xs
xsm
sm
md
lg

ตะลึง!! พระสงฆ์อีสานเสี่ยงอ้วนลงพุง-เบาหวาน-ไขมันในเส้นเลือด สูบบุหรี่ 5-6 มวน/วัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
เผยผลสำรวจพบพระสงฆ์อีสานเสี่ยงโรคไขมันในเส้นเลือด-เบาหวาน ขณะที่เจ้าอาวาส เสี่ยงภาวะอ้วนลงพุง เหตุฆราวาสถวายอาหารไขมันสูง สสส.จับมือ สธ.อุบลฯ เล็งดูแลสุขภาพพระไทย 4 มิติ


วันนี้ (12 มี.ค.) นพ.บัญชา พงษ์พานิช ผู้ประสานงานและสนับสนุนการจัดงานสร้างสุข 4 ภาค สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงการจัดงานสร้างสุขในภาคอีสาน ระหว่างวันที่ 20-21 มีนาคมว่า การจัดงานสร้างสุขของสสส. เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนของคนทำงานสร้างเสริมสุขภาพในแต่ละภูมิภาคถึงความรู้และประสบการณ์ในการทำงานปีละ 1 ครั้ง ซึ่งในปีนี้ได้เลือกจ.อุบลราชธานี ภายใต้หัวข้อ “ตุ้มโฮมภูมิปัญญา สร้างสุขทางอีสาน” หรือการขับเคลื่อนสุขภาพของคนอีสานด้วยภูมิปัญญา โดยพบว่า หัวใจของเรื่องสติปัญญาจะอยู่ที่ผู้นำทางศาสนา ซึ่งถือเป็นแหล่งยึดเหนี่ยวของคนในสังคม

“ท่ามกลางกระแสพระเณรเกย์ในจังหวัดภาคเหนือ แต่ยังมีพระที่เป็นแบบอย่างทางความคิดของคนในสังคม ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน โดยจ.อุบลราชธานี ถือเป็นจังหวัดที่มีวัดมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศ คือ จำนวน 1,425 แห่ง รองจากจ.นครราชสีมา 1,675 วัด จึงได้มีการศึกษาโดยละเอียดว่า พระที่ดูแลทุกข์สุขของสังคมไทยมีสุขภาพทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และปัญญาเป็นอย่างไร เพื่อนำสู่การทำงานสร้างเสริมสุขภาพในกลุ่มพระสงฆ์ และขยายผลต่อไปยังชุมชนใกล้เคียง เพราะพระเป็นแม่เหล็กทางปัญญาให้กับคนในสังคมที่สำคัญ”นพ.บัญชา กล่าว

นพ.วุฒิไกร มุ่งหมาย นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า จากการศึกษาของศูนย์อนามัย จ.อุบลราชธานี ถึงสุขภาพกาย ใจ สังคม และปัญญาของพระภิกษุสงฆ์ จำนวน 396 รูป จาก 80 วัด ระหว่างวันที่ 13-25 มกราคม 2552 พบว่า พระสงฆ์ในจ.อุบลราชธานีมีสุขภาพทางสังคมและปัญญาที่ดี แต่ต้องได้รับการดูแลในด้านสุขภาพกายและจิตใจ โดยเฉพาะพระภิกษุสงฆ์ในกลุ่มอายุ 60 ขึ้นไป ตำแหน่งเจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ซึ่งพบว่ามีเส้นรอบเอวสูงกว่าค่าปกติ คือสูงกว่า 90 เซนติเมตร อยู่ในภาวะอ้วนลงพุงถึงร้อยละ 42 สำหรับโรคที่พบมากที่สุดคือ ความดันโลหิตสูงและเบาหวาน เนื่องจากการฉันภัตตาหารส่วนใหญ่เป็นอาหารประเภทไขมันสูงถึง ร้อยละ 52 เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน อาหารทอดหรือผัด ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะไขมันในเลือด นอกจากนี้ยังพบว่า พระสงฆ์สูบบุหรี่ ถึงร้อยละ 55 เฉลี่ยวันละ 5-6 มวน

นพ.วุฒิไกร กล่าวว่า ในด้านสุขภาพทางจิต พบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในระดับเท่ากับคนทั่วไป แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า พระสงฆ์ อายุระหว่าง 20-30 ปี และ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 16 ที่มีความสุขน้อยกว่าคนทั่วไป ทั้งนี้การทำงานสร้างสุขในจ.อุบลราชธานี จะลงลึกในเรื่องของกาย ใจ สังคม และปัญญา โดยมิติทางกาย ผ่านการรักษาเบาหวานด้วยสมุนไพร ของวัดประชาเทพนิมิตร อ.สำโรง มิติทางใจ ผ่านการปฏิบัติธรรมเพื่อพัฒนาจิตและพัฒนางาน มิติทางสังคมในโครงการบ้านเปลี่ยนวิถี คืนคนดีสู่สังคม วัดป่าบ้านแก้ง อ.เดชอุดม และมิติทางปัญญา ในวัดมงคลโกวิทาราม อ.เมือง
กำลังโหลดความคิดเห็น