xs
xsm
sm
md
lg

ชำแหละ! “พ.ร.บ.ขอทาน”... ถูกทางหรือถอยหลังลงคลอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัญหาขอทานยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังต่อไปสำหรับสังคมไทย และดูเหมือนว่า ทุกวันนี้จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ด้วยเพราะมีขบวนการค้ามนุษย์ที่หากินบนความทุกข์ทรมานของคนอื่น เข้ามาเกี่ยวข้อง และนั่นจึงเป็นที่มาของ พ.ร.บ.ควบคุมขอทาน ที่หวังว่า จะใช้เป็นเกราะคุ้มกันและขจัดปัญหาดังกล่าวให้หมดไป

แต่ในขณะเดียวกัน เนื้อหาสาระของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ดูเหมือนจะเป็นการตอกย้ำ ซ้ำเติม ทำร้ายสังคมอย่างไม่รู้ตัว เพราะจากการพยายามนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) กี่ครั้ง กี่รัฐบาล ก็ถูกตีกลับ โดยเฉพาะครั้งสุดในการประชุม ครม.17 ก.พ.ที่ “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นายกรัฐมนตรี ติติงด้วยความเป็นห่วงว่า การจดแจ้งขึ้นทะเบียนขอทานนั้น จะกระทบต่อสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นคนหรือไม่ กระทั่งทำให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะผู้เสนอกฎหมายต้องนำกลับมาทบทวนและเปิดประชาพิจารณ์อีกครั้ง
 

** จวก! ยัดเยียดกะลา มีแต่ซ้ำเติมปัญหา
ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า การตีกลับมาพิจารณาใหม่ของ พ.ร.บ.ควบคุมขอทานเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เพราะจากที่ดูเนื้อหายังมีจุดอ่อนอยู่หลายประเด็น ได้แก่ 1.การยกระดับให้ขอทานเป็นอาชีพถึงขนาดระบุคุณสมบัติ เช่น กำหนดความพิการ ซึ่งดูแล้วอาจคิดได้ว่านี่เองเป็นการดูถูกศักดิ์ศรีความเป็นคน  2.การโยนความรับผิดชอบเรื่องนี้ให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้ง กทม. เทศบาล  อบต. และเมืองพัทยา ซึ่งผู้ที่จะขอทานต้องไปจดแจ้งตามที่ที่กล่าวมา และ อปท.จะเป็นผู้กำหนดชี้ขาด ว่า คนผู้นั้นเหมาะสมหรือไม่กับการเป็นขอทาน รวมทั้งเป็นผู้กำหนดถึงพื้นที่ขอทาน จำนวนวันในการขอทาน เรียกได้ว่ามีระเบียบขั้นตอน 
 
“ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครก็ทำได้ อปท.เองมีนักวิชาชีพ บุคลากรรองรับแล้วหรือยัง เพราะนี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ”

3.ขอทานที่เป็นขอทานจริงๆ ที่ไม่รวมขบวนการค้ามนุษย์ หรือแสวงหาผลประโยชน์ คนพวกนี้ส่วนใหญ่จะเป็นโรค สภาพจิตไม่สมประกอบ ก็ลองคิดตามดูว่าจะให้คนเหล่านี้มาขึ้นทะเบียนจะเป็นเรื่องยาก ลำบากแค่ไหน  และ 4.สมมติว่า ขอทานได้ แต่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดด้วย เช่น ต้องขอทานอย่างสุภาพ ไม่ก่อความรำคาญแก่ผู้คน ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามก็อาจถูกปรับถึง 500 บาท เป็นต้น

เช่นเดียวกับ “ณรงค์ ปฏิบัติสรกิจ” ประธานมูลนิธิคนพิการไทย ที่ให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า  ในอดีตคนยากจน คนพิการ ไม่มีการศึกษา สุดท้ายมาก็เป็นขอทาน แต่หลังๆ มานี้สังคมไทยเริ่มตระหนักถึงการพัฒนาสิทธิคนพิการ ผู้ด้อยโอกาสมากขึ้น มีกฎหมายหลายฉบับรองรับ คือ เรียกได้ว่าทั้งด้านสังคม การศึกษา การฝึกอาชีพ ดีขึ้นมาก กำลังเดินหน้าไปได้ด้วยดี แต่ก็จะมาถอยหลังลงคลองกับ พ.ร.บ.ควบคุมขอทานฉบับนี้เอง

“เดินไปคนละเรื่องเลย เพราะจะยิ่งทำให้คุณภาพชีวิตของคนพิการ คนด้อยโอกาสที่ต่ำอยู่แล้ว แย่ลงกว่าเดิม ไม่ต้องถึงขนาดกับตั้งพ.ร.บ.นี้ขึ้นมาเพื่ออนุญาตให้คนเป็นขอทานเลย ซึ่งในมาตรา 8(1) ของ พ.ร.บ.นี้มีเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุไว้ว่า ผู้ที่จะขึ้นทะเบียนเป็นขอทานจะต้องมีความพิการและทุพพลภาพ... ชี้ให้เห็นว่า คนที่คิดเสนอพ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่รู้ว่าจะจัดการ ดูแลคนพิการ คนด้อยโอกาสอย่างไร จึงต้องยัดเยียดอาชีพขอทานให้ ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง” ณรงค์ สะท้อนภาพ
 
** ป้องปราม “ค้ามนุษย์” สิ่งที่ควรทำ
หลากความเห็นที่ปฏิเสธ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ต่างก็มองตรงกันว่ามีแต่จะสร้างความล้าหลัง และยิ่งเป็นการซ้ำเติมคนพิการ คนด้อยโอกาสเพิ่มมากขึ้น โดยเห็นว่า แนวทางแก้ไขปัญหาไม่ควรอย่างยิ่งที่จะออกมาในรูปนี้ พร้อมทั้งได้เสนอแนวทางที่ควรจะเป็นเช่นกัน

ทั้งนี้ ประธานมูลนิธิคนพิการไทย เสนอความเห็นว่า  หากอยากมี พ.ร.บ.นี้จริงควรเปลี่ยนเป็นการคุ้มครองจะดีกว่า เพื่อป้องกันไม่ให้มีคนต่างด้าวเข้ามาหากินในประเทศ หรือการเสนอบทลงโทษสำหรับผู้ที่ทำตัวเป็นเครือข่ายค้ามนุษย์ที่นำขอทานมาใช้หากิน เพราะขอทานตามข้างถนนทุกวันนี้เป็นการค้ามนุษย์ชนิดหนึ่ง มีขบวนการนำคนต่างด้าวมาทารุณจนเกิดความพิการ นำคนแก่ เด็ก ขึ้นรถกระบะแล้วทิ้งไว้ตามจุดต่างๆ  เย็นก็มารับกลับ

ที่สำคัญคือ รัฐบาลควรทำประชาพิจารณ์ อย่าคิดเองทำเอง ต้องเอาหลายภาคส่วนเข้ามาระดมสมองเพื่อถกแนวทางแก้ปัญหา แต่ถึงอย่างไรการลงทะเบียนก็ไม่ใช่การแก้ปัญหาแน่นอน

“คนที่ออกมานั่งขอทาน เชื่อว่าพวกเขาเหล่านั้นมีศักยภาพในตัวเอง ช่วยตัวเองได้ระดับหนึ่ง หากช่วยตัวเองไม่ได้คงนอนอยู่บ้านจะสบายกว่า ทั้งนี้ก็ควรนำพวกเขาไปฝึกอาชีพ เปิดศูนย์ฝึกอาชีพในสายงานที่ตลาดต้องการ แล้วอาจจัดหางานรองรับในอัตราส่วนตามที่จะกำหนด ถึงแม้ว่าจะไม่มากก็ตาม อย่างนี้น่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุดกว่า” ประธานมูลนิธิคนพิการไทย แนะ

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่า กฎหมายฉบับนี้จะไม่มีข้อดีเอาเสียเลย ซึ่ง ดร.จิตติ ยกตัวอย่างให้ฟังว่า เรื่องของการแยกวณิพก คนเล่นดนตรีเปิดหมวก ออกจากขอทานอย่างชัดเจน เป็นสิ่งที่ดีเพราะทำให้พวกเขาสามารถทำได้ตามกฎหมาย ไม่ถูกจับ นอกจากนี้ยังบอกไว้ถึงโทษที่หนักหน่วงของขบวนการค้ามนุษย์ บังคับขู่เข็ญนำคนมาเป็นขอทาน ซึ่งจะเป็นการป้องปรามที่ดีทางหนึ่ง

...ถึงตรงนี้ คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดกันต่อไปว่า การที่ พม.ขอนำกฎหมายกลับมาทำประชาพิจารณ์อีกครั้ง โดยจะเชิญองค์กรที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ เข้ามาร่วมถกถึงทางออกที่ดีที่สุด ก่อนนำให้ ครม.พิจารณาต่อไปในอนาคตอันใกล้นั้น สุดท้าย พ.ร.บ.ควบคุมขอทานฉบับนี้จะออกมาอย่างสมบูรณ์ได้อย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น