ กล่าวต่อว่า ส่วนปัญหาของโรงพยาบาลเกาะสมุยนั้น การที่โรงพยาบาลอยู่บนพื้นที่เกาะทำให้มีข้อจำกัดในการส่งต่อผู้ป่วย เช่น เวลาส่งต่อทางเรือโดยรถพยาบาลไปยังโรงพยาบาลศูนย์สุราษฏร์ธานีใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ไปกลับประมาณ 6 ชั่วโมง และเรือเฟอร์รี่หยุดให้บริการเวลา 19.00-05.00 น.จึงไม่สามารถเดินทางได้ โดยค่าใช้จ่ายในการส่งต่อเฉลี่ย 3,500 บาท/ครั้ง ในการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลศูนย์สุราษฎร์ธานี โดยมีการส่งต่อด้วยรถพยาบาลเพื่อการรักษาเร่งด่วนและโรงพยาบาลสมุยไม่สามารถรักษาเองได้ เช่น โรคมะเร็ง โรคต้อกระจก ต้อหิน อุบัติเหตุ โรคหัวใจ เบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อน ประมาณ 10-20 รายต่อเดือน
นพ.ธรรมนูญ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ การที่เกาะสมุย มีประชากรตามทะเบียนราษฎร 52,935 ราย แต่ในความเป็นจริงมีประชากรแฝงอีก 107,254 ราย ปัจจุบันคาดการณ์ว่า น่าจะมีประชากรแฝงมากกว่า 150,000 ราย ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน เนื่องจากที่อยู่อาศัยไม่ถูกสุขลักษณะ ทำให้เกิดโรค เช่น โรคไข้เลือดออก ท้องเสีย เป็นต้น อีกทั้งเป็นการเพิ่มภาระงานในการรักษาและป้องกันโรค โดยโรงพยาบาลต้องรับภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของชาวต่างด้าวที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนประมาณ 1 หมื่นราย ในขณะที่งบประมาณไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงควรจะมีการจัดสรรงบประมาณตามประชากรจริง