xs
xsm
sm
md
lg

กรมเจรจาการค้าฯ แนะนักธุรกิจใต้รุกชิงเค้กตลาดอินเดีย กู้วิกฤตซับไพรม์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บุณิกา แจ่มใส
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – ไตรมาสแรกส่งออกไทยหดกว่า 20% กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์เร่งเดินสายจัดสัมมนา “กระตุ้นความรู้ ความเข้าใจตลาดอินเดีย และเตรียมความพร้อมสำรวจตลาดอินเดีย” ทั่วภูมิภาค โดยได้สัญจรมายัง จ.สงขลา เพื่อเสริมสร้างความพร้อมและความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการในการเจาะตลาดอินเดียภายใต้วิกฤติเศรษฐกิจโลก ชี้โอกาสของกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารทะเล ไม้ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ฟุ้งหลังเปิด FTA ไทย-อินเดียทะลายกำแพงภาษีสินค้ารวม 82 ทำให้ปี 51 ค้าขายเกินดุลเกือบ 800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เร่งจ่อเจรจาต่ออีกกว่า 5,000 รายการ


เมื่อเร็วๆ นี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้จัดสัมมนากระตุ้นความรู้ ความเข้าใจ ตลาดอินเดีย และเตรียมความพร้อมสำรวจตลาดอินเดีย ณ โรงแรมบีพีสมิหลาบีช อ.เมือง จ.สงขลา โดยมีนักธุรกิจและประชาชนทั่วไปให้ความสนใจร่วมฟัง

นายชนะ คณารัตนดิลก รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ผลจากการวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบันที่แต่ละประเทศประสบปัญหาทั่วโลก โดยเฉพาะการหดตัวของการส่งออกของตลาดหลักในประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ซึ่งในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้พบว่าประเทศไทยมียอดการส่งออกลดลงไม่ต่ำกว่า 20% ทำให้ไทยต้องหันมาให้ความสำคัญและมองหาตลาดใหม่ๆ เพื่อการขยายการส่งออก

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ กระทรวงพาณิชย์จึงต้องมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และจำเป็นต้องปรับบทบาทการผลักดันการส่งออกให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง โดยต้องเน้นการพึ่งพาตลาดส่งออกใหม่ๆ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ตลาดตะวันออกกลาง แอฟริกา ละตินอเมริกา ยุโรปตะวันออก จีน และเอเชียใต้ เพื่อทดแทนมูลค่าการส่งออกที่หดหายไป

นายชนะ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ทุกประเทศต่างให้ความหวังกับประเทศจีน เพราะมองว่าเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่ที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูง ถนนทุกสายจึงมุ่งไปสู่จีน ทำให้การแข่งขันในตลาดจีนเพิ่มความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ในขณะที่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่ในเอเชียที่ยิ่งใหญ่พอๆ กันทั้งจำนวนประชากรและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ คือ อินเดีย ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดใหม่ที่กระทรวงพาณิชย์วางยุทธศาสตร์ขยายการค้าการลงทุน เนื่องจากมีศักยภาพที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องด้วย GDP เติมโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8 ต่อปี และเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูงด้วยมีประชากรมากเป็นอับดับ 2 ของโลก และมีขนาดของเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเอเชีย ทว่า ปัจจุบันอินเดียเป็นตลาดส่งออกเพียงอันดับที่ 14 ของอาเซียนทำให้ยังมีช่องว่างสำหรับไทยในการขยายการส่งออกอยู่มาก

ทั้งนี้ หลังจากที่เปิดเสรีการค้ากับอินเดีย (FTA) ในเบื้องต้น 82 รายการ โดยมีสินค้าสำคัญได้แก่ เงาะ ทุเรียนลำไย เครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์สี ตู้เย็น พัดลม อาหารกระป๋องแปรรูป เป็นต้น ไทยกลับเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา (2549-2551) การค้าไทย-อินเดียมีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 4,725.56 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกของไทยไปอินเดียเฉลี่ย 2,624.81 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยนำเข้าจากอินเดียเฉลี่ย 2,100.75 ล้านเหรียญสหรัฐ

ปี 2551 การค้ารวมไทย-อินเดีย มูลค่า 6,019.69 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 27.3% จากปี 2550 โดยส่งออก 3,401.43 ล้านเหรียญสหรัฐ (+27.73%) และนำเข้า 2,618.25 ล้านเหรียญสหรัฐ (+26.72%) ซึ่งไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 783.18 ล้านเหรียญสหรัฐ

รองอธิบดีฯ กล่าวต่ออีกว่า กรมเจรจาฯ เดินหน้าสานต่อโครงการการสัมมนาเพื่อต่อยอดจากปีที่ผ่านมา โดยปีที่แล้วเป็นการปูพื้นภาพตลาดอินเดีย สำหรับ 2552 นี้จะเน้นสร้างความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการ โดยชี้ให้เห็นถึงโอกาส แนวทาง ในการขยายการค้าสู่อินเดีย และวิธีการใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีการค้าระหว่างไทย-อินเดีย และการส่งเสริมธุรกิจไทยที่มีศักยภาพไปลงทุนเน้นเจาะกลุ่มธุรกิจแต่ละภูมิภาค และมีศักยภาพและมีความพร้อมบุกตลาดอินเดีย

โดยเฉพาะใน จ.สงขลาที่ยังมีศักยภาพด้านโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรองรับกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการกระจายสินค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาได้ผลิตสินค้าส่งออกที่สำคัญ เช่น ไม้ยางพาราแปรรูป สัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้ สินค้าโอทอปที่มีชื่อเสียงทั้งผ้าทอเกาะยอ ดอกไม้ ใบยางพารา กรงนกเขาชวา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีบริการต่างๆ เช่น ท่องเที่ยว ลอจิสติกส์ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ สถาบันวิชาการ ที่ให้ความสนใจและต้องการทำธุรกิจกับอินเดียเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ ปลายปีมีโครงการต่อเนื่องคัดเลือกตัวแทนของภาคต่างๆ ที่เข้าร่วมสัมมนานำไปสำรวจตลาด และดูลู่ทางการทำธุรกิจในตลาดอินเดียอีกด้วย

นางบุณิกา แจ่มใส ผู้อำนวยการส่วนเอเชียใต้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า โอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะร่วมค้าขายกับประเทศอินเดียมีสูง เนื่องจากที่ผ่านมาไทยมองตลาดหลักในสหรัฐอเมริกาและยุโรปเป็นหลัก ขณะที่อินเดียนั้นมีความต้องการบริโภคสินค้าแทบทุกชนิดสูง ด้วยตลาดใหญ่มีประชากรที่มีกำลังซื้อมากกว่า 300 ล้านคน และประชากรอีกกว่า 50 ล้านคนอยู่ในฐานะร่ำรวยระดับมหาเศรษฐี สินค้าที่ต้องการจึงมีหลากหลาย ทั้งสินค้าคุณภาพดี ราคาแพง มีคุณภาพ และสินค้าที่มีคุณภาพปานกลาง ราคาต่ำ

อีกทั้งไทยยังมีส่วนแบ่งตลาดในอินเดียเพียง 1.1% เท่านั้น มีโอกาสที่จะขยายเพิ่มได้อีกมาก โดยเฉพาะในตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคที่เป็นตลาดใหญ่ที่สุด สินค้าที่มีความต้องการสูง ได้แก่ เสื้อผ้า รองเท้า อาหาร(Vegetarian) ผงซักฟอก น้ำมันประกอบอาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ยังไม่รวมถึงบริการที่มีศักยภาพ ได้แก่ การก่อสร้าง การท่องเที่ยว โรงแรม ภัตตาคาร สปา และบริการดูแลสุขภาพ โรงพยาบาล

ทั้งนี้ ปัญหาและอุปสรรคทางการค้ากับอินเดียมีหลายประการ ได้แก่ มีการเก็บภาษีนำเข้าในอัตราสูง แล้วยังมีการเก็บภาษีอื่นๆ ภายในประเทศ ระบบพิธีการศุลกากรมีความยุ่งยาก ซับซ้อน ล่าช้า สาธารณูปโภคพื้นฐานยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร ทำให้เกิดอุปสรรคในการขนถ่ายสินค้า มีพื้นที่ขนาดใหญ่ การขนส่งสินค้าจึงใช้เวลานานและมีค่าใช้จ่ายสูง มีการลอกเลียนแบบสินค้าเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากและรวดเร็ว ตลอดจนผู้ส่งออกขาดข้อมูลตลาดสำคัญ เช่น ช่องทางการจัดจำหน่าย กฎระเบียบการนำเข้าของอินเดีย การกระจายสินค้า เป็นต้น

แต่รัฐบาลก็ได้มีการเจรจา FTA กับประเทศอินเดียสำเร็จ ในประเด็นการเร่งลดภาษีสินค้าซึ่งมีการยกเลิกภาษีสินค้า EHS 82 รายการ เปิดเสรีการค้าสินค้าซึ่งหาข้อสรุปทางการตลาดสินค้าได้แล้ว กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า ส่วนการค้าบริการและการลงทุนนั้นอยู่ระหว่างการเจรจา ทั้งนี้ เพื่อเปิดประตูการค้าสู่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค และลดอุปสรรคทางการค้า เพิ่มความสะดวกในการค้ามากขึ้น และอีกกว่า 5,000 รายการนั้นกำลังอยู่ระหว่างเจรจา
กำลังโหลดความคิดเห็น