xs
xsm
sm
md
lg

ทีละก้าวกับ “จาริกาสิกขาลัย” เดินเพื่อรับใช้พุทธศาสนาและสังคม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ห้องเรียนแสนกว้างกับผู้รู้เฉพาะทาง
หากพูดถึงการศึกษา ความเข้าใจของคนในยุคปัจจุบัน หลายคนมักจะคิดถึงตัวอักษร ตัวอาคาร และสิ่งปลูกสร้าง ตลอดจนหลักสูตรที่ชัดเจนและถูกกำหนดว่าปีใดต้องเรียนอะไรบ้าง ถ้าเป็นเด็กก็ต้องถูกกำหนดโดยผู้ใหญ่ คนโตก็ถูกกำหนดด้วยผู้เกิดก่อน แต่ไม่ใช่สำหรับแนวทางการศึกษาที่เรียกว่า “จาริกาสิกขาลัย” ซึ่งมุ่งเรียนรู้ด้วยการเดินทางไปหาแหล่งความรู้ด้วยตัวเอง กำหนดการเรียนการสอนด้วยตัวเอง ระบบการศึกษาที่ใช้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง

**ก่อเกิดจาริกาสิกขาลัย
พระมหานิคม คุณสัมปันโน ผู้ก่อตั้งจาริกาสิกขาลัย เล่าว่า เดิมทีทำงานเป็นพระบัณฑิตอาสาในชายแดนจังหวัดสุรินทร์ ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชน อย่างไรก็ตาม หลังทำงานไปได้ระยะหนึ่งก็ประสบกับปัญหาขาดบุคลากร และด้วยบทเรียนที่เคยส่งพระเณรไปเรียนในสถาบันสงฆ์ ซึ่งส่วนใหญ่ศึกษาจบแล้วไม่ได้ทำงานสืบต่อ ห่างจากชุมชนไม่ต่างจากระบบของฆราวาสที่การศึกษาปัจจุบันดึงเยาวชนออกจากท้องถิ่น ด้วยความรู้สึกเดียวกันจึงไม่มีความหวังกับระบบการศึกษา ดังนั้น จึงคิดระบบการศึกษาขึ้นมาใหม่ เรียกว่า จาริกาสิกขาลัย
พระมหานิคม คุณสัมปันโน ผู้ก่อตั้งจาริกาสิกขาลัย
ทั้งนี้ รูปแบบของจาริกาสิกขาลัยไม่ได้จำกัดกลุ่มเฉพาะพระสงฆ์ ฆราวาสก็สามารถร่วมเรียนได้ด้วยเช่นกัน โดยการเรียนรู้ทั้งหมดจะเกิดจากตัวผู้เรียนว่าอยากรู้อะไร ก็เริ่มพูดคุยกัน ร่วมกันร่างออกแบบหลักสูตร

“บางคนเรียนเกษตร บางคนอยากเรียนภาวนา บ้างก็อยากเรียนรู้การเดินป่า เราก็จัดให้ อยากเรียนรู้จากใคร อยากเจอตัวใครมานาน ชื่นชม เราก็จัดให้ หรือถ้าเกิดอยากเรียนรู้ ไม่ใช่เฉพาะกับคน แต่อาจจะเป็นสัตว์ เป็นสถานที่ที่อยากไป อยากไปดูม้า พระธาตุ เราก็จัดให้เพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ ให้คนที่เรียนได้มีโอกาสคิด” พระมหานิคม เล่าความเป็นไป

** เรียนแบบจาริก คุณค่าหาใช่กระดาษแผ่นเดียว
พระมหานิคม ให้นิยามว่า จาริกาสิกขาลัยเป็นกลุ่มผู้เรียนที่เดินทางไปฝังตัวอยู่กับผู้รู้ ฝากตัวเป็นศิษย์ และร่วมเรียนรู้ เป้าหมายเพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ภายในหรือปรับองศาการมองชีวิตของผู้เรียน โดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับ “เงิน” ซึ่งเป็นปัจจัยใหญ่ในระบบการศึกษาในปัจจุบันที่เอาทุนเป็นตัวตั้งต้น

“อาตมา มองว่า วันนี้จะเข้าเรียนได้ต้องเสียเงิน เข้าโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยก็ต้องเป็นระบบธุรกิจ เราซื้อความรู้ แต่ไม่เคยสร้าง ปรัชญาของเราก็คือการจาริกซึ่งหมายถึงการเดินไป เที่ยวไป หากเป็นพระสงฆ์ก็เพื่อไปปฏิบัติศาสนกิจรับใช้ศาสนา แต่คนที่เข้ามาเรียนในจาริกาสิกขาลัยต้องเข้าใจพื้นฐานของการจาริกก่อนว่าจะเข้ามาเรียนเพื่ออะไร ซึ่งถ้าเป็นฆราวาสก็คือเพื่อนำความรู้ไปรับใช้ผู้อื่น”

สำหรับวิธีการเรียนของจาริกาสิกขาลัย ไม่มีห้องเรียน หนทางที่เดินผ่านทุกที่คือห้องเรียน เหนื่อยก็หยุดพัก สนทนาแลกเปลี่ยนสะท้อนความคิดนั่นคือการประเมินผลสอบ ไม่มีใครบอกว่าสอบตก มีเพียงมโนสำนึกเท่านั้นที่บอกว่า ตัวเราเปลี่ยนไปเพียงไหนแล้ว
ทีละก้าว
พระมหานิคม ยกตัวอย่างบางวิชาที่ใช้ปรับวิธีคิดบางอย่างของผู้เรียน คือ การเดินทางออกไปหาผู้รู้ หรือเรียกอีกอย่างว่า “แสวงหาแรงบันดาลใจ” โดยเงื่อนไขของการเดินทาง คือ ต้องไปด้วยการโบกรถ ทำเช่นนี้จนกว่าจะถึงเป้าหมายอันเป็นสถานที่ซึ่งผู้รู้พำนักอยู่ เพื่อรอให้ศิษย์มาฝากตัว หากนึกภาพตามก็จะพบว่าไม่ต่างจากฉากในนิทานพื้นบ้านไทย หรือหนังจีนกำลังภายในเท่าใดนัก เพียงแต่พาหนะเปลี่ยนจากม้าและเกวียน เป็นเครื่องยนต์เท่านั้น

“ระหว่างที่เดินทางมีสิ่งที่เราพบมากมายให้เราเรียนรู้ระหว่างทาง ให้เขาพิจารณาใจตัวเอง เพราะอะไรถึงโบกรถได้หรือไม่ได้ จากนั้นก็จะมาสรุปบทเรียนกันว่าเราพบอะไร ใจของเราเป็นอย่างไร ช่วยกันสะท้อน จะเห็นว่าไม่ว่าเด็ดใบไม้หรือโบกรถก็เป็นเรื่องที่เรียนรู้ได้”

“รูปแบบการศึกษาไม่ต้องใช้เงินซื้อหา ไม่ต้องลงทะเบียน การเดินทางเข้าหาครูผู้สอนเต็มไปด้วยความอ่อนน้อม แม้ว่าครูคนนั้นที่ดั้นด้นไปหาคือคนธรรมดา มีความเป็นอยู่แบบชาวบ้าน เสื้อเก่ากางเกงขาด แต่บทสนทนาจะทำให้เรารู้ว่าในความธรรมดามีความไม่ธรรมดาซ่อนอยู่ ครูของเรามีความรู้โครงสร้างโลก และโครงสร้างสังคม นี่เองจะช่วยสร้างตระหนักของการดำรงอยู่ของมนุษย์แต่ละคน”พระมหานิคมให้ข้อคิด

พระมหานิคม บอกว่า หลังจากผ่านการเรียนที่เรียกว่าตามแต่ใจ ครบ 2 ปีแล้ว ต่างคนต่างแยกย้ายไปรับใช้สังคมตามแต่เจตนาของแต่ละคน ไม่มีการวัดผลปลายปี ไม่มีใบประกาศเกียรติคุณการผ่านหลักสูตร แม้มีคนเคยเสนอว่าน่าจะทำใบประกาศ แต่สิ่งนั้นกลุ่มจาริกาสิกขาลัยกลับเห็นว่าการให้กระดาษไม่มีประโยชน์อันใด เพราะสิ่งที่จะประกาศความดีหาใช่กระดาษหากแต่เป็นการนำความรู้ที่มีไปใช้ต่อ ไปสอนคนอื่นต่อ หรือไปคิดต่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์แก่ตัวเองและรับใช้ผู้อื่น นั่นต่างหากคือ การประกาศความดี

“จบไปแล้วก็ใช้ความรู้ไปรับใช้ผู้อื่น หรือองค์กรที่ทำงานประโยชน์ต่อผู้อื่น ถ้าเขารับเฉพาะคนที่มีใบประกาศ เราก็ต้องฝึกคิดเองเพื่อเป็นต้นธาร สร้างงานว่าจะทำอะไรเพื่อสังคมได้บ้าง”

หลายปีที่ผ่านมาสำหรับผู้ก่อตั้งจาริกาสิกขาลัย จากเป้าหมายที่มีเพียงการสานงานต่อทางด้านสังคมและหาทายาทผู้สืบทอดการรับใช้พระพุทธศาสนาและสังคม ปรากฏว่ารอยเท้าต่อรอยเท้าของเหล่าผู้เรียนที่ผ่านมาแต่ละปี แต่ละเดือนที่เวียนเข้ามามากบ้างน้อยบ้าง ไม่เพียงแต่ช่วยให้กลุ่มพระสงฆ์และสามเณรกลุ่มหนึ่งได้ร่วมเรียนรู้เรื่องราวระหว่างทางเท้าเท่านั้น แต่ผลพลอยได้คือมีเครือข่ายผู้รู้แต่ละแขนงที่กระจายตัวอยู่ในที่ต่างๆ

“ผู้รู้อาจจะมีอยู่ทั่วไป แต่คนที่พร้อมจะเสียสละมีที่ไหนบ้างเพราะเราไม่มีค่าตอบแทน อีกประการหนึ่งที่เรารู้สึกได้ก็คือนักเรียนของเรามีความเปลี่ยนแปลง เพราะแต่ละคนที่เข้ามายังไม่มีใครออกจากวงจรการรับใช้สังคม แต่ละคนที่เข้ามาเรียนยังทำงานเพื่อสังคม โดยไม่มีผลตอบแทน การันตีใบประกาศในตัวตนแต่ละคนได้เป็นอย่างดี” พระมหานิคม กล่าวทิ้งท้ายกึ่งสรุปบทเรียนให้ตนเอง

สำหรับผู้ที่รู้สึกว่าอยากแสวงหาแรงบันดาลใจ โดยเชื่อว่า การก้าวเดินด้วยการพิจารณาโลกด้วยการจาริกไปหาผู้รู้ สามารถสอบถามก่อนเข้าบทเรียนได้ก่อนที่ Jarikasikkha@hotmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น