ครม.ไฟเขียวคืนวัตถุโบราณ 7 ชิ้น ให้กัมพูชา วธ.เตรียมแถลงข่าว พร้อมเปิดให้ประชาชนและผู้สนใจเข้าชม ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พรุ่งนี้ ก่อนทำพิธีส่งมอบให้เขมร
วันนี้ (24 ก.พ.) นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบการส่งคืนวัตถุโบราณ 7 ชิ้นให้กับกัมพูชา ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอ ประกอบด้วย เศียรเทพ หรือเทวดา 1 ชิ้น และเศียรอสูรหรือยักษ์ 6 ชิ้น มีรายละเอียดพอสังเขปตามรายงานประกอบการตรวจพิสูจน์โบราณวัตถุและศิลปวัตถุ โดยที่ปรึกษาและคณะกรรมการตรวจพิสูจน์ กำหนดอายุสมัย กำหนดค่าทรัพย์สิน และประเมินราคาของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ สิ่งเทียมโบราณวัตถุและสิ่งเทียมศิลปวัตถุ
ดังนี้ ชิ้นที่ 1 เศียรเทวดา สูง 86 ซม.ศิลปะเขมรแบบบายน ราวพุทธศตวรรษที่ 18 ทำจากหินทราย ลักษณะเป็นเศียรประติมากรรมรูปบุรุษ สวมกะบังหน้า เกล้าพระเกศาทรงกรวย สวมกุณฑลที่พระกรรณทั้งสองข้าง พระพักตร์เหลี่ยม พระเนตรเบิก ชิ้นที่ 2 เศียรยักษ์หรืออสูร สูง 66 ซม.ศิลปะเขมรแบบบายน ราวพุทธศตวรรษที่ 18 ทำจากหินทราย เป็นเศียรยักษ์หรืออสูร ใบหน้าค่อนข้างกลม สวมกะบังหน้าเป็นเครื่องประดับศีรษะ ที่พระกรรณกุณฑลรูปดอกไม้ นัยน์ตาโปน หน้าตาดุร้าย
ชิ้นที่ 3 เศียรยักษ์ หรืออสูร สูง 60 ซม.เป็นศิลปะเขมรแบบบายน ราวพุทธศตวรรษที่ 18 ทำจากหินทราย เป็นเศียรยักษ์ หรืออสูร ใบหน้าค่อนข้างกลม สวมกระบังหน้าเป็นเครื่องประดับศีรษะ ที่พระกรรณสวมกุณฑลรูปดอกไม้ หน้าตาดุร้าย ชิ้นที่ 4 เศียรยักษ์ หรืออสูร สลักจากหินทราย สูง 71 เซนติเมตร เป็นศิลปะเขมรแบบบายน ราวพุทธศตวรรษที่ 18 ทำจากหินทราย เป็นเศียรยักษ์ หรืออสูร ลักษณะใบหน้าค่อนข้างกลม สวมกะบังหน้าเป็นเครื่องประดับศีรษะ ที่พระกรรณสวมกุณฑลดอกไม้ นัยน์ตาโปน หน้าตาดุร้าย ซึ่งมีสภาพชำรุดส่วนด้านล่างของเศียรหักหายไป
ชิ้นที่ 5 เศียรยักษ์และอสูร สูง 78 ซม.เป็นศิลปะเขมร แบบบายนราวพุทธศตวรรษที่ 18 ทำจากหินทรายลักษณะใบหน้าค่อนข้างกลม สวมเครื่องประดับศีรษะ ที่พระกรรณสวมกุณฑลรูปดอกไม้ นัยน์ตาโปน หน้าตาดุร้าย สภาพส่วนหัวชำรุด บางส่วนของเครื่องประดับศีรษะหายไป ชิ้นที่ 6 เศียรยักษ์ หรืออสูร สลักจากหินทราย สูง 75 เซนติเมตร เป็นศิลปะเขมร แบบบายน ราวพุทธศตวรรษที่ 18 ลักษณะใบหน้าค่อนข้างกลม สวมเครื่องประดับศีรษะ ที่พระกรรณสวมกุณฑลรูปดอกไม้ นัยน์ตาโปน หน้าตาดุร้าย สภาพส่วนหัวชำรุด บางส่วนกะเทาะหักหายไป ชิ้นที่ 7 เศียรยักษ์ หรืออสูร สลักจากหินทราย สูง 81 เซนติเมตร เป็นศิลปะเขมร แบบบายน ราวพุทธศตวรรษที่ 18 ลักษณะใบหน้าค่อนข้างกลม สวมเครื่องประดับศีรษะ ที่พระกรรณสวมกุณฑลรูปดอกไม้ นัยน์ตาโปน หน้าตาดุร้าย สภาพชำรุด ช่วงตอนล่างของใบหน้าหักหายไป
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ปลัด วธ.กล่าวว่า เนื่องจากการส่งมอบโบราณวัตถุดังกล่าวเป็นที่สนใจจากสื่อมวลชน และประชาชน จึงได้มอบหมายให้ กรมศิลปากรจัดแถลงข่าวรายละเอียดเกี่ยวกับโบราณวัตถุทั้งหมดในวันพรุ่งนี้ (25 ก.พ.) และจะจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จนกว่าจะมีพิธีส่งมอบอย่างเป็นทางการให้ประเทศเขมร ส่วนการเชิญผู้นำประเทศกัมพูชามารับมอบนั้น จะมีการหารือกับกระทรวงต่างประเทศอีกครั้ง
ทั้งนี้ การที่ วธ.เสนอเรื่องนี้ให้ที่ประชุม ครม.เห็นชอบ ภายหลังจากกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด กต 0904/79 ลงวันที่ 15 มกราคม ที่ลงนามโดยนายกษิตภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการ กต.ถึงรัฐมนตรีว่าการ วธ.เรื่องการส่งวัตถุโบราณคืนให้กัมพูชา หนังสือมีใจความว่า นายกษิต มีกำหนดเยือนกัมพูชาระหว่างวันที่ 25-26 มกราคม 2552 เพื่อหารือทวิภาคีด้านต่างๆ และคาดว่า ฝ่ายกัมพูชาจะหยิบยกกรณีการส่งวัตถุโบราณคืนให้แก่กัมพูชามาหารือกับฝ่ายไทย ดังนั้น กต.ได้เรียนข้อมูล และข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว 4 ข้อ ดังนี้ 1.เดือนมกราคม 2545 กรมศุลกากร แจ้งว่า มีการจับกุมสิ่งของที่มีลักษณะคล้ายวัตถุโบราณ จำนวน 50 ชิ้น และต่อมาสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย แจ้งว่า วัตถุโบราณดังกล่าวเป็นของกัมพูชา จำนวน 43 ชิ้น
2.วันที่ 25 ธันวาคม 2549 นาย Khim Sarith รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและวิจิตรศิลป์กัมพูชา เดินทางมาเยือนไทย เพื่อหารือกับผู้แทนกรมศิลปากร และ วธ.เกี่ยวกับการส่งคืนวัตถุโบราณ 43 ชิ้นดังกล่าว ผลสรุปในเบื้องต้นเห็นว่า มีวัตถุโบราณ 18 ชิ้น ที่น่าจะเป็นของกัมพูชา และ หากกัมพูชาพิสูจน์ได้ไทยยินดีคืนให้ ดังนั้น ไทย จึงขอให้กัมพูชาส่งหลักฐานเพิ่มเติม เพื่อให้ไทยนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอ อนุมัติก่อนส่งคืนวัตถุโบราณคืน โดยเมื่อเดือนมกราคม 2551 กต.ได้รับแจ้งจากกรมศิลปากรว่า กัมพูชาส่งหลักฐานให้พิจารณา 7 ชิ้น
3.วันที่ 3 มิถุนายน 2551 วธ.ได้เสนอเรื่องต่อ ครม.เพื่อพิจารณาเรื่องการส่งวัตถุโบราณ 7 ชิ้น คืนให้กัมพูชา โดย กต.ให้ความเห็นสนับสนุนตามที่ วธ.เสนอ แต่เมื่อวันที่ 9 ก.ค.2551 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แจ้งว่า วธ.มีหนังสือขอถอนเรื่องดังกล่าวจากการพิจารณาของ ครม.เนื่องจากเกิดข้อถกเถียงระหว่างไทย และกัมพูชา กรณีปราสาทพระวิหาร และ 4.สถานการณ์ระหว่างไทย และกัมพูชา กำลังพัฒนาไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้น ดังนั้น หากไทยสามารถส่งคืนโบราณวัตถุจำนวน 7 ชิ้น ให้กัมพูชาได้ในช่วงการเยือนของรัฐมนตรีว่าการ กต.จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมความสัมพันธ์ และความเข้าใจระหว่างรัฐบาล และประชาชนของทั้งสองฝ่ายให้ดีขึ้น