สำรวจพบหญิงป่วยซึมเศร้ามากกว่าชาย อนามัยโลกคาดการณ์ อีก 11 ปี ผู้ป่วยซึมเศร้าจะพุ่งเป็นอันดับ 2 รองจากโรคหัวใจ ห่วงหญิงหลังคลอดเกิดภาวะซึมเศร้าสูง ส่งผลกระทบลูกมีปัญหาทางอารมณ์
วันที่ 31 มีนาคม ที่สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ในการเสวนาเรื่อง “ผู้หญิงแกร่ง 2009” นพ.ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากตัวเลขของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่สถาบันจิตเวชศสาตร์สมเด็จเจ้าพระยา พบว่า ผู้หญิงจะมีโอกาสป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าเพศชาย โดยปี 2551 ที่ผ่านมา พบว่า มีสัดส่วนของผู้ป่วยเพศหญิงมากกว่าแบ่งเป็นผู้ป่วยนอก หญิงมีถึง 6,338 คน เทียบกับชายมีเพียง 2,558 คน และผู้ป่วยใน หญิงมี 78 คน ส่วนชายมี 36 คน คิดเป็นอัตราการเกิดโรคในเพศหญิงจะมากกว่าชาย 2 ต่อ 1 จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่าปี 2020 ผู้ป่วยซึมเศร้าจะพุ่งขึ้นเป็นอันดับ 2 รองจากโรคหัวใจ ซึ่งถือเป็นภาวะที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง
“สาเหตุที่ส่งผลให้หญิงเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าเพศชาย อาจเกิดได้จากการเลี้ยงดู ซึ่งส่วนใหญ่จะมีลักษณะเก็บตัว สมยอม ไม่โต้ตอบ ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้ามากกว่าเพศชายที่มักแสดงออกทางอารมณ์มากกว่า เมื่ออยู่ในวัยมีครอบครัวผู้หญิงก็ต้องเป็นผู้ดูแลภาระครอบครัวไปพร้อมกับทำงานนอกบ้าน ซึ่งส่งผลให้เกิดความเครียดได้มากกว่า และยังมีผลจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ซึ่งทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้”นพ.ชาตรี กล่าว
นพ.ชาตรี กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ พบว่า ผู้หญิงมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดสูงถึง ร้อยละ 15 ซึ่งส่งผลต่อเด็กที่มีมารดาป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เพราะมารดาจะมีพฤติกรรมแยกตัว ไม่สนใจเลี้ยงดูบุตร มีการสื่อสารกับเด็กน้อย หรือ สื่อสารอย่างไม่เป็นมิตร ทำให้เด็กมีปัญหาทางอารมณ์ ไม่มั่นใจต่อความผูกพันของแม่ และมีพัฒนาการทางสติปัญญาลดลง นอกจากนี้ ปัญหาการถูกคุกคามและทารุณทางเพศ เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าในเพศหญิงขึ้นได้ เพราะจะรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองลดลง โทษตัวเอง และแยกตัวเองออกจากสังคม
“ที่น่าเป็นห่วงคือ 2 ใน 3 ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม เนื่องจากไม่รู้ว่าเป็นอาการของโรคซึมเศร้า รวมทั้งคนรอบข้างก็ไม่ทราบ และคิดว่า เป็นคนขี้เกียจ หรืออ่อนแอเท่านั้น ซึ่งโรคซึมเศร้าจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยา หรือ การรักษาด้วยจิตบำบัด ซึ่งสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่โรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิตและโรงพยาบาลใกล้บ้าน”นพ.ชาตรี