xs
xsm
sm
md
lg

นร.ม.5 แห่สอบ GAT-PAT เผยติดขัดเด็กไม่เข้าใจ เหตุอ่อนประชาสัมพันธ์น้อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปิดสอบGAT-PAT รอบแรก นักเรียนสมัครสอบคึกคัก เผยเด็กไม่เข้าใจลงสมัครทุกวิชาทุกรอบ 31 คน ศธ.ยอมรับประชาสัมพันธ์น้อย เตรียมประสานมหาวิทยาลัยปรับเพิ่มวิชา เล็งจำกัดเฉพาะเด็ก ม.6 เข้าสอบ GAT-PAT ด้าน สทศ. ปรับสอบรอบ 2 เดือนกรกฎาคม ให้นักเรียนเลือกสนามสอบเอง พร้อมพิมพ์ชื่อและรหัสลงในกระดาษคำตอบ

วันที่ 14 มีนาคม นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อม ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เดินทางไปตรวจเยี่ยมการสอบความถนัดทางวิชาชีพหรือวิชาการ (PAT) ที่สนามสอบมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งมีการสอบวิชาความถนัดทางสถาปัตยกรรม (PAT 4) โดยในช่วงเช้า มีนักเรียนทั่วประเทศสมัครสอบ 24,808 คน และวิชาความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์ (PAT 3) ส่วนช่วงบ่าย มีนักเรียนสมัครสอบ 47,038 คน ซึ่งการสอบดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการสอบเพื่อนำคะแนนไปยื่นสมัครเข้ารับการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลาง (แอดมิชชั่น) ในปี 2553 โดยนักเรียนที่มาสอบส่วนใหญ่เป็นนักเรียนชั้น ม.5 ขึ้น ม.6 ในปีการศึกษาที่จะมาถึงนี้

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ในการสอบความถนัดทั่วไป (GAT) และความถนัดทางวิชาชีพหรือวิชาการ (PAT) ครั้งนี้ เป็นรอบที่ 1 จากทั้งหมดที่เปิดโอกาสให้สอบ 3 รอบในปีนี้ ซึ่งนักเรียนไม่จำเป็นต้องสมัครสอบทุกครั้งก็ได้ แต่ก็ปรากฏว่ามีนักเรียนจำนวน 31 คน สมัครสอบทุกรอบและทุกวิชา ยอมรับว่าอาจเป็นเพราะการประชาสัมพันธ์ยังน้อยเกินไป เพราะที่ผ่านมาเกรงว่าจะสับสนกับการสอบในระบบเดิม ทำให้นักเรียนยังไม่เข้าใจดีพอ นอกจากนั้นยังพบว่ามีกรณีสมัครสอบเป็นครอบครัวนามสกุลเดียวกัน 7 ครอบครัว โดยให้ผู้ปกครองมาสอบก่อนในรอบนี้ และลูกจะสอบในรอบหน้า

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวโน้มการสอบ GAT กับ PAT ในอนาคต  อยู่ระหว่างการพิจารณาของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ว่าต้องการให้ สทศ. จัดสอบเพิ่มเติมวิชาใดหรือไม่ หรือจะจำกัดให้เฉพาะนักเรียน ม.6 ขึ้นไปเท่านั้น เพื่อไม่ให้นักเรียน ม.5 ต้องกวดวิชามาสอบหรือไม่

นายชัยวุฒิ กล่าวด้วยว่า จากการที่สถาบันกวดวิชาหลายแห่งเปิดหลักสูตรติวเข้มหรือเก็งข้อสอบ GAT และ PAT ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วบางส่วนไม่สามารถเก็งข้อสอบได้ ดังนั้น หากผู้ปกครองหรือนักเรียนคนใดพบว่ามีการโฆษณาเกินจริงเกี่ยวกับการกวดวิชา หรือคิดว่าตนถูกเอาเปรียบ ให้ร้องเรียนมาที่กระทรวงศึกษาธิการได้ หรือจะไปร้องเรียนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้เช่นกัน เพราะถือเป็นการโฆษณาเกินความเป็นจริง

"ขอย้ำทางสทศ. ผู้จัดสอบ GAT - PAT ได้เตรียมนำข้อสอบทุกวิชาขึ้นเปิดเผยบนเว็บไซต์อยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องลงทุนไปลงเรียนกวดวิชาเพื่อให้ทราบแนวข้อสอบแต่อย่างใด"รมช.ศธ.กล่าว

ด้าน ศ.ดร.อุทุมพร กล่าวว่าจากการสอบ GAT-PAT ครั้งนี้ มีนักเรียนประมาณร้อยละ 10 ที่ถูกจัดให้สอบนอกเขตของตนเอง ทำให้ต้องเดินทางไกลขึ้น เพราะนักเรียนกลุ่มนี้มีปัญหาระหว่างขั้นตอนการสมัคร เช่น ธนาคารส่งชื่อมาล่าช้า จึงไม่สามารถเพิ่มชื่อเข้าไปในสนามสอบปกติได้ อย่างไรก็ตาม ในการสอบรอบหน้า เดือนกรกฎาคมและตุลาคมนี้ มีแนวคิดเตรียมจะเปิดโอกาสให้นักเรียน เลือกสนามสอบได้เอง เพื่อความสะดวกยิ่งขึ้น ขณะที่จะมีการพิมพ์ชื่อและรหัสประจำตัวผู้เข้าสอบลงไปบนกระดาษคำตอบด้วย เพื่อให้การตรวจรวมคะแนนรวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะที่ผ่านมามักมีปัญหาล่าช้ามาจากการระบายรหัสประจำตัว

ผู้อำนวยการ สทศ. กล่าวด้วยว่า อยู่ระหว่างหารือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับการรับตรงนิสิตในปีนี้ ที่จุฬาฯ ประกาศว่าจะพิจารณาใช้คะแนนสอบ GAT-PAT รอบ 2 ในเดือนกรกฎาคมเท่านั้น เนื่องจากไม่สามารถใช้คะแนนการสอบรอบ 3 ในเดือนตุลาคมได้ทัน แต่ สทศ. ได้รับปากว่า ในการสอบเดือนตุลาคมจะเร่งประกาศผลสอบให้ทันวันที่ 10 พฤศจิกายน เพื่อให้จุฬาฯ และมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ใช้ผลสอบไปรับตรงได้ ทำให้ทางจุฬาฯ ตกลงในเบื้องต้นแล้วว่า จะเปิดให้ใช้ผลสอบในรอบที่ 3 ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น