อนามัยโลกหนุน อภ.ให้งบสร้างโรงงานวัคซีนหวัดใหญ่ หวัดนกเป็นปีที่ 2 อีก 2.064 ล้านเหรียญ เร่งพัฒนาสู่ระดับอุตสาหกรรม หากสำเร็จไทยผลิตได้เองเหลือ 170 บาท จากในท้องตลาด 600 บาท พร้อมเรียนรู้เทคโนโลยีผลิตวัคซีนจากเชื้อเป็น รับมือป้องกันระบาดรุนแรงครั้งใหญ่
วันนี้ (1 เม.ย.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า อภ.ได้สร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนก โดยจัดสร้างที่ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี งบประมาณ 1,411.7 ล้านบาท ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้สนับสนุนการวิจัยและผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ และไข้หวัดนก นำร่องในปี 2550-2551 ครั้งแรก จำนวน 1.996 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปีนี้องค์การอนามัยโลกได้สนับสนุนงบประมาณอีกเป็นครั้งที่ 2 วงเงิน 2.064 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อวิจัยต่อยอดจากห้องปฏิบัติการเป็นระดับกึ่งอุตสาหกรรม รวมทั้งการศึกษาวิจัยระดับพรีคลินิก และคลินิก
“หากดำเนินการสำเร็จจะเน้นให้เพียงพอต่อการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ และโรคไข้หวัดนกในประเทศไทย แต่หากเหลือก็จะขายให้กับประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งหากอภ.สามารถผลิตได้เองจะช่วยลดราคาค่าวัคซีนจากปกติที่ขายตามท้องตลาด 600 บาท เหลือเพียง 170 บาท ซึ่งเป็นราคาเบื้องต้นเท่านั้น หากผลิตจริงจะลดลงกว่านี้อีก ทั้งนี้โรงงานดังกล่าวขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างกำหนดคุณลักษณะและจะเริ่มก่อสร้างประมาณไตรมาสที่ 4 ของปีนี้”นพ.วิทิต กล่าว
พญ.มาเรีย พอล กีนี ผู้อำนวยการด้านฝ่ายวิจัยพัฒนาวัคซีนด้วยตนเองขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า หาก อภ.ดำเนินการวิจัยสำเร็จถึงขั้นผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้ ตามสัญญาในปีที่ 1 จะต้องผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่จากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ตายแล้ว สำหรับการระบาดตามฤดูกาลในแต่ละปี แต่ในปีที่ 2 องค์การอนามัยโลกจะสนับสนุนให้พัฒนาต่อไปด้วยการผลิตจากเชื้อเป็น ซึ่งจะทำให้สามารถผลิตวัคซีนได้จำนวนมาก สำหรับการระบาดใหญ่ในอนาคต
นพ.ศุภมิตร์ ชุณห์สิทธิ์วัฒน์ นายแพทย์ 10 วช. ด้านเวชกรรมป้องกัน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับข้อมูลทางวิชาการที่ระบุว่ามีเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนกมีการกลายพันธุ์จนทำให้ดื้อต่อยาโอเซลทามิเวียร์ ซึ่งเป็นยาที่มีการสต๊อกไว้นั้น ความจริงแล้วทุกประเทศได้มีการเตรียมตัวอยู่แล้ว ซึ่งกำลังพิจารณาอัตราการดื้อยาว่ามีมากน้อยเพียงใด หากดื้อมาก็จะใช้ยาชนิดอื่นมาเสริมแทน แต่ไม่ถึงกับเปลี่ยนแปลงสต็อกยาจากเดิมที่สต็อกโอเซลทามิเวียร์ทั้งหมด
“เครื่องมือที่สำคัญในการป้องกันโรคอย่างหนึ่งคือ วัคซีน ซึ่ง อภ.กำลังดำเนินการผลิตโรงงานเพื่อผลิตเอง เพื่อเพียงพอต่อการใช้ภายในประเทศ และอีกทางหนึ่งคือ การป้องกันตัวของประชาชนเอง ในเรื่องของสุขลักษณะ การล้างมือ การใช้หน้ากากอนามัย ฯลฯ ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญมากเช่นกัน”นพ.ศุภมิตร์ กล่าว