xs
xsm
sm
md
lg

“เพื่อนช่วยเพื่อน” ถอดบทเรียนความสุขผู้สูงอายุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วันผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งกำหนดขึ้นทุกวันที่ 9 เมษายน ของทุกปี โดยในปีนี้รัฐบาลจัดงาน “สังคมกตัญญูด้วยเบี้ยยังชีพ” พร้อมเปิดตัวโครงการเบี้ยยังชีพและกองทุนผู้สูงอายุ มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้แจกเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุทั้ง 4 ภาค แต่นั่นเป็นเพียงการ “ให้” ซึ่งได้ภาพเชิงประจักษ์เพียงครั้งเดียว

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกโครงการหนึ่งซึ่งการให้นั้น “ยั่งยืน” และสามารถสานสัมพันธ์ของคนในชุมชนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น นั่นคือ "โครงการเพื่อนช่วยเพื่อน" โดยสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ได้รับการสนับสนุนทุนดำเนินการจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ (สสส.) “โครงการเพื่อนช่วยเพื่อน” เป็นการริเริ่มของสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ จากนั้นจะส่งไม้ต่อให้กับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล เป็นผู้ดำเนินการต่อ และในปี 2552 นี้ จะทำพิธีมอบเกียรติบัตรให้แก่ อบต. เทศบาล ทั้ง 4 ภาค ที่เข้ามารับช่วงโครงการต่อไป

นางธิดา ศรีไพพรรณ์ เลขาธิการสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า เราได้เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในชนบทห่างไกลให้เป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ เพราะในชุมชนมีผู้สูงอายุกลุ่มหนึ่งที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ รวมถึงขาดผู้ดูแลหรือถูกละเลยจากลูกๆ จึงจัดให้มี “โครงการเพื่อนช่วยเพื่อน” เพื่อดึงผู้สูงอายุในชุมชนเข้ามาฝึกอบรมเป็นอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ ที่ดูแลตัวเองไม่ได้ จะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถดำรงชีวิตอยู่ในชุมชนได้อย่างปกติ

นางธิดากล่าวว่า ชมรมผู้สูงอายุที่จะได้รับการคัดเลือกให้เป็นเครือข่ายสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ จะต้องมีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่เหมาะสม และต้องรวมกลุ่มกัน 30 คน แบ่งเป็นผู้สูงอายุอย่างน้อย 22 คน อีก 8 คน เป็นบุคคลในวัยอื่นได้ ส่วนผู้ที่จะคัดเลือกคือ สาธารณสุขจังหวัด ร่วมกับสาขาสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ ประจำจังหวัด จากนั้นสาธารณสุขจังหวัด จะเลือกโรงพยาบาลชุมชน หรือสถานีอนามัยที่เข้มแข็งช่วยฝึกอบรมอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ เป็นเวลา 2 วัน

เมื่อผ่านการอบรมแล้วอาสาสมัครจะไปดูแลผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ในชุมชนตัวเองหรือใกล้เคียง เป็นเวลา 2 ปี โดยอาสาสมัคร 1 คนดูแลผู้สูงอายุ 5 คน อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ปฏิบัติหมุนเวียนกันครั้งละ 5 คน และดูแลผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ไม่น้อยกว่า 20 คน ใน 1 ตำบล โดยอบต.สามารถเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่ต้น เพื่อดำเนินการต่อเนื่องเมื่อสิ้นสุดโครงการ 2 ปี

“สิ่งที่เราดำเนินการนั้น เราได้ฝึกอาสาสมัครให้เข้าใจเรียนรู้วิธีการดูแลผู้สูงอายุ ขณะที่ อบต.เป็นเพียงผู้มาต่อยอด และคนที่มีความสุขก็คือคนแก่ในชุมชนนั่นเอง ส่วนอาสาสมัครก็มีความสุขที่ได้ดูแลคนในชุมชน ดูแลพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ตัวเอง อาสาสมัครรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าในสายตาลูกหลานว่าแม้จะแก่แล้วยังทำประโยชน์ให้กับชุมชน สร้างความผูกพันกันในชุมชน แต่ก็น่าเสียดายที่ อบต.ไม่ค่อยสนใจ”


โอกาสวันสูงอายุแห่งชาติ วันที่ 9 เม.ย.นี้ นางธิดาเรียกร้องรัฐบาลผลักดันให้ อบต. หรือเทศบาล หันมาสนใจโครงการที่มีประโยชน์เพื่อความสุขของผู้สูงอายุในชุมชนของตนเองอย่างยั่งยืน








กำลังโหลดความคิดเห็น