xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก “สิทธิ์ อัศววรฤทธิ์” อันดับ 1 คณะแพทย์ 12 สถาบัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทันทีที่ กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ กสพท. ประกาศผลการคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์ 12 สถาบัน ชื่อของ “สิทธิ์ อัศววรฤทธิ์” ก็กลายเป็นที่กล่าวขานถึงทันที เพราะคะแนนสอบรวมที่เขาทำได้นั้นคือ 79.1% ซึ่งเป็นคะแนนอันดับหนึ่งของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอันดับ 1 ของกลุ่ม กสพท.
อิงค์ - สิทธิ์ อัศววรฤทธิ์  ว่าที่คุณหมอในอนาคต
“สิทธิ์” หรือ “อิงค์” เด็กหนุ่มวัย 18 ปี ซึ่งเพิ่งพ้นจากรั้วโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษามานั้น เป็นบุตรชายของ “นพ.วิชิต อัศววรฤทธิ์” แพทย์ผู้ชำนาญการพิเศษ สาขาอายุรกรรม โรงพยาบาลสิงห์บุรี และ “ท.ญ.สุจินดา อัศววรฤทธิ์” โดยมีพี่ชาย คือ “นายพฤทธิ์ อัศววรฤทธิ์” ปัจจุบัน เป็นนิสิตชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนน้องชาย คือ นายสรรค์ อัศววรฤทธิ์ ปัจจุบัน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทพศิรินทร์

“สิ่งสำคัญสำหรับผมก็คือความสุข มีความสุขอย่างมีสติ” อิงค์ เปิดปากเล่าเคล็ดการเรียนและอ่านหนังสือของเขา

“ผมบอกกับเพื่อนๆ และน้องๆ ตลอดว่า ความสุขกับการเรียนเป็นเรื่องสำคัญ น้องบางคนก็จะมีคำถามกลับมาว่า แล้วพี่มีความสุขกับการเรียนจริงๆ หรือ ซึ่งผมบอกได้ว่า หากไม่ใช่การถูกยัดเยียดให้เรียนเรามีความสุขได้แน่นอน ผมเริ่มต้นจากการตั้งคำถามกับตัวเองว่า เรามีความสุขกับการทำอะไร ผมมีความสุขกับการอ่านหนังสืออ่านเล่น อ่านนวนิยาย สนุกกับการเล่นมากกว่าเรียน ก็ต้องถามตัวเองต่อว่า อะไรเป็นข้อแตกต่างระหว่างหนังสือเรียนกับหนังสืออ่านเล่น หากเรารู้ข้อแตกต่างแล้ว ก็ต้องดูว่าเราสามารถเอามันมาช่วยในการเรียนได้อย่างไร หากเราอ่านนิยายแล้วรู้สึกมันตื่นเต้น สุดยอด ก็ต้องทำให้การอ่านหนังสือเรียนมีความรู้สึกเช่นนั้น

บางคนอาจจะคิดว่าเรียนให้มันจบๆ ไป ผมว่านั่นเป็นการเสียเวลา เพราะชีวิตเราอยู่บนโลกไม่กี่หมื่นวัน หน้าที่ที่สำคัญช่วงวัยเด็กมีเพียงเรื่องเดียว คือการเรียนรู้ทุกอย่าง ไม่ว่าเป็นวิชาการ หรือการทำกิจกรรม ดังนั้น ต้องคิดว่าการเรียนคือความสุขของชีวิต สนุกกับการเรียนรู้ให้เต็มที่ และเป็นเรื่องน่าเสียดายและเสียเวลาหากคิดว่าการเรียนเป็นความทุกข์”

เมื่อถามถึงกลยุทธ์ที่ใช้ในช่วงเตรียมตัวก่อนสอบ อิงค์กล่าวว่า การเตรียมพร้อมของแต่ละคนแตกต่างกัน วิธีของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนอาจนำวิธีของคนอื่นไปใช้ได้ ขณะที่บางคนนำไปใช้แล้วอาจจะไม่ได้ผล สำหรับตัวเขาเองนั้นไม่ได้อ่านหนังสือเยอะกว่าคนอื่น แต่ที่คิดว่าช่วยให้ทำข้อสอบได้เยอะ คือการฝึกทำข้อสอบเก่า ซึ่งจะทำให้เรารู้ว่าเราผิดพลาดตรงไหน ลืมตรงไหน และสามารถทบทวนในจุดนั้นๆ ได้ ขณะที่การอ่านหนังสือคือการอ่านทั้งหมด เป็นการทบทวนซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่บางครั้งเราไม่รู้ว่าเราหลงลืมตรงไหนไป

นอกเหนือจากการเรียนหนังสือแล้ว สิ่งที่อิงค์ให้ความสำคัญไม่แพ้กันก็คือ การทำกิจกรรม โดยใช้เวลาในช่วงที่เรียนอยู่ชั้น ม.5 ร่วมทำกิจกรรม จัดนิทรรศการกับเพื่อนๆ

“การทำกิจกรรมให้ความสนุก มีความสุขกับการใช้ชีวิต ทำให้เราได้รู้จักคนดีๆ เก่งๆ อีกหลายคน ซึ่งบางครั้งเราอาจไม่มีโอกาสได้เรียนร่วมห้องกัน แต่ผมชื่นชมเพื่อนบางคนมากถึงแม้เขาไม่ได้สอบได้ที่ 1 แต่เขาเป็นคนเก่งที่สามารถแบ่งเวลาได้ดีมาก ระหว่างการเรียนกับทำกิจกรรม ขณะที่บางคนเป็นประธานนักเรียนด้วยแล้วยังสอบเข้าแพทย์ จุฬาฯ ได้อีก ผมว่าเขาเก่งกว่าผม”
กับเพื่อนๆ ที่ เตรียมอุดม
อิงค์เปิดเผยอีกว่า การหมกมุ่นกับการอ่านหนังสือเรียนเป็นแนวทางเตรียมตัวสอบที่สุดโต่งเกินไป ต้องหาเวลาพักผ่อน หรือเล่นกีฬาบ้าง เพื่อให้ผ่อนคลาย

เมื่อถามว่าผลคะแนนที่ออกมา อิงค์พึงพอใจและสมกับความตั้งใจของตนเองหรือไม่ เขาตอบอย่างไม่ลังเลเลยว่า

“เกินความคาดหมายครับ เพราะผมแค่คิดว่าสอบเข้าได้ก็โอเคแล้ว ผมไม่ได้คิดว่าจะต้องสอบได้ที่ 1 ผมไม่ใช่คนเก่งอะไร ตอนทำข้อสอบก็มีข้อที่ผมทำไม่ได้ ผมก็คิดแค่ว่ามีตัวเลือก 4 ตัว ก็เลือกไปสักตัวหนึ่ง เพราะมันทำไม่ได้จริงๆ แล้วก็อย่าเก็บเอามาเครียด มันไม่มีวิธีไหนที่ดีกว่านี้แล้ว การสอบได้คะแนนรวมเป็นอันดับ 1 ของผม ทำให้ผมเริ่มต้นลำบากกว่าเพื่อนคนอื่นๆ นิดหน่อยด้วยซ้ำ แต่ก็ไม่เป็นไร ผมจะไม่ให้คะแนนที่ได้วันนี้มากดดันตัวเอง ทุกอย่างมันขึ้นลงได้ ได้ที่ 1 ก็แค่ที่ 1 วันหนึ่งผมอาจจะทำคะแนนได้น้อยกว่าคนอื่นอีกเยอะก็ได้”

สำหรับสิ่งที่ช่วยผลักดันให้อิงค์มาถึงวันนี้ได้ คือ “ครอบครัว” ซึ่ง อิงค์ ย้ำว่าครอบครัวมีส่วนช่วยสนับสนุนเยอะ เพียงแค่การที่เขาได้อยู่ในครอบครัวที่ไม่ต้องลำบาก หาเงินเรียนเองก็นับว่าช่วยเรื่องเรียนได้มากแล้ว ซึ่งพ่อและแม่ต่างก็ดีใจกับความสำเร็จของเขาในวันนี้

“คุณพ่อบอกว่าดีใจด้วย และงานหนักกำลังรออยู่ข้างหน้า” อนาคตนักศึกษาแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวปนเสียงหัวเราะ

ด้านนางสุจินดา อัศววรฤทธิ์ มารดาน้องอิ๊งค์ อายุ 49 ปี กล่าวว่า รู้สึกแปลกใจ เพราะไม่คาดว่าลูกจะสอบได้ที่ 1 แต่ภูมิใจในตัวลูกมาก ตั้งแต่เลี้ยงลูกคนนี้มาเป็นเด็กดีมีเหตุผล เชื่อฟังไม่ออกนอกลู่นอกทาง แบ่งเวลาเรียนและเวลาส่วนตัวได้ดี ตัวเองก็ยอมลาออกจากการเป็นทันตแพทย์มาทุ่มเทเวลาให้กับการเลี้ยงดูลูกชายทั้ง 3 คน คนโตกำลังเรียนแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ส่วนคนเล็กเรียนอยู่ ม.5 โรงเรียนเทพศิรินทร์ ลูกทุกคนจะเป็นเด็กมีเหตุผลและพูดคุยปรึกษาปัญหาได้ทุกเรื่อง ทำให้ลูกไม่มีปัญหาหรือเก็บกด
เต็มที่กับเพื่อน เตรียมฯ
ขณะที่ ไอซ์ - พฤทธิ์ อัศววรฤทธิ์ นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พี่ชายของอิงค์เล่าถึงน้อยชายคนเก่งของเขาว่า น้องชายเป็นคนเรียนดี อารมณ์ดี ไม่เครียด สนุกสนานเร่าเริง แต่มีสมาธิเวลาทำอะไรก็จะตั้งใจทำอย่างสม่ำเสมอ สำหรับการเตรียมความพร้อมในการสอบ ในฐานะของพี่ชายมีคำแนะนำหรือไม่อย่างไรนั้น ไอซ์ บอกว่า จริงๆ ก็ไม่ได้มีคำแนะนำอะไรเป็นพิเศษ เพียงแต่เน้นย้ำให้ตั้งใจเรียนในห้องเรียนให้ดีที่สุด มีสมาธิ จดจ่อกับเนื้อหาที่เรียน และพยายามกลับมาบททวนเนื้อหาให้ได้มากที่สุด รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับการแบ่งเวลาทั้งเล่น และเรียน เพื่อไม่ให้เกิดความเครียดกับเรื่องเรียนเพียงอย่างเดียว และในการเตรียมตัวก่อนสอบก็แนะนำเพียงแค่ให้มีสมาธิกับการอ่านหนังสือ มีสมาธิในการทำข้อสอบ เพราะเมื่อมีสมาธิแล้วเนื้อหาทุกอย่างก็จะจำได้เอง

“ในส่วนของครอบครัวก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก ทุกอย่างให้เป็นการตัดสินใจของเขาทั้งหมด เพราะไม่ว่าจะเรียนอะไรหากเป็นในสิ่งที่เขารักก็เชื่อว่าสิ่งนั้นจะเป็นผลดีกับตัวเขาที่สุด แต่ภายหลังจากทราบผลก็ได้แสดงความยินดีด้วยแต่ก็ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ เพียงแต่บอกว่าผลที่ออกมาก็มาจากความพยายามของตัวเขาเอง ถือเป็นรางวัลที่เขาตั้งใจทำจนนำมาสู่ความสำเร็จได้ในวันนี้” ไอซ์เผย

ไอซ์ยังฝากทิ้งท้ายด้วยว่า สำหรับน้องๆ ที่พลาดหวัง ก็อย่าไปเครียดอะไรมาก เพราะไม่ว่าจะเรียนสาขาใด และจบไปทำอาชีพอะไรก็เป็นอาชีพที่สร้างประโยชน์ให้กับบ้านเมืองได้ทั้งหมด ไม่เฉพาะเพียงหมอ หรือวิศวะ เพียงแต่สิ่งที่ทุกคนเลือกเรียนขอให้เป็นสิ่งที่ตนเองรักก็พอ ไม่ว่าจะเรียนที่ไหนก็จะมีความสุขกับการเรียนในทุกๆ ที่
กำลังโหลดความคิดเห็น