สวนดุสิตโพลเผยประชาชนกว่า 42 เปอร์เซ็นต์สูบบุหรี่เพราะเคยชิน แก้เครียด 35 เปอร์เซ็นต์ ชี้ขึ้นภาษี-ราคายาสูบไม่กระตุ้นให้อยากเลิก กว่า 41 เปอร์เซ็นต์ยังคงสูบต่อไป ระบุวิธีเลิกสูบบุหรี่กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ กำลังใจจากครอบครัวมีผลมากที่สุด
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทุกสาขาอาชีพทั้งผู้ที่สูบบุหรี่ ผู้ที่มีคนใกล้ชิดสูบ และผู้ที่ไม่มีคนใกล้ชิดสูบ ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,092 คน ระหว่างวันที่ 28-31 พ.ค.52 เนื่องในวัน “งดสูบบุหรี่โลก” พบว่าความคิดเห็นต่อ “คนที่สูบบุหรี่” ภาพรวมร้อยละ 41.06 เห็นว่า สูบได้แต่จะต้องไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน /ไม่ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนผู้อื่น ร้อยละ 30.72 ระบุเป็นห่วงสุขภาพและอันตรายที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ขณะที่ร้อยละ 28.22 ระบุเป็นสิทธิส่วนบุคคล /อยากจะเลิกแต่เลิกไม่ได้ อย่างไรก็ตาม มีเพียงผู้ที่สูบบุหรี่ เห็นว่า การสูบบุหรี่เป็นสิทธิส่วนบุคคล อยากจะเลิกแต่เลิกไม่ได้ มาเป็นอันดับแรก ส่วนเหตุผลที่ทำให้ “สูบบุหรี่” ภาพรวมหรือร้อยละ 42.49 ระบุสูบมานานแล้ว /เป็นความเคยชิน ร้อยละ 35.79 ระบุรู้สึกผ่อนคลาย ช่วยให้คลายเครียดได้ ร้อยละ 21.72 บอกอยากลอง /เห็นคนอื่นสูบจึงอยากสูบบ้าง
สำหรับประเด็นการขึ้นราคา “บุหรี่” มีผลที่จะทำให้การสูบบุหรี่ลดลงหรือไม่ ร้อยละ 41.28 เห็นว่าไม่มีผล เพราะในแต่ละวันมีการกำหนดไว้ว่าต้องสูบกี่มวน และไม่ส่งผลกระทบต่อเงินที่มีอยู่, ไม่ได้เป็นการสิ้นเปลืองมากเกินไป, ไม่ได้สูบเป็นประจำ, ยังคงสูบต่อไป ฯลฯ ร้อยละ 37.08 ไม่แน่ใจ เพราะขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจ /รายได้ส่วนตัว, ขึ้นอยู่กับผู้ที่สูบบุหรี่มากกว่าว่าราคามีผลหรือไม่ หรือต้องการของที่จะสูบต่อไป ฯลฯ ขณะที่ 21.64 ระบุมีผลเพราะทำให้ปริมาณการสูบบุหรี่ในแต่ละวันลดน้อยลง, สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันไม่เอื้ออำนวย, เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายให้มากขึ้น ฯลฯ
ส่วนวิธีที่จะทำให้ “เลิกสูบบุหรี่” ร้อยละ 50.32 เห็นว่า ขึ้นอยู่ที่ตัวเองโดยนึกถึงครอบครัวหรือคนที่รักเพื่อเป็นกำลังใจ ร้อยละ 30.39 ระบุส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องประชาสัมพันธ์ ถึงพิษภัยของบุหรี่หรือรณรงค์ให้งดสูบบุหรี่อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ร้อยละ 19.29 ให้เพิ่มราคาบุหรี่ให้แพงมากขึ้นหรือปิดโรงงานยาสูบไปเลย ต่อประเด็นคำถาม “การสูบบุหรี่” เป็นภัยต่อ “ใคร” มากที่สุด ภาพรวมร้อยละ 63.07 เห็นว่าเป็นภัยเฉพาะตัว เพราะทำให้ผู้ที่สูบได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสูบบุหรี่, ทำให้สุขภาพ ร่างกายเสื่อมโทรม ฯลฯ ร้อยละ 25.54 ระบุเป็นภัยต่อคนรอบข้าง เพราะกลิ่นควันที่ปล่อยออกมาเป็นการรบกวนคนรอบข้าง, ทำให้คนใกล้ตัวมีสุขภาพที่แย่ลง, ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ฯลฯ ร้อยละ 11.39 เป็นภัยต่อส่วนรวม เพราะทำให้คุณภาพชีวิตของคนในสังคมแย่ลง, ทำให้รัฐต้องสูญเสียค่ารักษาพยาบาลจำนวนมาก, ส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ ฯลฯ