xs
xsm
sm
md
lg

เตือนสิงห์ขี้ยา! สารก่อมะเร็งในบุหรี่เข้มข้นสูงกว่าการเผาไหม้แก๊สโซฮอล์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เผยสารก่อมะเร็งในควันบุหรี่มีความเข้มข้นสูงกว่าสารชนิดเดียวกันที่เกิดจากการเผาไหม้ของแก๊สโซฮอล์ที่ตรวจพบในจุดต่างๆ ใน กทม.มาก ชี้ไม่ต้องตกใจสารก่อมเร็งจากแก๊สโซฮอล์แต่ให้ 10 ล้านคนที่สูบบุหรี่เลิกสูบดีกว่า

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยว่า สารก่อมะเร็งในควันบุหรี่มีความเข้มข้นสูงกว่าสารชนิดเดียวกันที่เกิดจากการเผาไหม้ของแก๊สโซฮอล์ตามที่เป็นข่าวโดยสารกลุ่มคาร์บอนิลที่ตรวจพบในบรรยากาศ 4 ชนิด เช่น ฟอร์มาลดีไฮด์ อะเซทัลดีไฮด์ อะซิโตน และอะโครรีน ล้วนพบในควันบุหรี่ โดยในบุหรี่แต่ละมวนเมื่อเกิดการเผาไหม้จะเกิดสารฟอร์มาลดีไฮด์ 20-100 นาโนกรัม อะเซทัลดีไฮด์ 400-1,400 นาโนกรัม อะซิโตน 100-650 นาโนกรัม และอะโครรีน 40-140 นาโนกรัม ซึ่งหากคำนวณตามความเข้มข้นที่ผู้สูบบุหรี่ได้รับจากการสูบบุหรี่หนึ่งมวนที่เฉลี่ยสูบ 10 ครั้ง โดยสูดลมหายใจที่เป็นควันบุหรี่เข้มข้นครั้งละ 1-1.5 ลิตรเข้าสู่ร่างกาย เมื่อนำมาคำนวณความเข้มข้นของสารทั้ง 4 ตัวนี้จะพบว่า มีความเข้มข้นสูงกว่าระดับที่ตรวจพบในจุดต่าง ๆ ใน กทม. มาก

“คน กทม.ที่สูบบุหรี่ 6 แสนกว่าคน เฉลี่ยสูบบุหรี่ 11 มวนต่อคนต่อวัน ซึ่งหมายความว่าเขาเหล่านี้จะได้รับสารก่อมะเร็งทั้ง 4 ชนิดนี้จำนวนมากในแต่ละวัน แม้เขาจะไม่ได้อยู่ในที่ที่รถราวิ่งก็ตาม ที่สำคัญในควันบุหรี่ยังมีสารก่อมะเร็งชนิดอื่นๆ อีก 60 กว่าชนิดที่ไม่มีในสารที่เกิดจากการเผาไหม้แก๊สโซฮอล์ ประชาชนจึงไม่ควรจะตกใจต่อข่าวการมีสารก่อมะเร็งจากการใช้แก๊สโซฮอล์ แต่คนไทย 10 ล้านคนที่สูบบุหรี่ควรจะหยุดสูบบุหรี่ หากหยุดไม่ได้ก็ไม่ควรสูบในที่สาธารณะ เพราะเป็นการแพร่สารก่อมะเร็งให้แก่คนอื่น ส่วนคนที่ไม่สูบบุหรี่ก็ต้องพยายามหลีกเลี่ยงการได้รับควันบุหรี่มือสอง” ศ.นพ.ประกิตกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น