"มานิต" มอบสัมฤทธิบัตรแพทย์จบใหม่ในโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท 317 คน ส่งไปรับใช้ประชาชนในพื้นที่ขาดแคลนแพทย์ทั่วประเทศ โดย 5 จังหวัดชายแดนใต้ได้เพิ่มอีก 18 คน ย้ำการทำงานต้องยึดมั่นจรรยาบรรณวิชาชีพ และสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ร่วมงาน ผู้รับบริการและญาติ ตลอดจนคนในชุมชน
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานมอบสัมฤทธิบัตรแก่แพทย์ที่สำเร็จการศึกษา ในโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท ปีการศึกษา 2551 รุ่นที่ 9 จำนวน 317 คน ว่า ความขาดแคลนแพทย์ เป็นปัญหาสำคัญของชาติที่เรื้อรังมานาน ขณะที่ประชากรประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปีละ 800,000 คน ปัจจุบันมีแพทย์ที่ปฏิบัติงานในสถานพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ 9,602 คน แต่มีแพทย์ลาออกจากราชการปีละ 800-1,000 คน ซึ่งการแก้ไขไม่สามารถทำได้ในเวลาอันสั้น เนื่องจากการผลิตแพทย์แต่ละรุ่นต้องใช้เวลาเรียนถึง 6 ปี เพราะวิชาชีพแพทย์เป็นงานที่ต้องรับผิดชอบความเจ็บไข้และชีวิตของคน จึงต้องมีการฝึกฝนให้เกิดทักษะ และกำกับดูแลให้มีคุณภาพมาตรฐานตามข้อกำหนดของวิชาชีพด้วย โดยในส่วนของนักศึกษาแพทย์โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท จะคัดเลือกนักเรียนจากพื้นที่ชนบท และมีเงื่อนไขให้กลับไปปฏิบัติงานในภูมิลำเนา หรือพื้นที่ชนบทที่ขาดแคลนแพทย์ ภายหลังสำเร็จการศึกษาแล้ว ซึ่งนอกจากจะเป็นการเสริมจำนวนแพทย์ในระบบแล้ว ยังช่วยลดปัญหาการโยกย้ายและขาดแคลนแพทย์ในพื้นที่ได้ด้วย
“การทำงานในชนบท ซึ่งยังมีปัญหาขาดแคลนทั้งงบประมาณ บุคลากร และเครื่องมือ อาจเป็นอุปสรรคทำให้แพทย์ทำงานได้ลำบากและเหนื่อยหนักมากขึ้น แต่ขอให้แพทย์ทุกคนยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพ และสร้างสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง ทั้งเพื่อนร่วมงาน ผู้ป่วยและญาติ ตลอดจนคนในชุมชน ซึ่งจะช่วยให้การทำงานสำเร็จราบรื่น และมีความสุข” นายมานิตกล่าว
นพ.สุวัฒน์ เลิศสุขประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท กล่าวว่า ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ของประเทศ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย จัดทำโครงการผลิตแพทย์เพิ่มของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ตามความต้องการของกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2547-2556 ซึ่งจะสามารถผลิตแพทย์เพิ่มได้ถึง 10,678 คน แยกเป็นการผลิตโดยสถาบันผลิตแพทย์ของกระทรวงศึกษาธิการ 6,871 คน และโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท 3,807 คน
นพ.สุวัฒน์ กล่าวต่อว่า ในส่วนโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท มหาวิทยาลัย 7 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์ ขอนแก่น เชียงใหม่ ธรรมศาสตร์ นเรศวร มหิดล และสงขลานครินทร์ รับผิดชอบจัดการเรียนการสอนภาคทฤษฎีในชั้นปีที่ 1-3 และโรงพยาบาลขนาดใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุขทุกภูมิภาค 14 แห่ง รับผิดชอบจัดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติกับผู้ป่วยหรือชั้นคลินิก ในชั้นปีที่ 4-6 ที่ผ่านมามีแพทย์จบจากโครงการฯ ไปแล้ว 1,402 คน และยังคงทำงานในพื้นที่ สำหรับแพทย์ที่สำเร็จการศึกษาและรับสัมฤทธิบัตรในวันนี้ จะส่งไปปฏิบัติงานในโรงพยาบาลที่ขาดแคลนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยจังหวัดสงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จะได้แพทย์เพิ่ม18 คน