xs
xsm
sm
md
lg

สลดหญิงพิการ 2 ใน 3 ถูกคนใกล้ตัวขืนใจ ชี้แนวโน้มความรุนแรงทะลุ 10 เท่าของคนปกติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
สลดหญิงพิการ 2 ใน 3 เหยื่ออารมณ์ ถูกคนใกล้ตัว ญาติ-เพื่อน ล่วงละเมิดทางเพศ แถมถูกบังคับทำแท้งเถื่อนตายไม่มีใครสน โดนใช้ความรุนแรงมากกว่าหญิงปกติ 1.5-10 เท่า สำรวจพบผู้พิการเกือบ 100% มีปัญหาด้านสุขภาพ

วันที่ 25 มีนาคม ที่ สถาบันวิชาการทีโอที เครือข่ายคนพิการ สถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมวิชาการ “ถอดมายาคติ สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ : กรณีบังคับทำหมันผู้หญิงพิการ” โดย น.ส.เสาวลักษณ์ ทองก๊วย หัวหน้าสำนักงานองค์การคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก กล่าวว่า คนพิการผู้หญิงมีความเสี่ยงในการถูกละเมิดสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ได้มาก รายงานขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า มีหญิงพิการ 10% ของจำนวนผู้หญิงทั่วโลก หรือ 300 ล้านคน ซึ่งมีทั้งความพิการด้านร่างกายและจิตใจ โดย 3 ใน 4 มีรายได้ต่ำ และประมาณ 65% อยู่ในถิ่นทุรกันดาร

“ธนาคารโลกประมาณการว่า 20% ของคนยากจนมีสภาพความพิการ และเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุดในชุมชน อีกทั้งหญิงพิการในประเทศกำลังพัฒนา จะถูกเลือกปฏิบัติเป็น 3 เท่า หญิงพิการในประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยหญิงพิการทุกประเทศ 2 ใน 3 คน จะเป็นเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศและละเมิดสิทธิ ซึ่งน้อยรายที่ปกป้องสิทธิตัวเองได้ เพราะขาดความรู้ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งผู้กระทำกลายเป็นคนในครอบครัว เพื่อนบ้าน ที่คิดว่าไม่ใช่เรื่องเสียหายที่หญิงพิการถูกข่มขืน เพราะไม่เห็นค่า ปัญหาที่ตามมา คือ ถูกบังคับให้ทำแท้งที่ส่วนใหญ่เป็นการทำแท้งแบบไม่ปลอดภัย และบางครั้งเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้แนะนำ สิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นวงจรความรุนแรงในชุมชน” น.ส.เสาวลักษณ์ กล่าว

นางเพ็ญจันทร์ เชอร์เรอร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจความพิการ ล่าสุด ปี 2550 พบว่า มีผู้พิการในไทยประมาณ 1.9 ล้านคน หรือ 2.9% ในจำนวนนี้ 1.8 ล้านคน หรือ 97.9% มีความลำบาก มีปัญหาสุขภาพ ซึ่งมีหญิงพิการมากกว่าชาย และจะพบผู้พิการมากขึ้นในอายุที่เพิ่มขึ้น กลุ่มผู้สูงอายุจึงมีความพิการมากที่สุด โดยคนพิการมีแนวโน้มที่จะถูกกระทำความรุนแรงทางเพศมากกว่าคนปกติ งานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่า ผู้หญิงพิการมีแนวโน้มจะถูกกระทำความรุนแรงถึง 1.5-10 เท่าของผู้หญิงทั่วไป

นางเพ็ญจันทร์ กล่าวอีกว่า ขณะที่เด็กหญิงที่พิการมีแนวโน้มถูกกระทำความรุนแรงมากกว่าหญิงพิการทั่วไป หากอยู่ในครอบครัวหญิงพิการจะถูกทำให้อยู่ในฐานะที่ต่ำต้อยด้อยค่ากว่า ผู้หญิงธรรมดา เช่นเดียวกับชายพิการ ที่ถูกลดค่าและถูกมองว่าไม่สามารถเป็นผู้นำได้ ระบบบริการทางการแพทย์และบริการสังคมสงเคราะห์ ที่น่าจะมีส่วนช่วยเหลือบรรเทา ความทุกข์ดังกล่าว แต่ทัศนคติของผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบบริการ กลับทำให้เกิดการแบ่งแยก เลือกปฏิบัติ มีอคติต่อผู้พิการ เช่น ระบบบริการด้านงานวางแผนครอบครัว ไม่ได้พัฒนาขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของผู้พิการที่จะมารับบริการทั้งข้อมูล การให้คำปรึกษา หรือ บริการ เพราะไม่ได้คาดหวังว่าผู้พิการต้องการบริการ

“คนพิการมักถูกตีตรา และมองว่า เป็นคนไม่มีเพศ ถูกแบ่งแยกให้เข้าใจไปว่าเป็นคนที่ไม่มีความสามารถในเรื่องเพศ ไม่สามารถมีความสัมพันธ์ทางเพศที่ปกติได้ หรือถ้ามีก็เบี่ยงเบนทางเพศ ไม่มีความสามารถเป็นพ่อหรือแม่ เพราะพิการ รวมทั้งไม่มีความรัก ไม่มีคนชอบ คนรัก หรือเข้าใจไปอีกว่าบุคคลพิการไม่มีการตกไข่ ไม่มีประจำเดือน ตั้งครรภ์หรือให้กำเนิดบุตรไม่ได้ ไม่มีสมรรถภาพทางเพศ ทำให้สังคมละเลย ทำให้ขาดองค์ความรู้ เพราะไม่มีการจัดบริการทางสุขภาพในเรื่องเพศสำหรับคนพิการ” นางเพ็ญจันทร์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น