กทม.คุมเข้มโรงเรียนในสังกัด 435 แห่ง ปลอดสารตะกั่วในน้ำดื่ม เรียกครู-ผู้ปกครอง ผู้ประกอบการประชุมชี้แจงก่อนเด็กเมืองกรุง มีปัญหาทางสมอง
วันนี้ (27 พ.ค.) ที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร นางมาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานประชุมชี้แจงนโยบายและแนวทางการดำเนินโครงการโรงเรียนกทม.น้ำดื่มปลอดสารตะกั่วแก่ผู้ปกครอง ครูโรงเรียนสังกัด กทม.เจ้าหน้าที่จาก 50 สำนักงานเขตและสำนักการศึกษา และสถานประกอบการซ่อม/จำหน่ายเครื่องทำน้ำเย็นในพื้นที่กรุงเทพฯ กว่า 1,700 คน เพื่อให้รับทราบสถานการณ์ ปัญหา ความเสี่ยงในการบริโภคน้ำดื่มจากเครื่องทำน้ำเย็น ตลอดจนทราบวิธีการปรับปรุงแก้ไข ป้องกันอันตรายจากการใช้งานเครื่องทำน้ำเย็นที่ไม่ได้มาตรฐาน และไม่ปลอดภัย พร้อมให้สัมภาษณ์ภายหลัง ว่า ในเรื่องดังกล่าว กทม.ตรวจสอบและเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยจะได้มีการเก็บตัวอย่างน้ำดื่มจากเครื่องทำน้ำเย็นของโรงเรียนทุกโรงในสังกัด กทม.มาตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพน้ำดื่ม ตรวจสอบการปนเปื้อนของสารตะกั่ว โดยระบุว่าจากการดำเนินการสำรวจและตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำดื่มที่ผ่านมา ยังไม่พบรายงานการปนเปื้อนของสารตะกั่วในโรงเรียน กทม.โดยยืนยันจะเร่งดำเนินการตรวจคุณภาพน้ำโดยตรวจให้ครบทั้ง 435 โรงเรียนในสังกัด และจะขยายผลโดยขอความร่วมมือไปยังโรงเรียนและสถาบันการศึกษาในสังกัดอื่นๆ ทั่วพื้นที่ กทม.ต่อไป
ทั้งนี้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 61 และฉบับที่ 135 กำหนดให้มีสารตะกั่วปนเปื้อนในน้ำดื่มไม่เกิน 0.05 มิลลิกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร และมาตรฐานของ US.EPA กำหนดให้มีการปนเปื้อนได้ไม่เกิน 0.015 มิลลิกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนสารตะกั่วในน้ำดื่มจากเครื่องทำน้ำเย็น เกิดจากการบัดกรีด้วยตะกั่ว ณ จุดหรือบริเวณที่มีโอกาสสัมผัสน้ำดื่ม ซึ่งตัวอย่างหรือขั้นตอนที่มีความเสี่ยง ได้แก่ บริเวณมุมขอบภายในของเครื่องทำเย็นด้วยตะกั่ว การเชื่อมถังน้ำดื่ม การขึ้นรูปเครื่องทำน้ำเย็นส่วนที่เก็บน้ำ และการเชื่อมลูกลอยกับก้านส่วนที่สัมผัสกับน้ำดื่ม เป็นต้น
โดยหากร่างกายได้รับสารตะกั่วส่วนใหญ่จะไปสะสมที่กระดูก ส่วนที่เหลือจะไปสะสมที่ตับไต กล้ามเนื้อและระบบส่วนประสาท ทำให้เกิดอาการ เช่น ชาตามปลายมือ ปลายเท้า ระบบทางเดินอาหารและระบบเลือดทำให้โลหิตจาง สำหรับในเด็กซึ่งมีการดูดซึมดีกว่าผู้ใหญ่ประมาณ 40% จะเข้าไปทำลายสมอง ส่งผลต่อการพัฒนาการของเด็ก ทำให้สติปัญญาด้อย เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี มีโอกาสเกิดความผิดปกติในการพัฒนาการทางด้านภาษาและมีลักษณะบกพร่องในการใช้สายตาและมือ
ในส่วนของมาตรการด้านกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค กำหนดให้เครื่องทำน้ำเย็นเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ต้องติดตั้งสายดิน ป้องกันอันตรายจากไฟฟ้ารั่ว ติดตั้งในที่แห้ง และตรวจสอบความปลอดภัยโดยผู้ชำนาญทุก 6 เดือน รวมทั้งมีประกาศห้ามขายสินค้าเครื่องทำน้ำเย็นที่ใช้ตะกั่วเป็นตัวประสานรอยเชื่อมต่อของตะเข็บถังน้ำ หรือท่อส่งน้ำ หากผู้ประกอบการรายใดขายสินค้าที่เป็นอันตรายดังกล่าวมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 หมื่นหรือทั้งจำและปรับ ส่วนผู้ผลิตเพื่อขาย หรือเป็นผู้นำส่ง นำเข้ามาในประเทศเพื่อขาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำและปรับ
นอกจากมาตรการดูแลความปลอดภัยตู้น้ำเย็นแล้ว ที่ผ่านมา สำนักอนามัย กทม.ได้ดูแลเรื่องตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ โดยทุกสำนักงานเขตจะมีการสุ่มตรวจทุก 3 เดือน หากไม่พบสารปนเปื้อนจะติดสติกเกอร์รับรองมีผล 1 ปี จากการตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญกว่า 2,000 เครื่อง พบสารปนเปื้อนร้อยละ 2-3 ได้ประสานผู้ประกอบการเจ้าของแก้ไขล้างทำความสะอาดทุกเครื่อง จากนั้นทำการเก็บตัวอย่างไปตรวจซ้ำในห้องปฏิบัติการ เพื่อให้มั่นใจในความสะอาดปลอดภัย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่ให้บริการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญจะต้องไปขออนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ณ สำนักงานเขตพื้นที่ ซึ่งหากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ