อย.เตือนวัยโจ๋อยากสวยแต่งสีผิวด้วยเฮนนาสีดำเข้มติดทนนานอาจมีส่วนผสมของพีพีดีอันตราย เสี่ยงอาการแพ้ขั้นรุนแรง เตือนอย่าใช้เด็ดขาด ระบุอนุญาตให้ใช้สารพีพีดี ได้เฉพาะในผลิตภัณฑ์ย้อมผมเท่านั้น หากนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์อื่น มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท
ภญ.วีรวรรณ แตงแก้ว รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า กรณีของวัยรุ่นที่นิยมตกแต่งสีผิวด้วยลวดลายต่างๆ เพื่อความสวยงามโดยใช้เฮนนา (Henna) ซึ่งเป็นพืชชนิดหนึ่งที่ให้สีน้ำตาล ส้ม ซึ่งใช้ได้ทั้งแต่งผิว หรือย้อมผม แต่ขณะนี้พบว่ามีการลักลอบเติม p-phenylenediamine (PPD) หรือพีพีดี ลงในเฮนนา เพื่อให้มีสีเข้มขึ้น และสีติดทนนาน โดยเรียกกันว่า แบล็กเฮนนา (Black Henna) หรือบลูเฮนนา (Blue Henna) ซึ่งสารดังกล่าวจัดเป็นสารเคมีที่มีความเสี่ยงสูง อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนดให้ใช้สารพีพีดีได้เฉพาะในผลิตภัณฑ์ย้อมผมเท่านั้น ซึ่งอัตราส่วนสูงสุดที่อนุญาตให้ใช้ คือ 6% นอกจากนี้ ที่ฉลากของผลิตภัณฑ์จะต้องแสดงคำเตือนตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด ซึ่งเน้นว่าสารนี้มีฤทธิ์ระคายเคืองผิวหนัง และก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ ต้องทดสอบอาการแพ้ก่อนใช้ และที่สำคัญ คือ ห้ามนำไปย้อมขนคิ้วหรือขนตาเด็ดขาด เพราะหากเข้าตาอาจเป็นอันตรายถึงขั้นตาบอดได้ ทั้งนี้ หากนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์อื่น มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท
“หากนำผลิตภัณฑ์ที่ผสมพีพีดีมาสัมผัสผิวหนัง อาจก่อให้เกิดการแพ้ได้และยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ผู้ที่แพ้สารนี้จะมีโอกาสแพ้สารอื่นๆ ที่มีโครงสร้างในทำนองเดียวกันอีกด้วย เช่น สีย้อมผม สีย้อมผ้า สารป้องกันแสงแดด รวมทั้งยาบางชนิด จึงขอให้สังเกตว่าสีตกแต่งผิวกาย เช่น เฮนนา นั้นจะต้องมีสีตามธรรมชาติ คือ สีน้ำตาลอมส้ม หากพบว่าเฮนน่านั้นมีสีเข้มกว่าปกติ ออกเฉดสีดำและอ้างว่าสีติดทนนาน ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจผสมพีพีดี อย่าซื้อ อย่าใช้ เพราะอันตราย” ภญ.วีรวรรณกล่าว
ภญ.วีรวรรณ กล่าวต่อว่า ขอเตือนประชาชนโดยเฉพาะวัยรุ่นว่า การแต่งแต้มผิวกายด้วยสีสันต่างๆ เป็นเรื่องของแฟชั่น ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ระบุให้ใช้กับผิวหนัง อย่านำผลิตภัณฑ์ที่ฉลากระบุให้ใช้กับเส้นผมมาใช้กับผิวกาย เพราะอาจเกิดอันตราย โดยเฉพาะแบล็กเฮนนา หรือบลูเฮนนา ควรหลีกเลี่ยงเพราะพบว่ามีสารพีพีดีผสมอยู่ด้วย เสี่ยงต่อการแพ้ หากผู้บริโภคพบผลิตภัณฑ์ต้องสงสัยว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์อันตราย ขอให้แจ้งสายด่วน อย. 1556 เพื่อ อย.จะได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป