xs
xsm
sm
md
lg

“จตุจักรมิดไนต์” ตัวช่วยคนยาก! ในยามขาดแคลน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
รายงานพิเศษ โดย...สาริน จันทะรัง

หลังประกาศเปิดตัวโครงการจตุจักรมิดไนต์ ตามนโยบาย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อย ไปพร้อมกับการกระตุ้นเศรษฐกิจในยุคข้าวยากหมากแพง ค่าแรงแสนถูก ไล่ปลดพนักงานเป็นว่าเล่น ก็ได้รับการตอบรับอย่างถล่มทลาย เพราะมีประชาชนให้ความสนใจมาลงทะเบียนเพื่อจับสลากเกือบ 8,000 คน เพื่อลุ้นรับสิทธิขายเสื้อผ้า อาหาร-เครื่องดื่ม ไปจนถึงสินค้าเบ็ดเตล็ด ทั้งที่แผงค้ามีแค่ 447 แผง ได้สิทธิ์ขายเฉพาะวันศุกร์เพียง 4 วันเท่านั้น ซึ่งตัวเลขผู้มาลงทะเบียนย่อมสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจบ้านเราย่ำแย่แค่ไหน และประชาชนกำลังต้องการตัวช่วยเพื่อให้พ้นจากภาวะวิกฤตนี้อย่างเร่งด่วน!!!
 
“ศิริพร ตั้งดำรงทรัพย์”
อดีตเจ้าหน้าที่มาร์เก็ตติ้ง ที่ผันตัวเองมาเป็นแม่ค้าเสื้อผ้าในวัยเพียง 25 ปี ระบุว่า ศุกร์แรก (20 ก.พ.) ที่เริ่มขายเป็นเหมือนการทดลองตลาดเพราะคนที่มาเดินส่วนใหญ่จะมาดูแบบ มาสอบถามราคามากกว่าแต่ศุกร์ที่สอง (28 ก.พ.) ดีขึ้นอาจเป็นเพราะตรงกับสิ้นเดือนพอดีจึงมีคนมาเดินที่ตลาดนัดมากขึ้น

ทั้งนี้ ศุกร์แรกกว่าจะขายได้ก็ปาเข้าไปเกือบ 3 ทุ่มแล้ว โดยขายได้เพียงสร้อยคอ 1 เส้น และชุดเดรส 1 ชุดเท่านั้น แต่ก็ถือว่าคุ้ม เพราะเมื่อเทียบกับค่ารักษาความสะอาดที่ต้องจ่ายให้กับกทม.แค่ 100 บาทแค่ครั้งเดียว ต่างจากที่ตนเองไปเช่าที่ตามตลาดนัดย่านออฟฟิศต้องจ่ายวันละ 250 บาทและขายได้แค่ 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ที่นี่ขายได้ตั้งแต่ 6 โมงเย็นถึงเที่ยงคืน  
 
“ตลาดนัดจตุจักรเป็นตลาดที่ทุกคนรู้จัก และโดยเฉพาะโครงการจตุจักรมิดไนต์เป็นตลาดที่ไม่มีค่าเช่า ซึ่งคนที่ซื้อสิ้นค้ามาขายเพื่อตลาดนี้โดยตรง หรือเป็นผู้ค้าที่ขายตามตลาดนัดนำสินค้าที่มีอยู่มาขาย หากขายได้ถือว่าคุ้มแล้วแล้ว ไม่เสียเวลาแต่เราต้องทำให้เห็นว่าสินค้าของเรามีจุดเด่นอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการขายมากขึ้น ซึ่งเสื้อผ้าของพี่จะเน้นการออกแบบเอง ตัดเย็บเอง ซึ่งทำให้ไม่เหมือนร้านอื่น ไม่มีตามแหล่งค้าส่งและราคาก็สามารถต่อรองได้ แต่สิ่งที่อยากฝากให้ทาง กทม.นำไปพิจารณาคือการเพิ่มแผงค้าให้มากขึ้น หรือจัดหาพื้นที่อื่นเพิ่มเติม เพราะมีคนมาจับสลากเยอะมาก และการจับสลากรอบต่อไปก็จะมาลุ้นรับสิทธิอีกครั้งแน่นอน”
 

คำบอกเล่าของแม่ค้าเสื้อผ้าดีไซน์ตัวเอง ไม่ต่างอะไรกับพ่อค้าเสื้อยืดเด็กแนววัย 19 ปี จากแผนก ปวช.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ “ศุภวิชญ์ ศรีวงศ์ ” ที่ระบุว่า มาขายที่นี่คุ้มมากค่าใช้จ่ายถูก เพราะแค่สัปดาห์แรกที่รับเสื้อยืดมาขายจำนวน 20 ตัว เหลือกลับบ้านแค่ 4 ตัวเท่านั้น ซึ่งลงทุนไป 1,000 บาท ขายได้กำไรกว่า 200 บาท ดังนั้น ในการจับสลากครั้งหน้าตนจะชักชวนเพื่อนๆ มาร่วมแน่นอน เพราะจะได้ใช้เวลาว่างในช่วงปิดเทอมให้เป็นประโยชน์ด้วย
 
ด้าน “นพวัน เลิศสมบัติศิริ” เจ้าร้านแฟรนไชส์วาฟเฟิลบนสถานีรถไฟฟ้าอโศก ที่หันมาเอาดีเป็นแม่ค้าขายข้าวของสารพัดอย่าง จนกระทั่งเป็นแม่ค้าข้าวไข่เจียวอาหารยอดนิยมในทุกพื้นที่ที่ตลาดนัดจตุจักรมิดไนต์ ระบุว่า ถ้าให้พูดกันตรงๆ 2 อาทิตย์ที่ได้ขาย ยังไม่คุ้มหรอก เพราะไม่ได้รวมค่าอุปกรณ์ค่าแรงต่างๆ แต่หากถามว่าคุ้มทุนกับค่าวัตถุดิบที่เราซื้อมาหรือไม่ ก็ถือว่าคุ้ม แม้จะได้กำไรไปไม่กี่ร้อยบาท เมื่อเทียบกับยุคเศรษฐกิจแบบนี้ เพราะเมื่อก่อนร้านวาฟเฟิลที่ตนซื้อแฟรนไชส์มาในยุคที่เศรษฐกิจดีขายได้วันละ 4,000 บาท แต่ปัจจุบันลดลงกว่าครึ่งขายได้ 1,500-1,600 บาท ก็ถือว่าหรูแล้ว
 

ส่วน “สมรัก แย้มดอนไพร” พนักงานฝ่ายการตลาดวัย  25 ปี ที่ถอดชุดสาวออฟฟิศมารับบทแม่ค้า “ไก่อารมณ์ดี” ชี้ชัดว่า การขายที่นี่มีความเสี่ยงแน่นอน เพราะไม่รู้ว่าเราจะสามารถจับสลากเพื่อรับสิทธิ์แผงค้าในครั้งต่อไปได้หรือไม่ ทำให้ต้องคาดคะเนเอาว่าจะต้องเอาสินค้ามาลงเท่าไหร่พร้อมๆ กับดูทุนที่มีอยู่ด้วยเพื่อไม่ให้เหลือเก็บ ซึ่งหากครั้งหน้าจับไม่ได้ และมีสินค้าเหลือ ก็จะหาพื้นที่ด้านหน้าตลาดเพื่อขายของแน่นอน
 
ด้านคู่เพื่อนซี้ “พรพิมล วันซื่อ” และ “พนิดา ชุ่มนิกาย” ที่มาเดินตลาดนัดจตุจักรมิดไนต์เป็นครั้งแรก เปิดเผยความรู้สึกว่า สินค้าที่นำมาจำหน่ายราคาไม่แพงมาก เป็นตลาดที่น่าเดิน ซึ่งพวกตนซื้อของไปแล้วตกคนละพันกว่าบาท อย่างไรก็ตาม อยากให้มีร้านค้ามากกว่านี้โดยเฉพาะร้านขายเสื้อผ้า
 
ขณะที่ “อรุณ ศรีจรูญฎ" รักษาการผู้อำนวยการตลาดนัดกรุงเทพมหานคร ระบุว่า กทม.เตรียมจะเพิ่มแผงค้าใหม่อีกจำนวน 100 แผง บริเวณตั้งแต่ประตูทางเข้าจากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินกำแพงเพชรมาจนถึงหน้ากองอำนวยการตลาดนัดที่เปิดเป็นแผงค้าในขณะนี้ โดยจะเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เพราะต้องจัดเวรยามประจำเพื่อดูแลไม่ให้มีคนเข้าร้านค้าประจำในตลาดนัดจตุจักรอยู่แล้ว ก็ควรที่จะนำพื้นที่ตลอดแนวนี้มาทำเป็นแผงค้า

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ผู้ค้าประจำในตลาดนัดจตุจักรได้ติติงมาว่า คนที่มาลงทะเบียนจับสลากล้วนแต่เป็นคนมีฐานะทั้งนั้น แต่ตามข้อกำหนดทาง กทม.ห้ามแค่เพียงผู้ค้าในตลาดนัดจตุจักรเท่านั้นที่ไม่สามารถรับสิทธิ์ตรงนี้ได้

“ผมคิดว่า ถ้าเขาเป็นคนมีเงินจริงก็คงไม่มาสู่กระบวนการนี้ เขาจะยอมเสียเวลาครึ่งค่อนวัน และแข่งกับคนอีกหลายพันเพื่อให้ได้สิทธิ์นี้หรือ อย่างอาหารจับสลากผู้มีสิทธิ์แค่ 40 ราย แต่มีมาลงทะเบียนกว่า 2,000 ราย ขณะที่จุดประสงค์ของผู้ว่าฯ กทม.คือ ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเราก็สามารถตอบโจทย์ได้แม้จะไม่สามารถช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนได้ทั้งหมด”
 
รักษาการ ผอ.ตลาดนัด กทม.เปิดเผยด้วยว่า จากการสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้บริการตลาดนัดจตุจักรมิดไนต์ พบว่า ส่วนใหญ่มีความพอใจทั้งเรื่องราคา คุณภาพ ความน่าสนใจของสินค้า และจำนวนแผงค้า แต่สิ่งที่อยากให้ทางเราปรับปรุง คือ สถานที่ในการจัดที่แออัดเกินไป ควรจัดสถานที่ให้กว้างกว่านี้ และควรเพิ่มตลาดนัดกลางคืนไปจนถึงวันอาทิตย์ และเพิ่มเวลาการขายให้กับผู้ค้ามากขึ้นจนถึงกับอยากให้มีโครงการนี้ตลอด 
 
และนี่ก็เป็นการบ้านที่คณะผู้บริหาร กทม.จะต้องนำไปพิจารณาว่าจะสามารถตอบสนองความต้องการของพวกเขาได้มากน้อยแค่ไหน เพราะนั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับจุลภาคเท่านั้น.... 
กำลังโหลดความคิดเห็น