xs
xsm
sm
md
lg

วธ.เผยสมเด็จพระเทพฯ ทรงห่วงอาชีพควาญช้างน้อยลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต
วธ.เผยสมเด็จพระเทพฯ ห่วงอาชีพควาญช้างน้อยลง ทรงดำริให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์ แสดงนิทรรศการช้างปูพื้นฟื้นความเข้าใจประวัติศาสตร์

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า นายธีระ สลักเพชร รมว.วัฒนธรรมได้มอบนโยบายในการปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยมอบให้กรมศิลปากรจัดทำแผนการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ให้มีความทันสมัย รวมทั้งให้พัฒนาการให้บริการผู้เข้าชม

โดยล่าสุด กรมศิลปากรได้เปิดตัวพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์ จ.สุรินทร์ เป็นครั้งแรก โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดพิพิธภัณฑ์ดังกล่าว ที่สำคัญทรงออกแนวคิดเกี่ยวกับการบริหารจัดการพิพิธภัณฑสภานแห่งชาติสุรินทร์ ด้วยพระองค์เอง โดยทรงออกแบบให้เป็นพิพิธภัณฑ์เมือง ออกแบบตามลักษณะสถาปัตยกรรมเขมร โดยประยุกต์การออกแบบในแนวร่วมสมัย นำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์กว่า 2,000 ปี

นายวีระกล่าวต่อว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงมีรับสั่งว่า ทรงเป็นห่วงเรื่องการสืบทอดอาชีพควาญช้างในประเทศไทย โดยเฉพาะที่ จ.สุรินทร์ ประชาชนได้ยึดถือเป็นอาชีพตั้งแต่ดั้งเดิม ซึ่งขณะนี้พบว่าผู้ที่เป็นควาญช้างลดน้อยลง ดังนั้นจึงทรงมีพระดำริให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์ได้นำวิถีชีวิตควาญช้างมาแสดงให้ประชาชนได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของอาชีพดังกล่าวด้วย

และให้มีการอนุรักษ์อาชีพนี้ไว้ใน จ.สุรินทร์ อย่างไรก็ตาม การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ ประกอบด้วย การจัดแสดงนิทรรศการถาวรภายใน นำเสนอเรื่องราวของจังหวัดสุรินทร์ตั้งแต่อดีตเมื่อประมาณ 2,000 ปี เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ประกอบด้วย 5 หัวข้อเรื่อง ได้แก่ 1.เรื่องธรรมชาติวิทยา จัดแสดงเรื่องกายภาพของจังหวัดสุรินทร์ 2.เรื่องข้าว เนื่องจาก จ.สุรินทร์ เป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพดีแห่งหนึ่งของประเทศ

“2.เรื่องประวัติศาสตร์โบราณคดี จัดแสดงพัฒนาการของผู้คน ในจ.สุรินทร์ ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ประมาณ 2,000-1,500 ปีมาแล้ว สมัยวัฒนธรรมทวารวดี สมัยวัฒนธรรมขอม จนถึงสมัยวัฒนธรรมล้านช้าง-อยุธยา 3.เรื่องประวัติศาสตร์เมือง จัดแสดงเรื่องราวประวัติศาสตร์ของ จ.สุรินทร์ 4.เรื่องชาติพันธุ์วิทยา จัดแสดงวิถีชีวิตของชนพื้นเมือง 3 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มไทยเชื้อสายกูย หรือกวย กลุ่มชนที่มีความสามารถในการจับช้างและฝึกช้าง กลุ่มไทยเชื้อสายเขมร และกลุ่มไทยลาว ที่มีความสามารถทอผ้าไหมได้งดงาม และ 5.เรื่องมรดกดีเด่น ได้แก่ การทอผ้าไหม การทำเครื่องประดับเงิน ศิลปการแสดงพื้นบ้าน และวิถีชีวิตของชาวไทยกวยกับช้าง ซึ่งขณะนี้ผู้สนใจเข้าชมสามารถเข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย” ปลัด วธ.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น