วธ.ลงตรวจสอบพื้นที่มอเตอร์โชว์ ไม่เจอเด็กน้อย มีแต่ไคโยตี้วัยสะรุ่น 15 ปีขึ้นไป ขณะที่เครือข่ายเฝ้าระวังฯในงาน ระบุ มีเด็ก 10 ขวบเต้นไคโยตี้จริง ด้าน “ครูหยุย” ชี้ นำเด็กต่ำกว่า 14 ปีเต้นยั่วยวน ผิดทั้งคนเผยแพร่คลิป และผู้ปกครอง พร้อมเร่งหาต้นตอเอาผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก เหตุทำเด็กเสียหาย
วันนี้ (3 เม.ย.) น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า จากการที่มีเครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม นำคลิปเด็กน้อยเต้นไคโยตี้ มาร้องเรียนให้ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมตรวจสอบ โดยผู้ร้องเรียนระบุว่า เป็นการแสดงสินค้าและรถยนต์นั้น ขณะนี้ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบในงานบางกอก อินเตอร์เนชันแนล มอเตอร์โชว์ 2009 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา ซึ่งเป็นงานใหญ่ที่จัดอยู่ในขณะนี้ พบว่า มีการแสดงไคโยตี้บริเวณภายนอกอาคารศูนย์นิทรรศการจริง แต่ยังไม่พบเด็กน้อยที่เป็นข่าว จึงได้สอบถามกับพนักงาน ผู้เข้าชมงาน สาวไคโยตี้ และเครือข่ายเฝ้าระวัง ที่ไปร่วมงานมอเตอร์โชว์ โดยหญิงสาวที่มาเต้นไคโยตี้ส่วนใหญ่ ระบุว่า คนที่มาเต้นจะมีอายุเริ่มต้นที่ 15 ปีขึ้นไป ส่วนกรณีเด็ก 10 ปีที่เต้นไคโยตี้ ตามที่ปรากฏเป็นข่าวนั้น กลุ่มเครือข่ายเฝ้าระวังที่ได้ไปชมงานและร่วมจัดงาน แจ้งว่า มีการเต้นในมอเตอร์โชว์ครั้งนี้จริง และยังพบว่า มีเด็กอายุประมาณ 10 ปี ไปเต้นไคโยตี้ตามงานวัดต่างๆ อีกด้วย
น.ส.ลัดดา กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ เครือข่ายเฝ้าระวังยังได้แจ้งเบาะแสด้วยหลักฐานที่ปรากฏในเว็บไซต์ “Show Ded” Moter Show Bangkok International 2009 โดยมีการนำคลิปเด็กน้อยเต้นไคโยตี้มาเป็นคลิปนำในเว็บดังกล่าว ซึ่งมีการระบุวันการโพสต์ว่า 29 มีนาคม 2552 และมีการระบุสถานที่ของการแสดงในคลิปดังกล่าวไว้อย่างชัดเจน ผนวกกับให้ความเห็นว่า จากภาพที่ปรากฏและสภาพแวดล้อม รวมถึงการเข้าไปพบเห็นเด็กเต้นจริงๆ ขณะที่มีผู้ระบุว่า เป็นคลิปเมื่อ 2 ปีที่แล้วนั้น จากการประมวลถึงเหตุผลและข้อมูลแล้ว เป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นคลิปเก่าเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากข้อมูลการเฝ้าระวังย้อนหลังไม่พบ เหตุการณ์นี้มาก่อน และเครือข่ายที่ร้องเรียนเข้ามาเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือ ที่ได้เข้าไปฝังตัวในงานมอเตอร์โชว์ตลอดทุกวัน
“นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้สั่งการให้ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ทำหนังสือถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้เข้าไปช่วยสอดส่องในพื้นที่ดังกล่าว รวมถึงผู้จัดงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กเยาวชนให้ช่วยดูแลด้วย เพราะจากข้อมูลที่ได้รับ เด็กที่ไปเต้นโคโยตี้ส่วนใหญ่จะอายุไม่ถึง 20 ปี” ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กล่าว
ด้านนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ คณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ กล่าวว่า การนำเด็กเยาวชนอายุต่ำกว่า 14 ปีขึ้นไปเต้นบนเวทีในลักษณะยั่วยวนนั้นมีความผิดทางกฎหมาย ทั้งคนที่นำคลิปมาเผยแพร่ คนนำไป พ่อแม่ก็มีความผิด เนื่องจากมีพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 หมวด 2 เรื่องการปฏิบัติต่อเด็ก มาตรา 26(9) ห้ามมิให้ผู้ใดบังคับ ขู่เข็ญ ใช้ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กแสดงหรือกระทำการอันมีลักษณะลามกอนาจาร ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าตอบแทนหรือเพื่อการใด เนื่องจากเป็นการละเมิดและทำให้เด็กเสียหาย จะต้องมีโทษ ซึ่งในส่วนของพ่อแม่ที่ยินยอมให้ลูกขึ้นไปเต้นนั้นจะต้องเรียกมาตักเตือน ทำทัณฑ์บนไว้ก่อน หากพบว่ามีครั้งต่อไปจะต้องจับปรับ และอาจถึงขั้นจำคุก เพราะถือว่าไม่ปกป้องคุ้มครองบุตรหลานของตนเอง อย่างไรก็ตามหากมีผู้พบเห็นการละเมิดสิทธิเด็กตนขอให้แจ้งข่าวไปยังองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านเด็กทุกแห่งเพื่อช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้สังคม
“กรณีแบบนี้ต้องจัดการพ่อแม่ที่ยอมให้ลูกมาเต้น ถ้าพ่อแม่ไม่รู้หรือไม่ยินยอมก็ต้องนำบริษัทที่ขายรถซึ่งชักจูงเด็กมาเต้น โดยถือว่ามีความผิดหนัก เพราะถือว่าละเลยข้อกฎหมาย แค่นำเยาวชนอายุ 18 ปีขึ้นไปมานุ่งน้อยห่มน้อยและเต้นยั่วยวนกลางแจ้งเพื่อขายรถนั้น คนก็ยังวิจารณ์กันทั้งเมืองเพราะถือว่าผิดศีลธรรมอันดีงาม ยิ่งเป็นเด็กต่ำกว่า 14 ปีจะที่ไหนก็ไม่ได้ทั้งนั้น ผมในฐานะคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ จะติดตามเรื่องนี้อย่างจริงจัง ช่วยดำเนินการสืบหาต้นตออีกทางหนึ่ง” นายวัลลภ กล่าว