“มาร์ค” เดินทางร่วมประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ที่จุฬาฯ แนะปรับแอดมิชชันให้ง่ายขึ้น ในการรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา ในปี 2554-2555 พร้อมระบุให้คืนสิทธิ์เด็กเอเน็ตกรณีที่มีปัญหากับระบบการชำระเงิน ส่วนที่ไม่ทำตามระเบียบก็ต้องช่วยเหลือเยียวยาเช่นกัน แถมยาหอมรับปากดูแลพัฒนาด้านงบประมาณและบุคคลากร ด้านอธิการบดีจุฬาฯ รับข้อเสนอพิจารณา ชี้การเปลี่ยนระบบต้องปูพื้นฐานก่อน 3-4 ปี
วันนี้ (14 ก.พ.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมสามัญที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ครั้งที่ 1 ที่อาคารจามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งในการประชุมดังกล่าว นายอภิสิทธิ์ได้เสนอต่อทปอ.และสกอ.ว่า การรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (แอดมิชชัน) ระบบในปีการศึกษา 2553 ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะได้ดำเนินการไว้แล้ว แต่ในปี 2554 และ 2555 ต้องดูว่าจะต้องปรับปรุงทั้งหมดอย่างไร ดังนั้น ก่อนที่จะมีการปรับปรุงควรทำความเข้าใจกับเด็กก่อน เพระอาจจะเกิดแรงต้าน แต่ยืนยันว่าจะต้องปรับแน่นอน
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกรัฐมนตรีได้รับปากว่าจะให้การช่วยเหลือเรื่องในเรื่องงบประมาณ บุคลาการทางการศึกษา การพัฒนาปรับปรุงระบบการศึกษา งบการวิจัย ด้วย
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวฝากถึงอธิการบดีทุกมหาวิทยาลัยว่า กรณีปัญหาการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง (เอเน็ต) ว่าถือเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องแก้ไขโดยฝากหลักการนำไปใช้ คือ เด็กที่มีความตั้งใจที่จะศึกษาต่อ แต่มีปัญหาเรื่องระบบการชำระเงินขอให้คืนสิทธิ์ให้ ส่วนกรณีที่ไม่เป็นไปตามระเบียบขอให้การช่วยเหลือด้วยแต่ไม่อย่าให้ขัดกฎกติกาหรือไม่กระทบต่อเด็กที่ทำถูกต้องตามระบบ ที่สำคัญคือระบบการคัดเลือกหากปล่อยปละละเลยไป ยิ่งจะทำให้เกิดวิกฤติโดยเฉพาะระบบเก่า ที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่ามีปัญหา ทำให้เด็กที่เข้ามาศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยไม่สามารถเรียนต่อได้จนจบ เช่น คณะวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์
“การจัดสอบความถนัดทั่วไป (GAT) และความถนัดเฉพาะด้าน/วิชาการ (PAT) เพื่อใช้เป็นคะแนนในการสอบแอดมิชชันในปี 2553 มีจุดมุ่งหมายให้เด็กได้ศึกษาได้อย่างต่อเนื่อง แต่โรงเรียนบางแห่งมาตรฐานการศึกษาไม่เหมือนกัน หากจะให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) มาออกข้อสอบทั้งหมดก็อาจจะเป็นปัญหา” นายกรัฐมนตรีกล่าว พร้อมฝากถึงอธิการบดี และ สกอ.ควรจัดระบบการรับเด็กศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาให้ง่ายขึ้น
ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าจะนำข้อเสนอของนายกฯ ไว้พิจารณาอย่างไรก็ตาม ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะมาถึง ได้มีการหารือในที่ประชุม ทปอ.ถึงเรื่องดังกล่าว แต่หากจะทำอะไรควรมีการปูพื้นฐานก่อน 3-4 ปี