xs
xsm
sm
md
lg

ฤๅสงกรานต์...จะเหลือแค่วันเปียกน้ำแห่งชาติ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...กองทรัพย์ ชาตินาเสียว

ทันทีที่มีข่าวจากกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ว่า จะผลักดันการรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักรู้ถึงคุณค่าของวันสงกรานต์เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอรับพิจารณาเป็นวาระแห่งชาติในวันที่ 17 มี.ค.แต่มติ ครม.ขอให้ยกเรื่องนี้ออกไปก่อน คำถามที่ตามมาจากประชาชนตาดำๆ ก็คือว่า ประเพณีอันสุขสดชื่นในหน้าร้อนของไทยวิกฤตถึงขั้นต้องประกาศเป็นวาระแห่งชาติเชียวหรือ


จากความเห็นของผู้สังเกตการณ์ทางวัฒนธรรมผ่านเว็บไซต์ www.m-culture.go.th แสดงความเป็นห่วงถึงการเปลี่ยนแปลงไปของประเพณีสงกรานต์ที่นับวันมีแนวโน้มจะรุนแรงและอนาจารมากขึ้น โดยเรียกร้องให้ วธ.ออกระเบียบการเล่นน้ำในเทศกาล และกำหนดเขตโซนนิ่งการสาดน้ำ เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นอันตรายต่อการเดินทาง เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ

สำหรับเรื่องนี้ “วีระ โรจน์พจนรัตน์” ปลัด วธ.ให้ความเห็นการจัดโซนเล่นน้ำสงกรานต์ว่า เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก อย่างไรก็ตามต้องขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการจัดพื้นที่เฉพาะเล่นน้ำสงกรานต์ โดยส่วนภูมิภาคขอให้จังหวัดเป็นผู้กำหนดว่าสามารถเล่นน้ำสงกรานต์ในพื้นที่ที่เหมาะสม เช่น ต้องเป็นถนนที่ปิดให้เล่นสาดน้ำสงกรานต์ ในวัด ชุมชนบางแห่งเท่านั้น

ทว่า ขณะที่ วธ.มีความพยายามจะช่วยจัดโซนนิ่ง กทม.กลับประกาศปล่อยฟรีเล่นน้ำสงกรานต์ได้ทุกพื้นที่ไม่มีคุมโซน โดย “ทยา ทีปสุวรรณ” รองผู้ว่าฯ กทม.ให้ความเห็นว่า สาเหตุที่สงกรานต์ปีนี้ไม่ได้คุมโซนนิ่งเช่นที่ผ่านมาเพราะต้องการให้ประชาชนเล่นน้ำอย่างสนุกสนาน และเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจในเขตเมืองโดยคาดว่าตลอด 4 วันในเขตกรุงเทพจะมีนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติไม่น้อยกว่า 1 แสนคน และเงินจะสะพัดทั่วกรุงไม่ต่ำกว่า 800 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี ก็ใช่ว่า กทม.ได้มีคำสั่งห้ามสาดน้ำแข็ง ปะแป้งหรือใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงอยู่เช่นเดิม ขณะเดียวกันก็ได้จัดทำแผ่นพับข้อควรทำและไม่ควรทำ (DO and DON’T) ในการเล่นน้ำสงกรานต์ ส่งไป 50 สำนักงานเขตเพื่อประกาศให้ประชาชนนำปฏิบัติแทน

จุฑาพร เริงรณอาษา รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แม้จะเห็นด้วยกับการปล่อยโซนนิ่ง เพราะเกี่ยวโยงกับการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ กระนั้นก็กล่าวย้อนถึงกิจกรรมวันสงกรานต์ว่า ต้องเร่งรณรงค์ให้คงอยู่ โดยอาศัยการท่องเที่ยวเข้าไปช่วย เนื่องจากกิจกรรมตลอด 3 วันเกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทยถือเป็นจุดขายได้ เช่น ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระพุทธรูปทั้งที่บ้านและที่วัด รดน้ำดำหัวอวยพรปีใหม่กันและกัน การปล่อยนกปล่อยปลา ประเพณีขนทรายเข้าวัด ซึ่งทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ในเทศกาลสงกรานต์

จากคำบอกเล่าของรองผู้ว่าการ ททท.แสดงให้เห็นว่า กิจกรรมในเทศกาลสงกรานต์ของไทยทุกอย่างล้วนแฝงไว้ด้วยคุณค่า-สาระทั้งต่อครอบครัว ชุมชน สังคม ศาสนา และสิ่งแวดล้อม

แต่สงกรานต์ยุคหลังๆ หลายอย่างเริ่ม “เพี้ยน” ที่ได้เห็นชินตาในปีที่ผ่านๆ มา คือ เมา, เกิดอุบัติเหตุ, ทะเลาะวิวาท, รื่นเริงโดยไร้ประโยชน์, เล่นสาดน้ำรุนแรง, แต่งตัวโป๊โชว์หวิว, ฉวยโอกาสล่วงละเมิดทำอนาจาร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ “ทำให้สงกรานต์เสื่อม และขาดประโยชน์”

กับเรื่องนี้ก็ใช่ว่าหน่วยงานต่างๆ จะเพิกเฉย หลายฝ่ายได้พยายามจะรณรงค์ฟื้นฟู อย่างกระทรวงวัฒนธรรมที่ปัจจุบันมี “ธีระ สลักเพชร” เป็นรัฐมนตรีว่าการ ก็ได้พยายามทำสิ่งแปลกใหม่ให้เกิดขึ้นมากกว่านำศิลปินมาใส่ชุดไทย และชวนวัยรุ่นเล่นสงกรานต์อย่างปลอดภัย โดยปีนี้เพิ่มเติมสาส์นจากนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นครั้งแรกกับสโลแกน “สงกรานต์ สมานสามัคคี สืบทอดประเพณี ทุกชีวีปลอดภัย” เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมสืบสานประเพณีอันเป็นที่เชิดหน้าชูตา ตลอดจนให้เห็นถึงสาระของวันสงกรานต์ ซึ่งต้องรอดูผลกันต่อไปว่ามาตรการของรัฐในปีนี้จะลดปัญหาข้างต้นได้ดีแค่ไหน

แม้วันนี้สถานการณ์ที่เห็นและเป็นไปมีทั้งแบบดั้งเดิมและผิดเพี้ยน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับตามยุคสมัย และผู้ใหญ่บางคนยังมองว่าไม่หนักหนาถึงขั้นวิกฤตจนต้องเป็นวาระแห่งชาติ แต่หากยังไม่มีการรณรงค์อย่างจริงจังและปล่อยละเลยทุกปี โดยไม่เคยนำบทเรียนไปแก้ไข ไม่แน่ว่าอีกสิบ-ยี่สิบปี เทศกาลมงคลของไทยอาจกลายเป็นเพียง “วันเปียกน้ำแห่งชาติ” เท่านั้น ถึงวันนั้น ต่อให้มีคู่มือ Do and Don’t สงกรานต์กี่เวอร์ชันก็คงช่วยไม่ได้แล้ว...
กำลังโหลดความคิดเห็น