“อิสสระ” ขอทบทวนร่าง พ.ร.บ.ควบคุมขอทานฯ ก่อนเสนอ ครม.เร็วๆ นี้ นักวิชาการแนะช่วยกันรณรงค์ให้เห็นถึงความรุนแรงของแก๊งขอทาน เปรียบทำบุญกับขอทานเหมือนสร้างอาชญากรรมในอนาคต
วันนี้ (18 มี.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น.ที่โรงแรมปรินซ์พาเลช นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดการเสวนา “ทิศทางการแก้ปัญหาคนขอทานในสังคมไทย” จัดโดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยมีองค์กรสิทธิมนุษยชน นักวิชาการด้านกฎหมาย และนักสังคมสงเคราะห์เข้าร่วมเสวนากว่า 200 คน
โดยนายอิสสระกล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ... ที่ พม.ยกร่างใหม่เกิดข้อทักท้วงจากหลายฝ่ายรวมถึงนายกรัฐมนตรีที่ให้ถอนร่างก่อนเข้าสู่วาระประชุมครม.ให้ พม.ทบทวนอีกครั้งโดยเฉพาะประเด็นที่กำหนดให้ผู้ประสงค์จะทำการขอทานต้องแจ้งขึ้นทะเบียนกับเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและมีกำหนดคุณสมบัติผู้แจ้งไว้ในกฎมายนั้นเป็นการยอมรับขอทานเป็นอาชีพหนึ่ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว จึงต้องพิจารณาทบทวนให้รอบคอบ ที่สำคัญต้องคำนึงถึงผู้ที่แสวงหาผลประโยชน์จากการเป็นขอทาน รวมถึงคนต่างด้าว และต้องมีบทลงโทษที่ชัดเจน ซึ่งหลังจากได้ข้อสรุปที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับก็จะปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.อีกครั้งก่อนนำเสนอต่อ ครม.โดยเร็วที่สุด
ด้าน ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า อยากให้มีการรณรงค์ให้เห็นภาพถึงแก๊งค์ขอทานที่นำเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการมาเป็นขอทาน โดยคนที่ถูกหลอกให้ขอทานไม่ได้รับผลประโยชน์ แต่ได้รับผลกระทบมากมาย โดยเฉพาะที่น่าห่วงคือ เด็กที่จะก่อปัญหาระยะยาว เพราะมีการนำเด็กไทยและประเทศเพื่อนบ้านมาเข้าขบวนการ ทำให้เด็กไม่ได้รับการศึกษา เมื่อโตขึ้นก็ถูกทิ้งและรวมตัวก่ออาชญากรรม ค้ายาเสพติด ในส่วนของผู้สูงอายุหรือผู้พิการก็ถูกหลอกให้มาขอทานโดยอ้างจะพามาหาลูกหลานที่มาทำงานในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ ก็หลอกให้ต้องขอทานหาเงินก่อน หรือไม่ก็ถูกมอมยาเสพติดเพื่อไม่ให้หนี แก๊งขอทานเหล่านี้จึงน่ากลัว
“ต้องรณรงค์สร้างความเข้าใจให้กับสังคมเห็นถึงการทำบุญกับขอทานอาจจะเป็นการสร้างอาชญากรรมในอนาคต และต้องมีบทลงโทษอย่างหนักกับแก๊งขอทานที่ก่อปัญหา หรือแม้แต่พ่อแม่ที่นำลูกมาขอทานรวมถึงลูกหลานที่บังคับพ่อแม่ขอทานก็ต้องมีบทบัญญัติห้ามในกฎหมาย การแก้ปัญหาไม่ควรมองเฉพาะมิติทางกฎหมายแต่ต้องมองมิติการช่วยเหลือด้วย โดยเฉพาะรัฐควรสนับสนุนองค์กร หน่วยงานที่เข้ามาช่วยลดปัญหานี้ด้วยการให้เงินอุดหนุนบางส่วนช่วยเหลือด้วยเช่นกัน” ศ.วิริยะกล่าว