“นวลพรรณ ล่ำซำ” ชื่อนี้หลายคนคงรู้จักกันดี ด้วยภาพลักษณ์ของผู้บริหารระดับสูงในธุรกิจประกันภัย และเป็นผู้นำเข้าสินค้าแฟชั่นแบรนด์เนม ยี่ห้อดังอาทิ แอร์เมส, เอ็มโพริโอ อาร์มานี แต่ ณ วันนี้กับภาระหน้าที่ล่าสุดในการเข้ารับตำแหน่ง “ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์”
สิ่งที่น่าติดตามคือการพลิกบทบาทงานครั้งนี้ “คุณแป้ง” จะมีแนวทางในการดำเนินงานที่ได้รับมอบหมายและช่วยแบ่งเบาภาระ “อิสสระ สมชัย” รมว.พม.ได้ไปถึงเป้ามากน้อยแค่ไหน
...และความท้าทายครั้งใหม่หลังการบริหารงานในรั้ว พม. มากว่า 2 สัปดาหห์ จะเป็นอย่างไรนั้น? วันนี้ลองมาดูกัน...
** ตัดสินใจเข้ามารับหน้าผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ พม.นานหรือไม่อย่างไร?
หลังจากที่ได้รับทาบทามก็ตัดสินใจอยู่นานกว่า 2 เดือน คิดว่าในเมื่อตนเองทำงานอยู่ในภาคธุรกิจ และเอกชนมานาน จึงมีความตั้งใจที่จะมาทำงานในภาครัฐดูบ้าง และ การได้เข้ามาทำงานในกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ก็ถือได้ว่าเป็นกระทรวงที่อยากจะทำอยู่แล้ว เพราะการทำงานที่นี่เป็นเหมือนการได้ทำบุญ เนื่องจากได้สัมผัส และแก้ปัญหาความทุกข์ยากให้แก่ประชาชนผู้เดือดร้อน ที่ถือได้ว่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญของชาติ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เหล่านี้เป็นเหมือนการวางรากฐานให้กับความมั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง ให้กับประเทศ ซึ่งเป็นงานที่ตั้งใจจะทำตรงนี้ให้ดีที่สุดอยู่แล้ว โดยก่อนหน้านี้ก็ได้มีโอกาสใกล้ชิดกับคนพิการ มาแล้วเมื่อต้องรับหน้าที่เป็นผู้จัดการทีมกีฬาคนพิการทีมชาติไทย ชุดเฟสปิกเกมส์ ปี 2549 และอาเซียนพาราเกมส์ ปี 2551 สำหรับปัจจุบันก็ยังได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดการฟุตบอลหญิงทีมชาติไทยด้วยเช่นกัน ดังนั้น เชื่อว่า จะสามารถดูแลงานด้านนี้ได้เป็นอย่างดี
** ที่ผ่านมา บริหารงานด้านองค์กรเอกชน แล้วต้องพลิกผันมาทำงานในส่วนของราชการนั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร? จากที่เคยบริหารงานด้านธุรกิจประกันชีวิตมาก่อน ซึ่งเป้าหมายหลักจะดูที่ผลกำไร และตัวเลขเชิงธุรกิจค่อนข้างมาก แต่เมื่อต้องมาทำงานในกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ที่ต้องมีการจัดสรรเงินรายได้เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่หน่วยงานต่างๆ ที่กระทรวงฯ รับผิดชอบ และกระจายลงสู่ประชาชนให้ได้มากที่สุด ดังนั้น การบริหารภาคเอกชก็จะคิดอยู่เพียงว่าจะทำอย่างไรจึงจะขายดี ได้ยอดขาย ผลกำไรตามที่วางเป้าหมายไว้ แต่การทำงานที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ นั้นเป็นเหมือนกับการทำงานเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งความยากลำบากในการทำงานก็แตกต่างกันคนละแบบ
** แล้วการทำงานส่วนไหนยากกว่ากัน?
(หัวเราะ)... ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ เพราะเพิ่งมาเริ่มทำงานที่นี่ได้ไม่นาน ซึ่งการทำงานในส่วนของกระทรวงฯ พม. นั้นเป็นเหมือนภาพใหญ่ที่ต้องอาศัยคนจำนวนมากในการขับเคลื่อนกลไกต่างๆ เพื่อให้ความสำเร็จเกิดขึ้นได้
** ในการบริหารงานภาคเอกชน ได้มีการนำหลักการดำเนินงานมาประยุกต์ใช้กับงาน พม. อย่างไรบ้าง?
จริงๆ แล้ว ในส่วนของการบริหารนั้นก็ไม่มีความแตกต่างกันมาก คือภาคเอกชนจะมีในส่วนของกรรมการบริหาร ผู้อำนวยการฝ่าย และกรรมการที่กำกับดูแลฝ่ายต่างๆ ที่ต้องช่วยกันระดมสมองเพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานของบริษัทโดยพุ่งเป้าไปที่ยอดขายเป็นหลัก ซึ่งการทำงานในกระทรวงฯ พม.ก็เหมือนกัน คือ เราต้องให้การเคารพในความคิดของข้าราชการประจำทุกคน เพราะข้าราชการที่นี่อยู่กับงานมานานกว่า และอยู่กับปัญหามาอย่างแท้จริง หลายๆ แนวทางก็มีการดำเนินการไว้อย่างดีแล้ว ดังนั้นการที่เข้ามาทำงานตรงนี้ก็จะได้นำความคิดเห็นของทุกคนที่เป็นประโยชน์มาปรับใช้ให้เข้ากับงานที่ทำ ซึ่งก็คล้ายๆ กันกับการบริหารบริษัทเอกชน ขณะเดียวกันในส่วนของงบประมาณก็ต้องมีการจัดสรรใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แก่องค์กร แก่ประชาชนด้วยเช่นกัน
** แน่นอนว่าการผลักดันงานส่วนราชการนั้นมีความยุ่งยาก ระบบมีความล่าช้า คิดว่าเป็นอุปสรรคต่อการผลักดันนโยบายหรือไม่?
มองว่าในทุกภาคส่วน และข้าราชการทุกคนก็พยายามทำงาน ปรับตัวให้มีการทำงานที่เร็วขึ้นอยู่แล้ว ซึ่งเรายังใหม่กับงานนี้อยู่มาก ก็ยังไม่แน่ใจว่าเมื่อต้องลงมือปฏิบัติจริงจะมีปัญหาหรือไม่ แต่ก็คิดว่า ไม่น่าจะมีปัญหาเพราะทุกคนมีการเตรียมความพร้อมอยู่แล้ว ดังนั้นงานที่ทำไม่น่าจะเกิดความล่าช้า
** มีแนวทางในการเร่งรัดนโยบายที่สำคัญในส่วนที่รับผิดชอบอย่างไร?
ถ้าเป็นเรื่องที่ดูแลโดยตรง ก็คงจะคุยกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบหน่วยงานให้มากขึ้น โดยงานที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มอบหมายให้กำกับ ดูแล คืองานด้าน สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.), สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.) และสถานธนานุเคราะห์ (โรงรับจำนำ) ซึ่งได้ทำการพูดคุย แลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้บริหาร ถึงสิ่งที่ต้องการจะผลักดันอยู่ส่วนหนึ่งแล้ว
** เรื่องเร่งด่วนที่จะเร่งรัดให้ดำเนินการภายในการกำกับดูแลมีอะไรบ้าง?
จากที่หน่วยงานที่ดูแลอยู่นั้น เรื่องที่ถือว่าเร่งด่วนที่สุดและต้องเร่งผลักดันคือนโยบายเรื่องเบี้ยยังชีพคนพิการ การสร้างงานให้คนพิการ ทั้งในเรื่องของสตรี ครอบครัว ก็มองว่าเรื่องที่ต้องทำเร่งด่วนที่สุดคือ การลดความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ต้องมีการเสริมสร้างความเข้าใจเพื่อสร้างครอบครัวให้มีความพร้อมเพื่อไปสู่สังคมที่เข้มแข็งได้
** ในฐานะที่เป็นผู้หญิงการลงพื้นที่พบปะ ชุมชน ชาวบ้าน แต่ละครั้งคิดว่าเป็นข้อได้เปรียบกว่าผู้ชายหรือไม่?
เป็นข้อดีเหมือนกันนะ... เพราะผู้หญิงนั้นจะมีความอ่อนโยน ละเอียดอ่อน และมีเข้าถึงได้ง่าย กว่าผู้ชายเมื่อได้ลงไปสัมผัสจริงๆ กับคนในพื้นที่ ดังนั้นคนที่ประสบปัญหา มีความทุกข์ร้อนก็จะเปิดใจกับเราถึงปัญหามากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับตัวเราเองด้วยว่าจะทำการเปิดกว้างกับเรื่องราวมากแค่ไหน และพร้อมที่จะดูแลให้ทั่วถึงหรือไม่
** มีหลายคนมองว่าเป็น “ไฮโซ”? แต่ก็ต้องดูแลงานเพื่อช่วยแก้ปัญหาความทุกข์ร้อนของประชาชนมีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง?
อืม...เพิ่งเริ่มทำงานจึงยังไม่พบปัญหา ส่วนในเรื่องของคำว่าไฮโซนั้น ต้องบอกไว้เลยว่าเนื่องจากธุรกิจที่ทำแต่เดิมเป็นธุรกิจเกี่ยวข้องกับการนำเข้าของแบรนด์เนม หลายคนจึงนึกว่าเป็นสาวไฮโซ แต่ความจริงแล้ว ก็เป็นคนปกติธรรมดาคนหนึ่ง...ค่ะ
** พม.ในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปทิศทางไหนบ้าง?
แน่นอนว่าสิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนคือการพยายามขับเคลื่อนโยบายต่างๆ ที่เป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรม มากขึ้น ในทุกๆ เรื่อง เช่น การสร้างสถานที่สิ่งอำนวยความสะดวกแก่คนพิการ ไม่ว่าจะเป็นในสถานศึกษา หน่วยงานราชการ ซึ่งการสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการนี้ต้องมีการผลักดันให้เกิดขึ้น และอีกหลายๆ เรื่องที่จะผลักดันเพื่อประโยชน์แก่ประชาชน ให้เข้าสู่การพิจารณาของ ครม.โดยเร็วที่สุด
** เมื่อพบกับความเครียดจากการทำงาน มีวิธีการผ่อนคลายอย่างไร?
หากต้องพบกับความเครียด ก็ต้องใช้การผ่อนคลายโดยการอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง แต่งานที่ทำอยู่ ณ ปัจจุบันนี้ก็ยังไม่พบว่ามีความเครียดเกิดขึ้นเลย...(หัวเราะ)
เรื่องโดย พงศ์เมธ ล่องเซ่ง