xs
xsm
sm
md
lg

“กษมา” ลั่นฟังประชาพิจารณ์ก่อนเคาะแจกเงิน-คูปองค่าตำรา ชุด นร.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
“กษมา” แจงราคาตำรา-ชุดนักเรียน” จะแจกคูปอง-เงิน ขอฟังเสียงจากเวทีประชาพิจารณ์พรุ่งนี้ ส่วนวิธีการจัดซื้อให้เป็นดุลยพินิจของโรงเรียน

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ สพฐ.) อธิบายเหตุผลเลือกราคาหนังสือเรียนตามปกหนังสือขององค์การค้า ลด 20% ว่า ต้นฉบับตำราเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ แต่ละครั้งจะมีสำนักพิมพ์เอกชนประมาณ 10 สำนักพิมพ์ เข้ามามีส่วนร่วมในการปรับเนื้อหา อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ต้นฉบับแล้ว ศธ. มอบให้องค์การค้าเป็นผู้ดำเนินการจัดพิมพ์ พร้อมกำหนดสเปก สำหรับราคาจะดูเหมาะสม ดูจากความหนาว่ามีจำนวนกี่หน้า ชนิดของกระดาษ (ปรูฟ ปอนด์ กระดาษถนอมสายตา) ความกว้างยาว พิมพ์กี่สี จำนวนเล่ม ค่าดำเนินการพิมพ์ เพลต ภาษีบรรจุหีบห่อ ค่าส่วนลด เป็นต้น จากนั้นถึงจะมาตั้งราคาว่าหนังสือเรียนเล่มนี้เท่าไหร่ถึงจะคุ้มทุน สำหรับต้นฉบับเดียวกัน สำนักพิมพ์เอกชน 10 แห่ง สามารถดำเนินการและตั้งราคาได้เอง เราควบคุมเพียงเนื้อหาว่าถูกต้องเท่านั้น

ยกตัวอย่าง คณิตศาสตร์ ป.1 ขององค์การค้า ราคา 52 บาท ความหนา 288 หน้า กระดาษปรู๊ฟ พิมพ์ 2 สี ขณะที่สำนักพิมพ์เอกชน ราคา 49 บาท ความหนา 267 หน้า กระดาษปรู๊ฟ พิมพ์ขาวดำ อีกอย่างหนึ่งคณิตศาสตร์ 2 เล่มนี้มีขนาดต่างกัน

“หนังสือเรียนจะซื้อขององค์การค้าหรือสำนักพิมพ์เอกชนก็ได้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของโรงเรียน ต้องมาเทียบราคากันเล่มต่อเล่ม รวมถึงคุณภาพด้วย หากศึกษาในรายละเอียดแล้วไม่ได้แพงกว่าของเอกชน”

คุณหญิงกษมา กล่าวด้วยว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่าจะรั่วไหล หนังสือเรียนบางเล่มจะมีการเปลี่ยนปกนั้น ขณะนี้ สพฐ.ได้ส่งรายชื่อหนังสือเรียนไปยังโรงเรียนทุกแห่งทั่วประเทศ หรือดูจากเว็บไซต์ของ สพฐ.โดยจะมีการรูปเล่มหนังสือพร้อมทั้งแจกแจงรายละเอียดว่า หนังสือเล่มนี้ มีกี่หน้า พิมพ์ด้วยกระดาษอะไร พิมพ์กี่สี ราคาเท่าไหร่ รายละเอียดเหล่านี้สามารถนำไปเทียบกับของเอกชนได้ว่าราคาแพงหรือถูก อย่างไรก็ตาม รายการที่โรงเรียนจัดซื้อ ซื้อราคาเท่าไหร่ และต้องผ่านคณะกรรมการของสถานศึกษา ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) จะดูตรงนี้ด้วย

ถามว่า สพฐ.สามารถกำหนดสเป็กให้บริษัทเอกชนพิมพ์ได้หรือไม่ คุณหญิงกษมา อธิบายว่า หากปฏิบัติอย่างนั้นเป็นการควบคุมมากเกินไป จะไม่ใช่เปิดเสรีสื่อตำราเรียนอย่างแท้จริง

คุณหญิงกษมา กล่าวถึงชุดนักเรียนว่า มีบริษัทที่ผ่านมาตรฐาน มอก. อยู่ 36 บริษัท ทั้งนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่ของ สพฐ.ลงไปสำรวจราคาจาก 10 บริษัท อย่างชุดระดับอนุบาล มีราคาตั้งแต่ 125-300 บาท กำหนดราคา 150 บาท ระดับประถมศึกษา มีราคาตั้งแต่ 180-420 บาท กำหนดราคา 180 บาท ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มีราคาตั้งแต่ 225-500 บาท กำหนดราคา 225 บาท ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มีราคาตั้งแต่ 120-250 บาท กำหนดราคา 250 บาท หากนำไปเทียบกับราคาชุดนักเรียนของกรุงเทพฯ ราคาไม่ต่างกัน

สำหรับการจัดซื้อนั้น เคยมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 46 อย่างไรก็ตาม ส่วนกลางหรือ สำนักงานเขตพื้นที่จะไม่จัดซื้อ อย่างไรก็ตาม ได้ตั้งวงเงินจัดซื้อหนังสือเรียน 4,203 ล้านบาท ชุดนักเรียน 3,158 ล้านบาท ส่วนวิธีการจัดซื้อขณะนี้ยังไม่ได้กำหนด คาดว่ามี 2 แนวทาง แจกคูปองหรือเงิน ซึ่งจะขอฟังความคิดเห็นจากเวทีประชาพิจารณ์ พรุ่งนี้( 30 ม.ค.) ร.ร.สตรีวิทยา โดยเชิญสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กรมบัญชีกลาง เข้าร่วมด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น