xs
xsm
sm
md
lg

พิษ “เพลงโปรด” พา “โสต” เสื่อม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมัยก่อนเพลงโปรดอาจเป็นสิ่งที่ต้องเงี่ยหูฟังจากรายการวิทยุ แต่ทุกวันนี้ใครๆ ก็สามารถฟังเพลงโปรดได้จากทุกที่ ทุกเวลา ด้วยอุปกรณ์บันทึกข้อมูลเล็กๆ จากไอพอด เอ็มพีสาม เครื่องเล่นซีดีพกพา ฯลฯ ที่แสนกะทัดรัด สามารถต่อเสียงเพลงที่ต้องการให้ตรงสู่รูหูทั้งสองข้างได้โดยตรงเที่ยวแล้วเที่ยวเล่า ผ่านหูฟังเล็กๆ ที่ซ่อนพลังเสียงกระหึ่มไว้ภายใน


อย่างไรก็ตาม สื่อส่งผ่านความสุขผ่านเสียงเพลงเหล่านี้อาจก่อภัยถาวรต่อโสตประสาทฝากไว้เป็นของแถมหลังความสุขผ่านพ้นไป หากระดับการดังและชั่วโมงการฟังล้นเกินขีดที่หูทั้งสองข้างของคนเราจะทนทานไหว

ศ.พญ.สุจิตรา ประสานสุข แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการได้ยิน การพูด การทรงตัว ให้ข้อมูลว่า เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ได้ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษสุ่มตรวจการได้ยินของนักเรียนวัยรุ่นในกรุงเทพฯ ประมาณ 400 ราย พบว่า ร้อยละ 25 มีความผิดปกติในการรับฟังเสียง ซึ่งอาการดังกล่าวเกิดจากการฟังเสียงที่ดังมากไปและนานเกินไป โดยเฉพาะการฟังเพลงจากหูฟังของเครื่องเล่นเอ็มพีสาม หรือ ไอพอด นอกจากนี้ยังเกิดจากการใช้เครื่องโทรศัพท์มือถือด้วย

“การใช้หูฟังประเภทนี้สมองจะได้รับรังสีของคลื่นวิทยุด้วย เด็กหลายคนใส่หูฟังทั้งวัน หรือบางคนอาจใส่ฟังจนหลับไปเลย นอกจากนี้ยังเคยทดลองว่า หากใช้หูฟังในสถานที่ที่มีเสียงรบกวนดังมากๆ เช่น ในรถไฟฟ้า ศูนย์การค้า ต้องเปิดหูฟังให้เสียงดังจนเกือบสุดจึงจะได้ยินชัดเป็นระดับถึง 105 เดซิเบล ทั้งที่หูคนปกติรับได้ประมาณ 80 เดซิเบล เสียงระดับ 105 เดซิเบลจะทำลายประสาทการรับเสียง หรืออาจกระทบแก้วหูได้” หมอสุจิตราให้รายละเอียด

ในส่วนของอาการเริ่มต้นของผู้ที่ประสาทหูผิดปกตินั้น หมอสุจิตราบอกว่า จะมีการแสดงผ่านหลายอาการด้วยกัน แต่ที่พบมากคือ การได้ยินเสียงวิ้งๆ ในหู ทั้งที่ไม่ได้เปิดเพลงหรือใส่หูฟัง เพราะปลายประสาทเกิดการกระทบกระเทือนจากเสียงที่มากระตุ้น และอาการที่ส่อถึงความผิดปกติอีกลักษณะหนึ่งคือ มีการทรงตัวที่ผิดปกติ เช่น ตื่นนอนมาแล้วยืนตรงไม่ได้ มึนงง หากมีอาการเหล่านี้ประมาณ 2-3 วันแล้วยังไม่ดีขึ้น นั่นแสดงให้เห็นว่าอาจได้รับ “พิษจากเพลงโปรด” เข้าให้แล้ว จำเป็นต้องรีบพบแพทย์

“วัยรุ่นสมัยนี้มักจะพูดจาเสียงดังมาก เพราะพวกเขาเคยชินกับการได้ยินอะไรเสียงดังๆ ตลอดเวลา” หมอสุจิตราตั้งข้อสังเกต ทั้งยังฝากคำแนะนำทิ้งท้ายด้วยว่า “ การห้ามไม่ให้วัยรุ่นใส่หูฟังเพลง หรือหูฟังโทรศัพท์มือถือเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ ทางออกที่เหมาะสมคือการแนะนำให้ฟังอย่างพอดี คือ ไม่ฟังเสียงดังมากเกินไป ไม่ฟังนานเกินไป และฟังในระดับที่เหมาะสม ปรับความดังอยู่ที่ระดับกลาง และระยะเวลาในการฟังไม่ควรต่อเนื่องเกิน 2 ชั่วโมง”
กำลังโหลดความคิดเห็น