ตาก – หมอชายแดนแม่สอดครวญ แรงงานต่างด้าวตกงานทะลักกลับพื้นที่ชายแดน แต่บางส่วนไม่ข้ามฝั่งกลับภูมิลำเนา เพิ่มภาระทางการแพทย์จนเข้าขั้นวิกฤต ต้องแบกภาระรักษาฟรีชาวพม่าพุ่งสูงขึ้นปีละกว่า 50 ล้านบาท
รายงานข่าวจากโรงพยาบาลชายแดนไทย-พม่า อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก แจ้งว่า ชาวพม่าเชื้อสายกะเหรี่ยง-มอญ และเชื้อสายต่างๆ ยังคงไปขอรักษาตัวที่โรงพยาบาลแม่สอด อำเภอแม่สอด อย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยวันละประมาณ 250-300 คน เป็นผู้ป่วยในวันละนับ 100 คนเช่นกัน ทำให้ทางโรงพยาบาลแม่สอดต้องแบกภาระรับผิดชอบในลักษณะผู้ป่วยอนาถาจำนวนหลายสิบล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
แพทย์หญิงกนกนาถ พิศุทธกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สอด กล่าวว่า ใน พ.ศ.2551 ทางโรงพยาบาลแม่สอดต้องแบกภาระรักษาบุคคลต่างด้าวที่ไม่มีเงินค่ารักษาพยาบาลมากถึง 50 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นปีละ 5-10 ล้านบาท จาก พ.ศ.2550 อยู่ที่ประมาณ ปีละกว่า 40 ล้านบาท ขณะที่ผู้ป่วยนอกทั้งชาวไทย และชาวพม่าเข้าไปรับการรักษาวันละ 1,200 คน แต่แพทย์ที่รักษามีเพียง 39 คน ซึ่งถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤติทางการแพทย์
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สอด กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มผู้ป่วยจะเพิ่มมากขึ้น เพราะปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้คนว่างงาน โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวตกงาน ขาดหลักประกันในการรักษาพยาบาล จะทำให้ทางโรงพยาบาลต้องเสียค่าใช้จ่ายสูญเปล่าเพิ่มอีก หากแรงานต่างด้าวไม่กลับไปภูมิลำเนา
“ทาง รพ.แม่สอด เคยได้นำเสนอปัญหาดังกล่าวกับสถาบัน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย THAILAND DEVELOPMENT RESEARCH INSTTTUTE FOUNDATION หรือ TDRI เรื่องการประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวในการเสียภาษี เพราะเป็นปัญหาใหญ่ของ รพ.ที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการที่เก็บได้ แต่ในฐานะที่เป็นแพทย์-พยาบาล ก็ต้องรักษาตามหลักสิทธิมนุษยชน”