วธ.-ศอ.บต.เปิดมหกรรมภาคใต้ให้เข้าชมภาพถ่ายในหลวง-พระราชินี และภาพเก่าสุดหายากในจดหมายเหตุ เมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 7 เสด็จฯ เมืองปัตตานี ในงานมหกรรมวัฒนธรรมปัตตานีย้อนยุค หวังใช้มิติทางวัฒนธรรมสร้างสันติสุข
วันนี้ (22 พ.ค.) ที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) นายธีระ สลักเพชร รมว.วัฒนธรรม พร้อมด้วยนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ปลัดวธ. นายธีรเทพ ศรียะพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายประสิทธิ์ โอสถานนท์ รอง ผอ.ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)ร่วมกันแถลงข่าวการจัดโครงการศาสนา ศิลปวัฒนธรรมสัญจร สู่ชายแดนใต้ ครั้งที่ 2 ภายใต้ชื่อ งานมหกรรมวัฒนธรรมปัตตานีย้อนยุค สู่สันติสุขแดนใต้
นายธีระ กล่าวว่า วธ.ร่วมกับจ.ปัตตานี ศอ.บต.และสมาคมนกเขาชวาเสียง จัดงานมหกรรมวัฒนธรรมปัตตานีย้อนยุค สู่สันติสุขแดนใต้ ระหว่างวันที่ 3-7 มิ.ย.ณ ลานศิลปวัฒนธรรม จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่ต้องการจะนำมิติทางศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม เสริมสร้างความสมานฉันท์และสามัคคีของคนในชาติ ทั้งนี้การจัดงานดังกล่าว วธ.จะนำกิจกรรมทางวัฒนธรรมของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เชื่อมความสมานฉันท์และกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของมิติทางวัฒนธรรม
รมว.วัฒนธรรม กล่าวต่อไปว่า ทางสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ได้นำผลงานภาพถ่ายของนายอนุชัย ศรีจรูญพู่ทอง จากโครงการภาพเล่าเรื่อง “พระเจ้าอยู่หัวในดวงใจ” ซึ่งเป็นภาพถ่ายพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ที่ติดบนฝาผนังของชาวบ้านใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปจัดนิทรรศการให้ประชาชนได้ชม ซึ่งเป็นการแสดงถึงความจงรักภักดีของพสกนิกรในพื้นที่ นอกจากนี้ วธ.ยังได้อัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินจ.ปัตตานี ซึ่งเก็บรวบรวมโดยหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และเป็นภาพที่หายากประชาชนไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน นำไปจัดแสดงให้ประชาชนในพื้นที่ได้เห็นพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ที่มีต่อพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย
นายประสิทธิ์ โอสถานนท์ รอง ผอ.ศอ.บต.กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดจากความไม่เข้าใจในความหลากหลายทางวัฒนธรรม ประกอบกับการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดบางยุคบางสมัยทำให้เกิดปัญหาขึ้นทำให้ฝ่ายตรงข้ามนำมาเป็นเงื่อนไขก่อเหตุสร้างความไม่สงบในพื้นที่ จึงมีความจำเป็นต้องใช้มิติทางวัฒนธรรมเข้ามาช่วยอย่างมาก และ ศอ.บต. เองก็ได้ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็น ศาสนา ภาษา หรือการดำเนินชีวิตของประชาชน ดูแลพี่น้องชาวในพื้นที่ทั้งเรื่องของการประกอบศาสนกิจ เรื่องภาษา โดยมีการจัดทำโครงการล่ามภาษาเพื่อให้ความสะดวกแก่ผู้สูงอายุในการติดต่อหน่วยงานราชการ เช่น ที่ว่าการอำเภอ สถานีตำรวจ โรงพยาบาล ซึ่งกิจกรรมส่วนใหญ่จะเน้นแก้ไขเงื่อนปมในการก่อเหตุการณ์ความไม่สงบให้เกิดขึ้นน้อยลง และให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ปฏิเสธความรุนแรงเป็นวิถีในการดำเนินชีวิต