องค์การอนามัยโลกเตรียมประกาศไทยเป็นประเทศที่มีผู้ป่วยหวัดใหญ่ 2009 เป็นประเทศที่ 31 ไทยยืนยันพบผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 รายแรกแล้ว แถมโผล่เพิ่มรวมเป็น 2 ราย ปิดเงียบไม่บอกอายุ เพศ อ้างต้องเคารพสิทธิผู้ป่วย หากบอกข้อมูลเกรงตื่นตระหนกไม่กล้ามาหาหมอ
พญ.มัวรีน เบอร์มิงแฮม ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก ได้รับข้อมูลผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 จาก สธ.ไทย จำนวน 2 ราย อย่างทันท่วงที ตามหลักเกณฑ์อนามัยโลก โดยได้รับแจ้งข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกสำนักงานใหญ่ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 11 พ.ค.ว่าได้จัดให้ไทยเป็นที่มีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 เป็นประเทศที่ 31 โดยผู้ป่วยรับได้เชื้อจากการเดินทาง
“การพบการติดเชื้อจากการเดินทางมายังประเทศไทย ถือเป็นปัจจัยหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้องค์การอนามัยโลกจะนำไปพิจารณายกระดับความรุนแรงสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จากระดับ 5 เป็นระดับ 6 เพราะประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่พบผู้ป่วย” พญ.มัวรีน กล่าว
สำหรับบรรยากาศในการแถลงข่าว มีนักข่าวทั้งไทยและต่างประเทศ พยายามซักถามประเด็นข้อสงสัยและรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ทั้ง 2 ราย เช่น เป็นเพศใด และมีอายุเท่าไหร่ รวมถึงเดินทางกลับมาจากสายการบินใด ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เนื่องจากก่อนหน้านี้ มีการรายงานว่า มีผู้ป่วยเพียงรายเดียวเท่านั้นที่ สธ.ส่งเชื้อตรวจยืนยันศูนย์ป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) โดยไม่มีข้อมูลรายงานว่ามีผู้ป่วยต้องสงสัย รายที่ 2 แต่อย่างใด จึงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจมีการปิดบังข้อมูลหรือไม่ เพราะไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้ โดยมีการหยิบยกคำประกาศสิทธิผู้ป่วย โดยในข้อที่ 7 ระบุว่า ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับการปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับตนเองได้ อย่างไรก็ตาม ได้มีการถามย้ำหลายครั้งจนพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ซึ่งเป็นประธานในการแถลงข่าวบอกให้ยุติการแถลงข่าวและแยกย้ายกันเดินทางกลับไป
จากนั้นผู้สื่อข่าวได้ติดตามไปสัมภาษณ์ นายวิทยา ก่อนเดินทางออกจากกระทรวงสาธารณสุขว่า เหตุใดก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุขถึงให้ข้อมูลว่ามีผู้ต้องสงสัยติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เพียง 1 ราย แต่กลับพบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ดังกล่าวถึง 2 ราย นายวิทยา ตอบว่า เข้าใจว่า มีการตั้งข้อสงสัยผลตรวจของผู้ป่วยทั้ง 2 ราย ไล่เลี่ยกัน โดยทราบผลไม่เป็นทางการก่อนหน้านี้ประมาณ 4-5 วันแล้ว โดยได้ส่งเชื้อไปตรวจยืนยันที่ประเทศสหรัฐอเมริกา 1 ราย แต่อีกรายไม่ต้องส่งเชื้อไปตรวจที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีเชื้อต้นแบบแล้วสามารถตรวจยืนยันภายในประเทศได้
“อาจจะเป็นความบกพร่องของผมเองที่พูดจำนวนผู้ต้องสงสัยไม่ครบ แต่ยืนยันว่า กระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้ปกปิดข้อมูล สธ.พยายามเปิดเผยข้อมูลอย่างถึงที่สุด แต่อาจจะไม่ถึงใจ เพราะผมไม่สามารถให้ข้อมูล ในการที่จะเล่นเกมไล่ล่าหาความจริงในเรื่องคนเจ็บป่วย ถ้าเป็นผมหรือใครถูกเปิดเผยชื่อเชื่อว่าก็คงไม่สบายใจ และวันนี้ สังคมไทยยังไม่ระมัดระวังพอว่าการเจ็บป่วยเป็นเรื่องธรรมดา ผมหลีกเลี่ยงมาตลอดว่าทุกคนที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังไม่ได้จับผู้ร้าย เรากำลังช่วยรักษาคนแล้วก็ไม่มีเหตุผลที่สธ.จะปกปิดข้อมูลเพื่อให้ใครเจ็บป่วยมากขึ้น” นายวิทยา กล่าว
ต่อข้อถามว่า ผลการตรวจเชื้อจากห้องปฏิบัติการของผู้เข้าข่ายเฝ้าระวังทั้งหมดก่อนหน้านี้ ที่ระบุว่า เป็นไข้หวัดธรรมดา กระทรวงยังยืนยันตามนี้ใช่หรือไม่ นายวิทยา กล่าวว่า รายอื่นๆ ที่กระทรวงอนุญาตให้กลับบ้านเป็นไข้หวัดธรรมดาหมด มีเพียง 2 รายนี้เท่านั้นที่ต้องสงสัย
เมื่อถามอีกว่า มีโอกาสหรือไม่ที่ประเทศไทยจะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นหรือไม่ นายวิทยา กล่าวว่า ไม่มีใครระวังได้ทั้งหมด แต่ สธ.จะใช้มาตรการถึงที่สุด เพราะเป็นเรื่องยากกว่าไข้หวัดนก เพราะถ้าเป็นไข้หวัดนกสามารถจับฆ่าหมดทั้งเล้าได้ แต่ไข้หวัดคนไม่สามารถทำเช่นนั้นได้
ต่อข้อถามที่ว่า การที่กระทรวงสาธารณสุขปกปิดเที่ยวบินที่ผู้ป่วยเดินทางกลับมาจะส่งผลต่อการระมัดระวังตัว หรือการป้องกันโรคของผู้โดยสารคนอื่นที่เดินทางกลับมาในเที่ยวบินเดียวกันหรือไม่ นายวิทยา กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของกรมควบคุมโรคที่จะต้องดูแลในเรื่องนี้ และได้สั่งการเป็นเบื้องต้นว่าต้องเช็คผู้โดยสารที่มีที่นั่งอยู่ด้านหน้าผู้ป่วยรัศมี 2 ที่นั่ง และด้านหลังรัศมี 2 ที่นั่ง ในสายการบินที่มีผู้ป่วยต้องสงสัยแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ยังยืนยันที่จะไม่บอกเพศและอายุของผู้ป่วยใช่หรือไม่ นายวิทยา ตอบว่า ถ้าบอกเพศและอายุ สื่อก็สืบได้ว่าเป็นใคร อย่าไปเล่นเกมนักสืบเลย อาชีพผมเป็นทนาย สืบมามากมาย สงสารผู้ป่วยครอบครัวเขาไม่พร้อมที่จะเปิดเผย
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการรายงานไปยังองค์การอนามัยโลก กระทรวงสาธารณสุขจะต้องระบุถึงรายละเอียดของผู้ป่วยทั้งเพศและอายุ หากองค์การอนามัยแถลงบ่งบอกเพศและอายุของผู้ป่วยทั้ง 2 รายในประเทศไทย กระทรวงจะดำเนินการอย่างไร นายวิทยา กล่าวว่า ก็ไม่ใช่ผมที่เป็นคนบอกข้อมูลผู้ป่วย เพราะผมต้องรับผิดชอบต่อครอบครัวผู้ป่วย ถ้าผมพูดไปไม่มีใครจะรับผิดชอบได้ ผมต้องรับผิดชอบว่าเขาได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย รัฐบาลไทยเคารพสิทธิตามกฎหมายของผู้ป่วย ไม่ไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
ด้านนพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยทั้ง 2 ราย ได้เดินทางกลับจากเม็กซิโกถึงประเทศไทยคนละเที่ยวบินกัน แต่เมื่อผ่านด่านตรวจวัดอุณหภูมิ เทอร์โมสแกน ไม่มีอุณหภูมิสูงเกิน 36 องศาเซลเซียส ซึ่งเมื่อมีอาการไข้ภายหลังได้เดินทางมาพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา ซึ่งแพทย์ได้ให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามีเวียร์รักษาจนครบชุด คือ ทานยาติดต่อ 5 วัน และได้สุ่มตรวจเชื้อเป็นระยะๆ จนไม่พบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอ เอช1เอ็น1 และได้เฝ้าระวังที่บ้านอีก 2 วัน รวมเฝ้าระวังทั้งสิ้น 7 วัน รวมทั้งผู้ใกล้ชิดอีก 3 ราย แพทย์ได้ให้การรักษาเช่นเดียวกัน จนปัจจุบันทั้งหมดหายดีแล้ว ไม่มีไข้ อย่างไรก็ตาม สธ.ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ต้องสงสัยในวันที่ 9 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ทำการรักษาและหายดีแล้ว
นพ.คำนวณ กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ป่วยรายที่ 2 มีอาการไข้หลังกลับจากเม็กซิโกประมาณ 3 วัน จึงได้มาพบแพทย์ด้วยตนเองเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ที่ผ่านมา แพทย์ได้ให้ยาต้านไวรัสและส่งเชื้อตรวจสอบกับห้องปฏิบัติการภายในประเทศไทย จนกระทั่งได้รับผลการตรวจเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ของผู้ป่วยไทยรายแรกจากสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ที่ผ่านมา จึงสามารถยืนยันและขึ้นทะเบียนผู้ป่วยรายที่ 2 ได้ในวันนี้ (12 พ.ค.) ซึ่งทั้ง 2 ราย ผลตรวจยืนยันจากห้องปฏิบัติการออกภายหลังจากที่แพทย์ให้ให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามีเวียร์ไปแล้ว
“การให้ยาต้านไวรัส จะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ หากมีประวัติเข้าข่ายต้องสงสัย และมีอาการไข้รวมด้วย แพทย์ก็จะให้ยาต้านไวรัสทันที โดยไม่ต้องรอผลว่าเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่หรือไม่ ซึ่งอาจจะมีข่าวดีจากการระบาดในหลายประเทศ ขณะนี้เริ่มพบว่า ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ มีอาการน้อยมาก อาจจะน้อยกว่าไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดตามฤดูกาลด้วยซ้ำ เช่น ผู้ป่วยของไทยทั้ง 2 ราย พบว่ามีอาการน้อยมาก คือ มีเพียงไข้ต่ำๆ มีน้ำมูก ไอ เจ็บคอ แต่ไม่มีอาการรุนแรง เช่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อาเจียน ท้องเสีย จึงไม่อยากสร้างความแตกตื่นให้กับประชาชน และขอให้มั่นใจว่า แพทย์สามารถควบคุมดูแลได้” นพ.คำนวณ กล่าว
นพ.คำนวณ กล่าวด้วยว่า สำหรับการตรวจเชื้อยืนยันในห้องปฏิบัติการของผู้ป่วยรายอื่นๆ ต่อจากนี้ไป สธ.ไม่จำเป็นต้องส่งเชื้อไปตรวจสอบกับศูนย์ป้องกันควบคุมโรคสหรัฐอเมริกาอีก เนื่องจากห้องปฏิบัติการของประเทศไทยสามารถตรวจเชื้อได้ภายใน 24 ชั่วโมง แต่การส่งเชื้อของผู้ป่วยรายแรกของประเทศเป็นการดำเนินการตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก
“สาเหตุที่ สธ.พยายามปกป้องสิทธิของผู้ป่วย เพราะไม่อยากให้ประชาชนมีความรู้สึกว่าหากเข้ากระบวนการเฝ้าระวังโรคของ สธ.แล้ว จะได้รับความไม่เป็นส่วนตัวและถูกเปิดเผยข้อมูลจนทำให้ผู้ป่วยที่ทราบว่าตนเองอาจมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อแต่มีอาการน้อย ไม่ยอมมาพบแพทย์ และซื้อยามาทานเอง แม้ว่าจะไม่เกิดอันตรายกับผู้ป่วย แต่จะทำให้การแพร่เชื้อเกิดขึ้นในวงกว้างได้ ดังนั้น อยากให้ประชาชนที่คิดว่าตนเองมีความเสี่ยงไปพบแพทย์เพื่อรับยาต้านไวรัสเพราะสามารถยับยั้งการแพร่เชื้อได้เป็นอย่างดี” นพ.คำนวณ กล่าว
รศ.พิเศษ นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ กล่าวว่า การพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในประเทศไทยคงเป็นเรื่องที่ห้ามกันไม่ได้ แต่อยู่ที่ว่าจะดำเนินการอย่างไรที่จะลดปัญหาการระบาดที่จะเกิดขึ้นภายในประเทศ คาดว่าไม่ใช่แค่เพียง 2 รายแล้วจะไม่พบผู้ป่วยในประเทศไทยอีก ดังนั้น จึงต้องมีการเฝ้าระวังการระบาดของโรค ซึ่งไทยได้ดำเนินการมาตรการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่มานานกว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งก็นำมาตรการดังกล่าวกลับมาใช้
“แม้ว่าจะมีกรณีผู้ป่วยมาอีกในอนาคต เพราะสิ่งที่คาดการณ์ไว้ว่าจะมีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ สธ.จะดำเนินการมาตรการเพื่อลดผลกระทบที่ทำให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิต เศรษฐกิจ ลังคมให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้” รศ.พิเศษ นพ.ทวี กล่าว
รวมข่าวเกี่ยวเนื่องโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในประเทศไทย