มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เผย บ.บุหรี่จูงใจให้วัยรุ่นหญิงสูบบุหรี่มากขึ้น พบร้อยละ 10.2 เริ่มสูบตั้งแต่อายุน้อยกว่า 12 ปี ร้อยละ 40 สูบทุกวันระบุหญิงไทยสูบบุหรี่ถึง 500,000 คน เสียชีวิต 5,000 กว่าคนต่อปี โดยพิษบุหรี่ทำให้อายุสั้น เป็นวัยทองก่อนกำหนด เสี่ยงมะเร็งปอดและปากมดลูก
วันนี้ (6 มี.ค.) นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวในการเสวนา “ทำอย่างไรไม่ให้วัยรุ่นหญิงไทยสูบบุหรี่มากขึ้น” เนื่องในวันสตรีสากล ว่า จากการสำรวจปัจจุบันพบว่าอัตราการสูบบุหรี่ของหญิงไทยมีประมาณ 500,000 คน ชายไทย จำนวน 10 ล้านคน คิดเป็นอัตรา 1 ต่อ 20 และพบว่าชายเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ 35,390 คนต่อปี หญิงเสียชีวิต 5,793 คน ซึ่งการสูบบุหรี่ยังพบว่าทำให้อายุขัยของชายสั้นลง 14.7 ปี หญิง 12.6 ปี ทั้งนี้ จากการสำรวจการติดบุหรี่พบว่า การติดบุหรี่จะต้องเริ่มก่อนอายุ 25 ปี ฉะนั้นกลุ่มเป้าหมายของการติดบุหรี่ในขณะนี้คือ วัยรุ่น และมีแนวโน้มในอนาคตจะเป็นผู้หญิงเพิ่มมากขึ้น
นางสถาพร จิรัตนานนท์ ผู้ประสานงานโครงการรู้เท่าทันกลยุทธ์บริษัทบุหรี่ กล่าวว่า ปัจจุบันจำนวนผู้หญิงที่สูบบุหรี่ยังน้อย จึงเป็นเป้าหมายของบริษัทบุหรี่ที่ใช้การเปลี่ยนแปลงทัศนคติและความเชื่อมเพื่อจูงใจ รวมทั้งออกผลิตภัณฑ์บุหรี่ให้เหมาะกับผู้หญิงทั้งสีสันภายนอก กลิ่น ทั้งยังจูงใจให้เชื่อว่าการสูบบุหรี่ทำให้รูปร่างผอมเพรียว ซึ่งสื่อผ่านทางภาพยนตร์
รศ.ธราดล เก่งการพานิช จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่วัยรุ่นหญิงไทย อายุ 13-25 ปี จำนวน 3,093 คน พบว่า วัยรุ่นหญิงเริ่มสูบบุหรี่อายุต่ำกว่า 12 ปีคิดว่าร้อยละ 10.2 มีการสูบเกือบทุกวันร้อยละ 42.1 แต่พบว่าวัยรุ่นส่วนใหญ่ร้อยละ 92.4 รู้ว่าสูบบุหรี่แล้วจะเป็นมะเร็งปอด ร้อยละ 84.9 ทำให้ฟันเหลือง ร้อยละ 84 ทำให้ถุงลมโป่งพอง
ศ.นพ.สุรศักดิ์ ธานีพานิชสกุล คณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างในหญิงตั้งครรภ์ 1,600 รายทั่วประเทศ พบว่าร้อยละ 1.2 ที่ยังสูบุหรี่แม้ตั้งครรภ์อยู่ สาเหตุสำคัญมาจาก อยากทดลอง ร้อยละ 5.5 ตามเพื่อน ร้อยละ 50 ความเครียด ร้อยละ 40 คาดว่าในสภาวะเศรษฐกิจที่มีการเลิกจ้างงาน อาจทำให้กลุ่มหญิงตั้งครรภ์เกิดความเครียดวิตกกังวล ซึ่งเป็นสาเหตุจูงใจให้สูบบุหรี่ได้ง่าย ส่วนผลกระทบขณะตั้งครรภ์คือ มีโอกาสแท้งถึงร้อยละ 25 รกเกาะต่ำเสี่ยงต่อการตกเลือดได้ น้ำหนักเด็กแรกเกิดน้อย 200-250 กรัม พัฒนาการทางสมองช้า และทำให้ผิวไม่สวย เกิดวัยทองเร็วกว่ากำหนด และเกิดมะเร็งปากมดลูก