xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิบัติการ(โจ๋) ค้นหาตัวเอง ที่ ม.มหิดล กาญจนบุรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กิจกรรมเรียนรู้การปลูกพื้ชไร้ดิน(ไฮโดรโปนิก)
"การพัฒนาเผยแพร่องค์ความรู้สู่ชุมชน และส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่นักเรียน นักศึกษา" ถือเป็นพันธกิจหลักของ ม.มหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ด้วยเหตุนี้จึงนำไปสู่การจัดโครงการ ‘ค่ายพัฒนาทักษะทางวิชาการ ครั้งที่ 1’ โดยมุ่งเน้นไปที่นักเรียนตั้งแต่ระดับ ม.ต้น – ม.ปลาย ภายในเขตกาญจนบุรีและพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ ทักษะ พร้อมทั้งค้นหาตัวตนที่แท้จริงก่อนก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยในอนาคต
ช่วยกันหย่อนรากลงหลุมกับการปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิก
** เปิดรั้วม. สู่การค้นหาตัวตนที่แท้จริง
“ค่ายแห่งนี้เป็นเหมือนการเปิดโอกาสให้น้องๆ นักเรียนได้เข้ามาใช้ชีวิตภายในมหาวิทยาลัย ได้สัมผัส ปฏิบัติงานจริงในแต่ละสาขาวิชาอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะเป็นแนวในการกำหนดอนาคตตัวเอง” คำบอกเล่าจากปากของ ‘อ.เคนนี่’ - ดร.สิงหนาท น้อมเนียน หัวหน้าศูนย์ภาษาอังกฤษและภาษาศาสตร์ประยุกต์ สำนักสังคมศาสตร์และศิลปศาสตร์ ม.มหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี และในฐานะของประธานโครงการค่ายฯ

ทั้งยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ที่นี่เปิดสอน 2 หลักสูตร ได้แก่ วิทยาศาสตร์บัณฑิต และการจัดการบัณฑิต ซึ่งเยาวชนที่มาร่วมกิจกรรมค่ายฯ ก็จะได้เรียนรู้ในทุกสาขาวิชา รวมทั้งได้ใช้ชีวิตจริงในมหาวิทยาลัยเหมือนนักศึกษาทั่วไป ได้อยู่หอพัก ได้นั่งฟังบรรยาย เข้าห้องปฏิบัติการ ได้พบกับรุ่นพี่ที่คอยให้คำแนะนำในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะกับน้องๆ ชั้น ม.6 ที่ต้องมุ่งสู่การศึกษาต่อ แต่สำหรับน้องเล็ก ม.ต้น ถึงแม้ยังไม่ถึงเวลาแต่ก็เป็นการวัดความถนัดของตนเองไปในตัว เพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้องในอนาคต
‘อ.เคนนี่’ - ดร.สิงหนาท น้อมเนียน
สำหรับกิจกรรมของค่ายฯ นั้น อ.เคนนี่ ให้รายละเอียดว่า การจัดค่ายครั้งนี้มีระยะเวลากว่า 1 สัปดาห์ ดังนั้นน้องๆ ทั้ง 50 คน จึงสามารถเรียนรู้กิจกรรมต่างๆ ได้อย่างครอบคลุม เริ่มจากวันแรก คือกิจกรรมสันทนาการเพื่อละลายพฤติกรรม วันที่ 2 จะเป็นในส่วนของ ‘สาขาการจัดการ’ ที่ให้น้องๆ ได้เรียนรู้ถึงหลักการบริหารธุรกิจเบื้องต้น เป็นนักจัดการรุ่นใหม่ วันที่ 3 เรียนรู้เรื่อง ‘ชีววิทยาเชิงอนุรักษ์’ โดยพาน้องๆ เดินศึกษาธรรมชาติ ดูนก วันที่ 4 เข้าสู่เรื่อง ‘เทคโนโลยีการอาหาร’ โดยให้เรียนรู้ถึงการนำวิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำอาหาร เช่น การทำไอศกรีม ขนม เป็นต้น

ในวันที่ 5 จะเน้นไปในเรื่องของ ‘วิทยาศาสตร์เพื่อการเกษตร’ วิทยาการเกษตรใหม่ๆ โดยให้น้องๆ ได้เรียนรู้การเพาะเห็ด การปลูกพืชไร้ดิน(ไฮโดรโปนิค) การปรับปรุงพันธุ์พืช ตลอดจนกระบวนการผลิตพลังงานทดแทน วันที่ 6 จะเข้าสู่เรื่อง ‘ธรณีศาสตร์’ โดยศึกษาเกี่ยวกับพื้นผิวโลก ชั้นหิน ซึ่งน้องๆ จะได้เรียนรู้ถึงสภาพภูมิศาสตร์ของภูมิภาคที่ตนเองอาศัยอยู่ไปในตัว วันที่ 7 จะเน้นวิชาการในเรื่อง ‘ภาษาอังกฤษ - คณิตศาสตร์’ ส่วนวันสุดท้ายจะให้รุ่นพี่ที่เรียนจบจากที่นี่มาถ่ายทอดประสบการณ์ ทั้งเรื่องเรียน และการทำงาน เพื่อแนะแนวทางการตัดสินใจในอนาคตแก่น้องๆ ทุกคน

“เมื่อน้องๆ ได้เข้ามาเรียนรู้ ได้เห็นของจริงตรงนี้น่าจะช่วยให้เขาตัดสินใจการเรียนง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่วิทยาเขตกาญจนบุรีมีโควตานักเรียนส่วนภูมิภาค ซึ่งเขาจะสามารถเลือกศึกษาต่อในพื้นที่ได้ โดยไม่ต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพราะความรู้ซึ่งกระจายอยู่ตามภูมิภาคก็สามารถเติบโตได้ในทุกที่ ทั้งยังเชื่ออีกว่าเมื่อได้ศึกษาอยู่ที่นี่จะได้ทั้งความรู้ และการอยู่ร่วมกับสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ ตัดขาดจากอบายมุข” อ.เคนนี่ขยายความ

** สร้างความผูกพันในโลกความจริงด้วย ‘กีฬา’
นอกจากนี้ อ.เคนนี่ยังบอกอีกว่า ไม่เพียงแต่วิชาการเท่านั้นที่น้องๆ จะได้รับ ในส่วนของกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ก็แฝงให้รู้จักการใช้ชีวิตในสังคม การทำงานเป็นทีม เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และสร้างมิตรภาพร่วมกันโดยไม่มีอายุเป็นตัวขวางกั้น อีกทั้งช่วงเย็นของทุกวัน จะมีการเสริมทักษะกีฬา โดยบุคคลากรของมหาวิทยาลัยระดับทีมชาติไทย มาให้ความรู้ทั้งเรื่องปิงปอง โยคะ วอลเลย์บอล บาสเกตบอล ซึ่งกีฬานอกจากจะทำให้เกิดความผ่อนคลายแล้ว ยังเป็นตัวกลางชั้นดีในการสร้างเครือข่ายระหว่างเพื่อนด้วย

“การมาร่วมกิจกรรมค่ายฯ ในช่วงปิดเทอมถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นในเด็กยุคนี้ เพราะเมื่อปิดเทอมยาวเด็กก็จะกระจุกตัวอยู่ตามติวเตอร์ชื่อดังต่างๆ แน่นอนว่าได้วิชาการไปเต็มๆ แต่การมาค่ายเป็นการสื่อสาร 2 ทาง ได้สัมผัสของจริง และตอนนี้การนั่งอยู่แต่ในห้องเรียนคงไม่เพียงพอ เด็กๆ ควรมีทักษะทางสังคม และวิชาการเข้าด้วยกัน” อ.เคนนี่ให้ภาพ
สัมผัสห้องปฏิบัติ เครื่องมือ ผ่านกิจกรรมวิทยาศาสตร์
** เพิ่มประสบการณ์ เพื่ออนาคต จากใจ ‘เด็กค่าย’
‘ปูเป้’ – กันติชา กาญจนกุล อายุ 16 ปี ชั้น ม.5 จาก ร.ร.กาญจนานุเคราะห์ จ.กาญจนบุรี ยอมรับว่า ตนเป็นเด็กกิจกรรมที่ออกค่ายอยู่บ่อยครั้ง และค่ายครั้งนี้ถือว่าใช้เวลาในการทำกิจกรรมหลายวัน ซึ่งแต่ละวันก็จะได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ที่ไม่ซ้ำกันเลย ทั้งส่วนวิชาการและการใช้ชีวิต โดยสิ่งที่สนใจมากเป็นพิเศษคือเรื่องอุตสาหกรรมอาหารที่ทุกคนจะได้ทดลองทำอาหาร ไม่ว่าจะเป็นขนม ไอศกรีม ซึ่งสร้างความสนุกสนานเป็นอย่างมาก และทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่หาไม่ได้จากห้องเรียน หากมีเวลาว่างช่วงปิดเทอมก็อยากให้เพื่อนๆ ลองหาโอกาสออกค่ายเพื่อค้นหาประสบการณ์ใหม่ ที่อาจเป็นแนวทางในการกำหนดทิศทางการเรียนต่อในมหาวิทยาลัยต่อไปได้
‘ปูเป้’ – กันติชา กาญจนกุล
สอดรับกับ ‘บอส’ – ธนวัฒน์ พันธาภิรัตน์ อายุ 17 ปี ชั้น ม.6 จาก ร.ร.ทองผาภูมิวิทยา อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เห็นตรงกันว่า การได้เรียนรู้ในทุกสาขาวิชาเท่าที่ ม.มหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรีเปิดสอนนั้น ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะโอกาสอย่างนี้คงเกิดขึ้นไม่บ่อย ทั้งนี้ในปีหน้าตนก็ต้องเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา กิจกรรมตรงนี้จึงส่งผลต่อการเตรียมความพร้อมอย่างดีที่สุด และความรู้ที่ได้รับนี้ก็จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อการค้นหาตัวเองว่าอนาคตต้องการเรียนอะไร
 
“ค่ายนี้ไม่ได้สอนให้เด็กเป็นอัจฉริยะ แต่เป็นการเปิดประสบการณ์ด้านการเรียนทุกวิชา เพื่อแนวทางในอนาคต การได้สัมผัส ลงมือปฏิบัติจริงก็ทำให้เห็นถึงกระบวนการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นอาหาร วิทยาการเกษตรรูปแบบใหม่ๆ เพราะถึงแม้ว่าจะไม่ได้นำมาใช้จริงแต่ก็จะเป็นความรู้ที่ติดตัวเราไป”
บอสเสริม
‘บอส’ – ธนวัฒน์ พันธาภิรัตน์
เช่นเดียวกับ ‘ใบหม่อน’ – เบญจวรรณ สวัสดิกิจ อายุ 17 ปี จาก ร.ร.ราชโบริกานุเคราะห์ จ.ราชบุรี ที่บอกว่า ในช่วงปิดเทอมเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานของเด็กทุกคน บ้างก็เที่ยว เล่น บ้างก็เรียนติว แต่ตนเห็นว่าการหาโอกาสมาทำกิจกรรมค่ายเช่นนี้ถือเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง ที่ได้รู้จักเพื่อนต่างวัย ได้ลองชิมลางการใช้ชีวิตวัยเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย ถึงแม้จะเป็นเพียงแค่บางส่วนแต่ก็เป็นประสบการณ์ที่ยากจะลืม
‘ใบหม่อน’ – เบญจวรรณ สวัสดิกิจ
ส่วนน้องเล็กของค่ายอย่าง ‘แม็ก’ - วัชรพงษ์ แซ่เล้า อายุ 12 ปี ชั้น ม.2 จาก ร.ร.ท่ามะกาวิทยาคม อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี ให้เหตุผลที่มาค่ายว่า อยากรู้จักเพื่อนๆ พี่ๆ และทำกิจกรรมที่ไม่เคยทำ ซึ่งตนอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์จึงสนใจกิจกรรม ที่ได้ทำการทดลอง ได้จับเครื่องมือจริง และได้เรียนรู้ถึงวิธีการปลูกพืช ไร้ดิน หรือ การเดินป่าสำรวจธรรมชาติ ซึ่งเวลาช่วงปิดเทอมหากเพื่อนๆ มัวแต่นั่งแต่ในร้านเกมก็คงไม่ได้รับประสบการณ์เช่นนี้ ปิดเทอมคราวหน้าอยากให้เพื่อนๆ หาเวลาเข้าค่ายบ้างเพราะนอกจากสนุกแล้ว ยังได้ความรู้อีกด้วย
‘แม็ก’ - วัชรพงษ์ แซ่เล้า
** สร้างเครือข่ายผ่าน ‘ยุวชนมหิดล’
ถึงตรงนี้ ประธานโครงการค่ายฯ เผยแนวทางในอนาคตว่า ในการจัดค่ายปีต่อไปจะเปิดกว้างสำหรับเด็กพื้นที่มากขึ้น และเด็กกลุ่มแรกนี้จะถูกยกให้เป็น ‘ยุวชนมหิดล’ ในการช่วยเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ที่ได้รับมาจากค่าย ไปสู่เพื่อนๆ ในโรงเรียน เพื่อสร้างเครือข่ายต่อไปในอนาคต ทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์วิทยาเขตกาญจนบุรีให้เป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้น

“แต่ที่สุดแล้วก็ไม่ได้คาดหวังให้เด็กที่มาค่ายทุกคนต้องอยากเรียนที่นี่ เพราะความจริงแล้วเชื่อว่าไม่ว่าจะเรียนที่ไหน การศึกษาก็ยังเป็นการลงทุนที่ดีที่สุดในโลก แต่ละมหาวิทยาลัยมีสภาพสังคมภายในใกล้เคียงกัน อาจแตกต่างกันบ้างในแง่ของหลักสูตร แต่การมาเตรียมความพร้อมให้แก่น้องๆ ตรงนี้ ก็เพื่อให้เขาตอบตัวเองได้ว่า สิ่งที่คิดจะเรียน คือสิ่งที่ใช่แล้วหรือยัง? คิดว่าจบค่ายไปเขาหาคำตอบให้ตัวเองได้ ไม่มากก็น้อย” อ.เคนนี่ทิ้งท้าย
ขณะนั่งฟังบรรยาย บรรยากาศเหมือนเด็กมหา’ลัยของจริง
กำลังโหลดความคิดเห็น