สธ.ใช้หลักปราบยุงลาย 4 ป.คือ ปิดฝาโอ่งให้สนิท เปลี่ยนน้ำในถังและแจกันทุก 7 วัน ปล่อยปลากินลูกน้ำในอ่างเลี้ยงบัว และปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้สะอาด เมื่อไม่มียุงลายก็ไม่มีไข้เลือดออก เผยตั้งแต่ ม.ค.-2 พ.ค.2552 พบมีผู้ป่วย 8,225 ราย เสียชีวิต 8
นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมคณะ เปิดงานโครงการ “ยุทธศาสตร์พิฆาตยุงลาย” ที่โรงเรียนเทคโนโลยีบริหารธุรกิจรักไทย อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ และมอบนโยบายให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดเร่งทำงานเชิงรุก ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ลงพื้นที่ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันควบคุมโรค โดยรณรงค์ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายให้มากที่สุด เน้นหนักที่ 3 แหล่งใหญ่ คือ โรงเรียน บ้าน และในชุมชน อย่างต่อเนื่องทุก 7 วัน
นายมานิต กล่าวว่า ขณะนี้ไข้เลือดออกเกิดได้ทุกฤดู แต่จะระบาดมากในหน้าฝน หลายปีที่ผ่านมาพบการเกิดโรคไข้เลือดออกในฤดูแล้งเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากทุกบ้านมีน้ำประปาใช้ตลอดทั้งปี อ่างอาบน้ำ อ่างล้างส้วม โอ่งน้ำกิน/น้ำใช้ จานรองขาตู้กับข้าว เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในทุกครอบครัว จึงทำให้เกิดโรคไข้เลือดออกได้ตลอดทั้งปี และเกิดได้ทั้งชุมชนเมืองและชนบท ดังนั้นประชาชนทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะในระยะยาวต้องให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ได้แก่ อบจ. อบต.เข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนกิจกรรมป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
นายมานิต กล่าวต่อไปว่า สธ.เฝ้าระวังการระบาดของโรคไข้เลือดออกอย่างใกล้ชิด ซึ่งจากรายงานจำนวนผู้ป่วยในปีนี้ ตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ค.2552 พบว่า มีผู้ป่วยจำนวน 8,225 ราย เสียชีวิต 8 ราย ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าปีที่แล้วเมื่อเทียบในช่วงเวลาเดียวกันซึ่งมีผู้ป่วย 11,856 ราย เสียชีวิต 13 ราย เมื่อแยกดูพื้นที่การแพร่ระบาด พบว่าภาคกลาง มีจำนวนผู้ป่วยมากที่สุด 3,927 ราย รองลงมา คือ ภาคใต้ พบผู้ป่วย 2,460 ราย ภาคเหนือ พบผู้ป่วย 1,072 ราย และภาคอีสาน พบผู้ป่วย 766 ราย
นายมานิต กล่าวอีกว่า ในการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก ยุทธศาสตร์หลักจะเน้นที่การกำจัดแหล่งเพาะพันธ์ลูกน้ำยุงลาย ซึ่งยุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยใช้หลักปราบยุงลาย 4 ป.คือ ปิดฝาโอ่งให้สนิท เปลี่ยนน้ำในถังและแจกันทุก 7 วัน ปล่อยปลากินลูกน้ำในอ่างเลี้ยงบัว และปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้สะอาด เพียงเท่านี้ก็จะไม่มียุงลายเกิดขึ้น เมื่อไม่มียุงลาย ก็จะไม่มีไข้เลือดออก ในทางกลับกันหากไม่มีการควบคุมจำนวนลูกน้ำยุงลาย ปล่อยให้สภาวะแวดล้อมมีน้ำขังจะทำให้จำนวนยุงเพิ่มมากขึ้น และเกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกได้