นักวิชาการชี้ไข้หวัดนกเริ่มกลายพันธุ์ ดื้อยาแล้ว แนะเปลี่ยนสต็อกสูตรยาไข้หวัดนกระดับชาติ ส่วนไข้หวัดใหญ่ 16 สายพันธุ์ดื้อยาโอเซลทามิเวียร์ ไตรมาสสุดท้ายปี 51 ดื้อกว่า 90 % ด้านกรมควบคุมโรคระบุยังไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ ไม่มีข้อมูลการดื้อยา จึงยังไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนยาในสต็อก
ศ.นพ.อมร ลีลารัศมี อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรคติดเชื้อและอายุรศาสตร์เขตร้อน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ขณะนี้มีความเป็นห่วงเกี่ยวกับสถานการณ์การดื้อยาของเชื้อไวรัส โดยเฉพาะไวรัสไข้หวัดใหญ่ รวมถึงไข้หวัดนกเอช 5 เอ็น 1 ที่ถือว่าเป็นสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ที่เกิดในคน ซึ่งพบว่า มีแนวโน้มในการดื้อยาแล้ว เนื่องจากเมื่อ 2 ปีก่อนยังพบว่าเด็กและเสือที่เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดนกพบว่าเชื้อดังกล่าวดื้อต่อยารักษาโรคไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนก โอเซลทามิเวียร์แล้ว
“เรื่องดังกล่าวจำเป็นต้องมีการเตรียมการเกี่ยวกับเรื่องการสต็อกยาระดับชาติเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดนกในอนาคตหากเกิดการระบาดขึ้น เพราะขณะนี้ในสต็อกมีเพียงยาโอเซลทามิเวียร์เท่านั้น จึงจำเป็นต้องสต็อกยาให้ดี หากเกิดการระบาดร้ายแรง หากไม่สต็อกยารักษายาสูตรอื่น ยาที่มีอยู่ก็ไม่มีความหมายใดๆ เพราะเชื้อดื้อยาไปหมดแล้ว”ศ.นพ.อมร กล่าว
ศ.นพ.อมร กล่าวอีกว่า ทั้งนี้การรักษาโรคไข้หวัดนกรวมถึงไข้หวัดใหญ่ในคนนั้น มียา 3 ขนานได้แก่ 1. ยาโอเซลทามิเวียร์ชนิดเม็ด 2. ยาซานามีเวียร์(Zanamivir)ชนิดพ่นและ 3. ยาไรมานทีดีน(Rimantidine)ชนิดเม็ด ซึ่งในรายที่มีอาการในทางเดินหายใจ หรือโรคทางปอด ไม่สามารถใช้ยาชนิดดังกล่าวได้ ก็จำเป็นต้องใช้ยาไรมานทีดีนร่วมกับการทานยาโอเซลทามิเวียร์ด้วย ซึ่งขณะนี้พบข้อมูลทางการวิชาการว่า ไวรัสไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนกยังไม่ดื้อยาทั้ง 2 ชนิด อีกทั้งพบว่า หาการดื้อยาซานามิเวียมีผลต่อการเจริญเติบโตของไวรัส หากดื้อยาก็จะทำให้ไวรัสชนิดนี้ตายไปด้วย
ศ.นพ.อมร กล่าวต่อว่า นอกจากไวรัสไข้หวัดนกที่พบว่ามีการดื้อยาแล้ว ไวรัสไข้หวัดใหญ่ในคน เอช 1 เอ็น 1 ก็พบว่ามีการดื้อยาโอเซลทามิเวียร์ทั่วโลกแล้ว ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาแต่อย่างใด เพราะแม้แต่ประเทศในแถบแอฟริกาใต้ ที่พบว่าไม่มีการใช้ยาใดๆเลย ก็มีการดื้อยา แต่เชื้อดังกล่าวไม่ดื้อยาซานามีเวียร์ ซึ่งเป็นเพราะเชื้อไวรัสได้มีการกลายพันธุ์ เช่นเดียวกันกับเ โดยข้อมูลเบื้องต้นของศูนย์การร่วมมือไทยสหรัฐด้านสาธารณสุข พบว่ามีการดื้อยาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ เอช 3 เอ็น 2 ดื้อยาไรมานทีดีน แต่ไม่ดื้อยาซานามีเวียร์ อย่างไรก็ตามเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้กลายพันธุ์ให้เกิดการดื้อยาในประเทศไทยแล้วประมาณ 1-2 ล้านคน แต่ยังไม่สามารถระบุตัวเลขได้แน่ชัด เพราะยังไม่มีการศึกษารายละเอียดอย่างแท้จริง
“แพทย์ทั่วไปเริ่มพอที่จะทราบแนวทางการรักษาที่โรคไข้หวัดใหญ่นอกเหนือจากการใช้ยาโอเซลทามิเวียร์ มาใช้ยาซานามิเวียร์หรือยาไรมานทีดีนบ้างแล้ว แต่แนวทางการรักษาที่ปฏิบัติส่วนใหญ่เพียงแค่สงสัยว่ามีอาการไข้หวัดใหญ่ก็ให้ยาแล้ว เพราะยาดังกล่าวจะต้องให้ภายใน 48 ชั่วโมงที่เกิดอาการ ให้หลังจากนั้นจะทำให้ไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร ดังนั้นการนำเชื้อไปตรวจวิเคราะห์อาจไม่ทันเวลา แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงกว่านื้คือ แพทย์ส่วนใหญ่มักวินิจฉัยโรคปอดบวมว่าเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย แต่ไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการรุนแรงก็จะมีอาการดังกล่าวด้วยเช่นกัน ”ศ.นพ.อมร กล่าว
นางจิรนันท์ วราชิต เดอ ซิลวา นักวิจัยศูนย์ไข้หวัดใหญ่แห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า จากการที่กรมฯร่วมมือกับศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค ประเทศสหรัฐอเมริกา (ยูเอส-ซีดีซี) ทำการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาและการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ไวรัสไข้หวัดใหญ่ พ.ศ.2551 โดยการเก็บตัวอย่างเชื้อที่ป้ายจากลำคอของผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่จำนวน 3,736 ตัวอย่าง จากโรงพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุขรวม 10 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ รพ.แม่สอด รพ.หนองคาย รพ.พระปกเกล้า รพ.หาดใหญ่ รพ.แม่จัน รพ.เชียงแสน รพ.เกาะช้าง รพ.กรุงเทพ-สมุย รพ.เกาะสมุย และศูนย์บริการสาธารณสุข 17 กทม.ระหว่างเดือนม.ค.-ธ.ค. 2551
นางจิรนันท์ กล่าวอีกว่า พบว่า ระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม ไม่พบเชื้อไข้หวัดใหญ่ดื้อยาโอเซลทามีเวียร์ เดือนเมษายน – มิถุนายน พบเชื้อดื้อยา 12.5% เดือนกรกฎาคม-กันยายน พบเชื้อดื้อยาร้อยละ 55 เดือนตุลาคม-ธันวาคม พบเชื้อดื้อยากว่า 90% และเดือนม.ค.2552 พบดื้อยาประมาณ 90%เช่นกัน โดยเมื่อนำเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มาแยกสายพันธุ์และวิเคราะห์หาสายพันธุ์ที่ดื้อยา ทำให้ทราบว่าเชื้อไวรัสดื้อยาที่แยกได้มี 16 สายพันธุ์ โดยเฉพาะเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอช1 เอ็น 1 ซึ่งเป็นสัญญาณที่น่าเป็นห่วงว่าการรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่ติดเชื้อเอช1 เอ็น 1 ด้วยยาโอเซลทามิเวียร์ไม่ได้ผลดีอีกต่อไป ดังนั้น แพทย์ควรติดตามข้อมูลเฝ้าระวังเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ดื้อยาอย่างต่อเนื่อง และใช้ประโยชน์จากข้อมูลนี้ในการวางแผนให้การรักษาและสั่งยาต้านไวรัสที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยสงสัยไข้หวัดใหญ่ต่อไป
นพ.ศุภมิตร ชุณห์สุทธิ์วัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยไข้หวัดนกรายใหม่ ทำให้ไม่มีข้อมูลว่าเชื้อมีการดื้อยา จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนการสต็อคยาจากยาโอเซลทามิเวียร์เป็นยาตัวอื่น ส่วนโรคไข้หวัดใหญ่จะไม่มีการให้ยาโอเซทามิเวียร์กับผู้ป่วยอยู่แล้ว ยกเว้นเฉพาะรายที่มีอาการรุนแรง โดยส่วนใหญ่จะเน้นการป้องกันด้วยการฉีดวัคซีน ซึ่งเชื้อไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้น วัคซีนที่นำมาใช้จะต้องเปลี่ยนแปลงทุกปีด้วย จึงไม่ต้องวิตกกังวลว่าจะมีการดื้อยาของไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนก
นพ. วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม(อภ.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบข้อมูลผลการวิจัยติดตามการดื้อยาและการเปลี่ยนแปลงสาย พันธุ์ไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่พบว่า ขณะนี้มีแนวโน้มเชื้อเอช1เอ็น 1 ที่ดื้อยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้การรักษาผู้ป่วยด้วยยาดังกล่าวอาจไม่ได้ผล ซึ่งอภ.ได้ยึดตามแนวทางขององค์การอามัยโลก ซึ่งจะเป็นผู้กำหนดว่า ควรใช้ยาตัวใดในการควบคุมโรคเป็นหลัก แต่หากพบว่ามีการดื้อยาก็ต้องเตรียมหายาต้านไวรัสตัวใหม่ ซึ่งอภ.มีหน่วยงานที่ศึกษาวิจัยเรื่องดังกล่าวโดยเฉพาะอยู่แล้ว ส่วนวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่นั้น ก็มีการนำเชื้อที่มีการระบาดในปีนั้นๆ มาผลิตเป็นวัคซีน ซึ่งไวรัสมีหลายสายพันธุ์ การผลิตวัคซีนจึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปทุกปี