สถาบันธัญญารักษ์ กรมการแพทย์ เผย ผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัดรักษาประเภทยาเสพติด พบติดยาบ้า อันดับหนึ่ง พร้อมนำนวัตกรรมบำบัดรักษายาเสพติด เสริมสร้างจิตสำนึก สร้างทัศนคติที่ดีต่อตนเอง ครอบครัว สังคม จากผลการประเมินพฤติกรรม พบผู้ป่วยอยู่ในระดับดี หวังจับมือบุคลากรสายงานยาเสพติดทั่วไทยร่วมคืนคนดีสู่สังคม
วันนี้ (5 มิ.ย.) ที่สถาบันธัญญารักษ์ จังหวัดปทุมธานี นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการมหกรรมนำเสนอผลงานการพัฒนาคุณภาพและนวัตกรรมการบำบัดฟื้นฟูของสถานบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดทั่วประเทศ รองรับปฏิบัติการ “รวมพลังประชาไทย พ้นภัยยาเสพติด” ว่า ในปี พ.ศ.2546-2550 มีผู้ป่วยยาเสพติดเข้ารับการรักษาที่สถาบันธัญญารักษ์ รวม 29,096 คน ประเภทยาเสพติดที่เสพมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ยาบ้า สุรา บุหรี่ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเพื่อนชวน อยากทดลอง สนุกสนาน และมีปัญหา
ดังนั้น สถาบันธัญญารักษ์ กรมการแพทย์ จึงได้จัดโครงการดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ ในการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ความคิดนอกกรอบ รวมถึงสร้างความเข้าใจในกระบวนการพัฒนาคุณภาพการให้บริการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยยาเสพติดทุกระบบทั่วประเทศ ครอบคลุมทั้งระบบสมัครใจ บังคับ และต้องโทษ โดยมีบุคลากรสายงานยาเสพติด ทั่วประเทศ จำนวน 400 คน เข้าร่วมโครงการ โดยจัดให้มีการบรรยายพิเศษหัวข้อ นวัตกรรมการจัดการกับคุณภาพงานยาเสพติด และการนำเสนอผลงาน จำนวน 35 ผลงาน อาทิ นวัตกรรมชีวิตใหม่ที่จัดทำโดยสถาบันธัญญารักษ์ โดยเสริมสร้างแนวคิดปลูกจิตสำนึกรักบ้านเกิด มีกลุ่มเป้าหมายคือผู้ป่วยที่ติดยาเสพติดแบบคุมตัว ไม่เข้มงวดระยะฟื้นฟูสมรรถภาพ ระยะเวลาดำเนินงาน 120 วัน (4 เดือน) โดยใช้รูปแบบการฟื้นฟูสมรรถภาพเข้มข้นทางสายใหม่ FAST Model คือ การให้ครอบครัวมีส่วนร่วม มีกิจกรรมทางเลือกให้เหมาะสมตามสภาพความเป็นจริง มีกระบวนการช่วยเหลือตนเองด้านความฉลาดทางอารมณ์และใช้ชุมชนบำบัด
สำหรับวิธีการดำเนินงานคือให้ผู้ป่วยดูวีซีดี จำนวน 5 เรื่อง เพื่อเสริมสร้างทัศนะคติที่ดีต่อตนเอง ครอบครัว สังคม มีทักษะชีวิตที่ดี มีความรับผิดชอบ กำหนดเป้าหมายชีวิต กล้าเผชิญปัญหารักความก้าวหน้า ควบคุมอารมณ์ มีทักษะในการปฏิเสธตนเองและผู้อื่นที่จะนำตนไปสู่ทางเสื่อมของการเสพยาเสพติด ตลอดจนการบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากการประเมินผลพบว่า มีผู้ป่วยผ่านเกณฑ์การประเมินพฤติกรรมและทักษะ ชีวิตอยู่ในระดับดี ในปี 2549 ร้อยละ 87.24 และ ปี 2550 ร้อยละ 94.36 นอกจากนี้ยังมีผลงานอีกมากมายที่หลายหน่วยงานทั่วประเทศจัดทำขึ้น เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วยยาเสพติด
ทั้งนี้ ในวันที่ 6 มิถุนายน นี้ จะมีพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) ตามข้อตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือด้านการพัฒนาและรับรองคุณภาพ สถานบำบัดรักษายาเสพติดทุกระบบ (ระบบสมัครใจ ระบบบังคับบำบัด ระบบต้องโทษ) ระหว่างปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต อธิบดีกรมคุมประพฤติ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เลขาธิการ ป.ป.ส.และผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (พรพ.) เพื่อให้ทุกหน่วยงานร่วมกันพัฒนาศักยภาพและคุณภาพการบริการ สร้างหลักประกันให้ผู้ป่วยยาเสพติดได้รับบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐานที่ดีต่อไป