xs
xsm
sm
md
lg

ไข้เลือดออกระบาดหนักทั่วประเทศ เผย 1 สัปดาห์ป่วยอีก 1,500 ราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
“มานิต” เผยยอดผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มสูงขึ้น ระยะเวลา 1 สัปดาห์พบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น 1,543 ราย แนะจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชนทุกครัวเรือน ต้องทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ตัดโอกาสลูกน้ำโตเป็นยุงทุก 7 วันอย่างต่อเนื่อง พร้อมเพรียงกันทุกพื้นที่

วันนี้ (29 พ.ค.) นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินทางไปมอบนโยบายให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่อำเภอเขาค้อ อำเภอเมือง อำเภอหล่มเก่า อำเภอน้ำหนาว และอำเภอหล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เพื่อควบคุมโรคติดต่อในพื้นทื่

นายมานิตกล่าวว่า ขณะนี้มีงานด่วนที่ต้องอาศัยกำลัง อสม.ช่วยในการเผยแพร่ความรู้ เพื่อลดความตื่นตระหนกของประชาชนหลายโรค ทั้งโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่ระบาดในต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการแพร่ระบาดในประเทศไทย โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา (Chikungunya Fever) โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออก ที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ เนื่องจากมีจำนวนผู้ป่วยสูงขึ้นมาโดยตลอด รัฐบาลต้องสูญเสียงบประมาณในการป้องกันโรคจำนวนมาก ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกขณะนี้มีทุกวัย หากได้รับการวินิจฉัยไม่ถูกต้อง รักษาไม่ทัน อาจทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้เฝ้าระวังการระบาดของโรคไข้เลือดออกอย่างใกล้ชิด

สถานการณ์โรคไข้เลือดออกปีนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม – 23 พฤษภาคม 2552 มีผู้ป่วยทั่วประเทศ 11,094 ราย เสียชีวิต 12 ราย เมื่อเปรียบเทียบในกลุ่มประชากรทุก 1 แสนคน จะมีคนป่วยไข้เลือดออกเกือบ 18 คน เมื่อแยกพื้นที่การระบาดพบว่า ภาคกลางพบผู้ป่วยมากที่สุด 4,900 ราย เสียชีวิต 7 ราย รองลงมาคือภาคใต้ พบผู้ป่วย 3,211 ราย เสียชีวิต 3 ราย ภาคเหนือพบผู้ป่วย 1,688 ราย เสียชีวิต 2 ราย และภาคอีสานพบผู้ป่วย 1,295 ราย ไม่มีเสียชีวิต โดยในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้มีผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 1,543 ราย

นายมานิตกล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ยังไม่สามารถลดได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากการกำจัดยุงลายให้หมดไปเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น ยุงเจริญเติบโตได้ดี และขณะนี้อยู่ในฤดูฝน เป็นฤดูกาลระบาดของโรค วิธีการกำจัดยุงลายที่สะดวกและให้ผลดีที่สุด คือ การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ทั้งในโรงเรียน บ้านและในชุมชนทุก 7 วัน เพื่อตัดโอกาสลูกน้ำโตเป็นยุง ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานทุกฝ่าย ทั้งกระทรวงสาธารณสุข จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชนทุกครัวเรือน ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง พร้อมเพรียงกันทุกพื้นที่ โดยมอบนโยบายให้อสม. ทั่วประเทศเป็นผู้นำในการรณรงค์ให้ประชาชนในพื้นที่ ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทุก 7 วัน

ทางด้านนายแพทย์สมชัย นิจพานิช รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่พบกว่า ร้อยละ 85 ถูกยุงลายที่อยู่ในบ้านกัด หากคนในบ้านป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก และถูกยุงลายกัด ก็มีโอกาสทำให้คนอื่นๆ ป่วยได้เช่นกัน โดยหลังรับเชื้อประมาณ 5-8 วัน จะเกิดอาการป่วย สัญญาณเฉพาะของโรคนี้คือมีไข้สูงเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน และไข้สูงติดต่อกัน 2-7 วัน เช็ดตัวหรือกินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลดลง มักจะไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ในเด็กโตอาจบ่นปวดศีรษะ ปวดรอบกระบอกตา และมีคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หน้าแดง อาจพบจุดเลือดที่ผิวหนัง ขอให้นึกถึงโรคไข้เลือดออก ให้รีบพาไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น