สธ.เผยหญิงชาวเยอรมันเฝ้าระวังหวัดใหญ่พันธุ์ใหม่ เสียชีวิตที่ รพ.สมุทรสาคร เจ็บคอ ไม่มีไข้ แต่เสียชีวิตเร็ว คาดรู้ผลแล็ปภายใน 24 ชั่วโมง แพทย์ชี้ต้องชันสูตรละเอียดอาจตายเพราะโรคประจำตัว
นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีนักท่องเที่ยวหญิงชาวเยอรมัน อายุ 65 ปี ซึ่งอยู่ในข่ายเฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่พันธุ์ใหม่ ชนิด เอ เอช 1 เอ็น 1 หรือ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่เสียชีวิตเมื่อคืนวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา ว่า ได้รับรายงานว่า นักท่องเที่ยวหญิงรายดังกล่าว เดินทางมาจากประเทศเยอรมัน พร้อมกับสามี และลูก มาถึงไทยเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา และได้เดินทางไปเที่ยวที่หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และเริ่มมีอาการป่วย เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม แต่มาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเซ็นต์เปาโล หัวหิน เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม โดยมีอาการเจ็บคอ รับประทานอาหารได้น้อยลง แต่ไม่มีอาการไข้ หรือไอ แพทย์ตรวจพบมีการติดเชื้อที่ปอด เริ่มมีอาการเขียวที่ปลายมือปลายเท้า จึงใส่เครื่องช่วยหายใจ และส่งมารักษาต่อที่ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กทม. ระหว่างเดินทาง ผู้ป่วยความดันโลหิตต่ำลงเรื่อยๆ และหยุดหายใจ จึงต้องส่งตัวเข้ารักษาด่วนที่ โรงพยาบาลมหาชัย สมุทรสาคร และผู้ป่วยเสียชีวิตลงในเวลา 21.00 น. ของวันที่ 18 พฤษภาคม เบื้องต้นได้ส่งตัวอย่างเชื้อส่งตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ สมุทรสงครามแล้ว
“ผู้ป่วยรายนี้ ถือเป็นผู้ป่วยรายแรกในข่ายเฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 รายแรก ที่เสียชีวิต ซึ่งศพได้ถึง สถาบันนิติเวช สำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว จะต้องชันสูตรศพด้วยว่าผู้ป่วยมีโรคประจำตัวด้วยหรือไม่ เพราะผู้ป่วยไม่มีไข้แต่เสียชีวิตอย่างรวดเร็ว ซึ่งสำนักระบาดได้ประสานถึงวิธีการผ่าพิสูจน์ โดยจะใช้มาตรการเดียวกับไข้หวัดนก เพราะถือเป็นโรคระบาดเช่นกัน ส่วนผลการตรวจเชื้อจะทราบภายใน 24 ชั่วโมง ทั้งนี้เนื่องจากผู้ป่วยมีญาติติดตามมาด้วย สธ.จะเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องอีก 7 วัน ขณะนี้ยังไม่มีอาการป่วยแต่อย่างใด”นพ.ไพจิตร์กล่าว
นพ.ไพจิตร์ กล่าวด้วยว่า สำนักระบาดวิทยา ได้ติดตามประวัติการเดินทางของผู้ป่วยและญาติ อย่างละเอียดเพื่อสอบสวนโรคต่อไป เบื้องต้นซักประวัติการเดินทาง ทราบว่า ผู้ป่วยได้บินตรงมาจากประเทศเยอรมัน ไม่ได้แวะพักในพื้นที่เสี่ยงระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่2009 รวมทั้งประเทศเยอรมันไม่ได้เป็นพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคสูง โอกาสที่จะเป็นไข้หวัดใหญ่ 2009 จึงมีต่ำ แต่อย่างใด เพื่อความไม่ประมาทก็ต้องตรวจสอบอย่างละเอียดไม่ว่าเดินทางมาจากที่ใด
ขณะที่ วันนี้ (19 พ.ค.) ที่โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ นายมานิต นพอมรบดี รมช.สาธารณสุข นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ /โรงพยาบาลทั่วไป ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมโรคติดต่อ เพื่อติดตามรับฟังความก้าวหน้า และมอบนโยบายการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอ็ช1 เอ็น1 และโรคชิคุนกุนยา
นายมานิต กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกรายงานเมื่อเช้าวันนี้ (19 พ.ค.) ตามเวลาในประเทศไทยว่า มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ 40 ประเทศ รวมผู้ป่วยทั้งสิ้น 8,829 ราย เสียชีวิต 74 ราย (เม็กซิโก 68 ราย สหรัฐอเมริกา 4 ราย แคนาดา 1 ราย และคอสตาริกา 1 ราย) ประเทศที่รายงานผู้ป่วยรายแรกในวันนี้ ได้แก่ ประเทศชิลี ส่วนประเทศไทยคงมีผู้ป่วยยืนยัน 2 รายเท่าเดิม และวันนี้มีผู้ป่วยในข่ายเฝ้าระวัง 21 ราย
นายมานิตกล่าวต่อไปว่า แม้ว่าขณะนี้ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่พบ จะมีความรุนแรงน้อยกว่าช่วงแรกที่พบการระบาด โดยมีลักษณะการระบาดคล้ายกันกับไข้หวัดใหญ่ที่พบตามฤดูกาลเป็นประจำทุกปี ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ไม่ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล ส่วนผู้ป่วย 4 รายที่เสียชีวิตในอเมริกาและแคนาดานั้น พบว่ามีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคหัวใจ เป็นต้น แต่เชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้ประชาชนทั่วโลกยังไม่มีภูมิต้านทาน จึงมีโอกาสติดเชื้อได้ และการระบาดจะแพร่กระจายไปทั่วโลก ดังนั้น ทุกประเทศรวมถึงไทยด้วย ต้องเตรียมความพร้อมรับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ที่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่
กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินมาตรการป้องกันควบคุมเน้น 4 มาตรการ มาอย่างต่อเนื่อง คือ 1.การสกัดกั้น ป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่เข้ามาภายในประเทศ 2.การเฝ้าระวัง ค้นหาผู้ป่วยโดยเร็วและควบคุมโรค 3.การดูแลรักษาผู้ป่วย ให้การวินิจฉัยรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ และ 4.การเตรียมความพร้อมวงกว้าง การเผยแพร่ให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ สามารถป้องกันตนเองได้ ไม่ตื่นตระหนก
การเพิ่มความพร้อมรับการระบาด จะเน้นการจัดทำแผนปฏิบัติการเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วน การพัฒนาขีดความสามารถหลักของประเทศตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ ค.ศ. 2005 ทั้งด้านการเฝ้าระวังสอบสวนโรคและด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ ในการจัดการโรคติดต่อที่เป็นปัญหาระดับโลก รวมทั้งการสื่อสารให้ประชาชนสามารถป้องกันตนเอง ครอบครัวและชุมชนได้โดยไม่ตื่นตระหนก การสำรองยาต้านไวรัส วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ชุดป้องกันร่างกายจากการติดเชื้อ ที่สำคัญจะเน้นการส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพอนามัยและพฤติกรรมป้องกันโรค และการใช้มาตรการการควบคุมการระบาด โดยลดการแพร่เชื้อจากผู้ป่วยไปสู่สมาชิกในครอบครัว หรือเพื่อนร่วมงาน รวมถึงโรงเรียน เป็นต้น