กทม.เตรียมทำโครงการ “ช้างยิ้ม” ส่งช้างบ้านกลับภูมิลำเนา เผย ระหว่างรอส่งต่อให้พักที่สวนรถไฟ-พื้นที่ทหาร สร้างรายได้ให้การท่องเที่ยว พร้อมสั่งเทศกิจจับปรับเต็มเพดาน 10,000 บาท หากพบช้างเร่ร่อน ส่วนแก้ปัญหาระยะยาวต้องแก้กฎหมาย ตั้งกรมคชสาร
นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผยภายหลังการหารือนางสาวโซไลดา ซาลวาลา กรรมการผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนช้าง และผู้ที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับการจัดการกับช้างเร่ร่อนในพื้นที่กทม.ว่า ขณะนี้ประเทศไทยเหลือช้างบ้านเพียง 2,600 เชือก จากเมื่อปี 2535 มีกว่า 4,000 เชือก โดยกระจายไปตามที่ต่างๆ เช่น สุรินทร์ พัทยา ลำปาง อยุธยา ภูเก็ต รวมถึงกทม. สร้างความเดือดร้อนรำคาญ และความเสียหายต่อทรัพย์สิน และยังเป็นการทารุณสัตว์อีกด้วย
ทั้งนี้ ในส่วนของ กทม.มีเตรียมจัดโครงการ “ช้างยิ้ม” โดยจะเร่งทำการสำรวจจำนวนช้างเร่ร่อน-ขอทานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ว่ามีทั้งหมดกี่เชือก พร้อมดำเนินการฝังไมโครชิพสำหรับช้างที่ไม่มีเอกสารหลักฐานบันทึกรูปพรรณช้างร่วมกับกรมปศุสัตว์ จากนั้นจะหาพื้นที่รองรับชั่วคราวก่อนการส่งช้างบ้านกลับถิ่นเดิมอาจเป็นสวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ ) หรือพื้นที่ของหน่วยทหารในกทม. ซึ่งอนาคตอาจจะทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวทำให้เกิดรายได้แก่เจ้าของอย่างเป็นระบบและถูกกฎหมาย
นอกจากนั้น ยังมีแผนกระจายไปยังสถานที่ท่องเที่ยวที่รองรับช้างเพื่อการท่องเที่ยว เช่น สวนนงนุช ปางช้างต่างๆ เป็นต้น ทั้งนี้จากการสำรวจคราวๆ มีช้างเร่ร่อนใน กทม.ประมาณ 200 เชือก ที่เดินหารายได้ในพื้นที่ กทม.ส่วนใหญ่มีสถานที่รกร้างว่างเปล่าเป็นจุดรวม เช่น บริเวณถนนพระราม 9 ถนนเลียบทางด่วนเอกมัยรามอินทรา ถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณถนนสุขุมวิทซอย 22
นายธีระชน กล่าวอีกว่า ขณะที่การดำเนินการจับกุมช้างและควาญที่นำช้างมาเดินเร่ร่อนในกทม.นั้น จะสั่งการไปยังสำนักเทศกิจและฝ่ายเทศกิจของเขตต่างๆ เคร่งครัดจับกุมผู้กระทำผิดจับ-ปรับโทษสูงสุดตามพ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2499 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2542 ซึ่งมีระวางโทษปรับ 10,000 บาทและจำคุก 6 เดือน
อย่างไรก็ตาม ในแผนระยาวจะต้องมีการประสานกรมธนารักษ์ เพื่อจัดสถานที่รองรับช้างเพื่อการท่องเที่ยว การจัดตั้งกรมคชสาร มาตรการเข้มงวดสำหรับจัดการผู้นำช้างมาเร่ร่อน รวมถึงจัดการปรับแก้กฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิก พ.ร.บ.สัตว์พาหนะ พ.ศ.2482 ที่ให้ช้างเป็นสัตว์พาหนะ หรือการปรับ พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ ปี พ.ศ.2535 ที่ระบุให้ช้างเป็นสัตว์คุ้มครองประเภท 1 ให้เป็นสัตว์สงวน เนื่องจากจำนวนช้างบ้านในประเทศไทยเหลือน้อยมาก เพียง 2,600 ตัวเท่านั้น
ด้าน น.ส.โซไรดา กล่าวว่า ปัจจุบันมูลนิธิเพื่อนช้างเป็นห่วงช้างที่เข้ามาเร่ร่อนอยู่ใน กทม.จำนวนกว่า 200 เชือกว่า อาจได้รับอันตรายจากอุบัติเหตุและอาการป่วยต่างๆ จึงต้องการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ จะช่วยให้ปัญหาการล่าลูกช้างป่าลดลงด้วยเนื่องจากธุรกิจเกี่ยวกับช้างมีผลประโยชน์มหาศาล ปีหนึ่งมีการล่าและนำลูกช้างป่าเข้าประเทศไทยผ่านชายแดนประเทศเพื่อนบ้านกว่า 200 เชือกก่อนกระจายไปตามพื้นที่ต่างของประเทศไทย ซึ่งในอนาคตอาจทำให้ช้างสูญพันธุ์ได้ จึงควรมีการพิจารณาแก้ไขข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย โดยรัฐบาลต้องทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพ
รายงานข่าวแจ้งว่า ปัญหาช้างเร่ร่อนที่เรื้อรังมานานนั้นเกิดจากมีขบวนการหากินกับช้างโดยปล่อยให้เช่าช้าง โดยผู้ให้เช่าช้างจะมีรายได้ถึงหลักสิบล้านต่อปี ขณะที่ควาญผู้เช่าช้างจะมีรายได้อยู่ในหลักแสนบาทต่อปี ตลอดจนมีการปั่นราคาซื้อขายช้างให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องถึงหลักล้านบาทต่อลูกช้าง 1 เชือกในปัจจุบัน ซึ่งมีนักการเมืองตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ดังกล่าวด้วย