“อิสสระ” ระบุรับน้องโหดยากจะเยียวยา กลายเป็นการอาฆาตจากรุ่นสู่รุ่น มีการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลด้วยวิธีรุนแรง ชี้สถาบันต้องสางปัญหา เร่งประสาน ศธ.เพื่อหาทางออกร่วมกัน ด้าน “ครูหยุย” แนะสภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัย และสภานักศึกษา ประชุมร่วมกันวางกรอบการรับน้องเชิงสร้างสรรค์ แจ้งกฎเกณฑ์รับน้องให้เด็กทราบตั้งแต่วันสมัคร เสนอปรับหลักสูตรอาชีวะ เทียบเท่าระดับมหาวิทยาลัย
วันนี้ (10 มิ.ย.) นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงกรณีปัญหาการรับน้องรุนแรงว่า เรื่องรับน้องมีปัญหามานาน ทั้งๆ ที่เป็นประเพณีที่ดี แต่การใช้ความรุนแรงก็มีมานานจนยากจะเยียวยา กลายเป็นความอาฆาตแค้นจากรุ่นสู่รุ่น เป็นเรื่องน่าเสียใจ เพราะรับน้องแบบล้ำเส้น ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลมากเกินไปด้วยวิธีการรุนแรง สถาบันเองจึงต้องเป็นผู้แก้ไข สร้างมาตรการดูแล ซึ่งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการก็บอกว่าให้ดำเนินการกับผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาด ตนก็พยายามประสานกับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อช่วยหาทางออกร่วมกัน เพราะ หากยังหาทางแก้ปัญหาไม่ได้ ปีต่อๆ ไปก็ต้องเกิดปัญหาอีก อย่างปีที่ผ่านมาก็มีเหตุจนถึงขั้นเสียชีวิตมาแล้ว ปัญหาไม่ได้จบง่ายๆ
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือครูหยุย เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ในฐานะคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาการรับน้องรุนแรงว่า ทุกฝ่ายควรจะต้องร่วมกันวางกรอบหลักกระบวนการรับน้องอย่างเป็นรูปธรรม แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.ระดับสภาคณาจารย์ที่จะต้องประชุมวางแผนการรับน้องเชิงสร้างสรรค์เป็นแบบอย่างให้สถาบันการศึกษาทั่วประเทศปฏิบัติตาม 2.ระดับมหาวิทยาลัยต้องทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์การรับน้อง และมีรูปแบบอย่างเคร่งครัดเพื่อให้นักศึกษาปฏิบัติตาม และ 3.ระดับสภานิสิตนักศึกษาที่จะต้องเป็นฝ่ายกำหนดกิจกรรมการรับน้องทั้งหมด
“สภานักศึกษาต้องมาร่วมกันวางแผนการรับน้องไม่ว่านอกหรือในสถาบัน เพื่อนำเสนอขอความเห็นชอบต่อสภาคณาจารย์และที่ประชุมมหาวิทยาลัย จากนั้นต้องชี้แจงตั้งแต่ช่วงเปิดรับสมัครนักเรียน นักศึกษาใหม่ถึงกฎเกณฑ์ให้เด็กทราบว่า เรื่องต้องห้ามในการรับน้องมีอะไรบ้าง เช่น ห้ามเหล้ายา ห้ามเรื่องการลวนลาม เซ็กซ์ ห้ามละเมิดสิทธิคนอื่น หากใครกระทำสถาบันไม่ปกป้อง เพราะเป็นความผิดอาญา ซึ่งอย่าง ม.จุฬาฯ ม.ธรรมศาสตร์ หรือ ม.มหิดล มีการทำมาแล้วได้ผล แต่สถาบันอาชีวะอย่าง อุเทนถวายที่เกิดปัญหานั้นอาจเพราะไม่มีการพูดคุยกัน มีแต่สั่งห้ามเอาน้องไปข้างนอก ระบบอาชีวะต้องปรับหลักสูตรจากการเรียนแต่ช่างมาเรียนรู้ชีวิต และยกระดับในระดับเดียวกับมหาวิทยาลัยด้วย” ครูหยุยกล่าว