เตือนกินหอยแมลงภู่นึ่งนาน ขายตลาดนัด เสี่ยงอาหารเป็นพิษกว่า 88% โอกาสพบเชื้อมากกว่าหอยนึ่งทันที 11.4 เท่า ด้าน สธ.เผยแนวโน้มโรคระบาดปี 2552 มี 6 กลุ่มโรค หัด-คางทูม, อาหารเป็นพิษ, ไข้เลือดออก, ไข้หวัดใหญ่, ฉี่หนู, เอดส์-หนองใน
วันนี้ (26 ม.ค.) ที่ รร.มิราเคิล แกรนด์ ในการสัมมนาระบาดวิทยาแห่งชาติ ครั้งที่ 20 นางอรุณ บ่างตระกูลนนท์ ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ขอนแก่น กระทรวงสาธารณสุข ได้นำเสนอผลการศึกษา เรื่อง “การปนเปื้อนเชื้อโรคอาหารเป็นพิษในหอยแครงและหอยแมลงภู่พร้อมบริโภค”
โดยจากการสุ่มตัวอย่างหอยแมลงภู่นึ่งทันที หอยแมลงภู่นึ่งไว้แล้ว หอยแครงลวกทันที และหอยแครงลวกไว้แล้ว ที่จำหน่ายในห้างสรรพสินค้า 10 แห่ง จำนวน 20 ตัวอย่าง ตลาดนัด 10 แห่ง 24 ตัวอย่าง และร้านอาหาร 10 แห่ง 17 ตัวอย่าง รวม 61 ตัวอย่าง พบว่า หอยแมลงภู่นึ่งไว้แล้วที่จำหน่ายที่ตลาดนัดพบเชื้อโรคอาหารเป็นพิษมากถึง 88.9% หอยแครงที่ลวกไว้แล้วที่จำหน่ายทั้ง 3 แห่ง พบเชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษทุกตัวอย่าง ทั้งนี้ หอยแมลงภู่นึ่งไว้แล้วมีโอกาสพบเชื้อมากกว่าหอยแมลงภู่นึ่งทันที 11.4 เท่า ประชนชนจึงควรบริโภคหอยแมลงภู่และหอยแครงที่ผ่านการให้ความร้อนที่เหมาะสม และปรุงสุกใหม่ๆ
ขณะที่ นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการคาดการณ์แนวโน้มการระบาดของโรคที่มีการเฝ้าระวังในปี 2552 แบ่งออกเป็น 6 กลุ่มโรค คือ 1.โรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ได้แก่ โรคหัดจะยังคงเกิดการระบาดต่อเนื่องในกลุ่มประชากรวัยผู้ใหญ่ตอนต้นประมาณ 20-24 ปี หากไม่เคยป่วยมาก่อน หรือไม่ได้รับวัคซีน จะพบการระบาดในสถานที่ที่มีประชากรวัยเดียวกันอยู่รวมกันหนาแน่น อาทิ มหาวิทยาลัย หอพัก เรือนจำ ค่ายทหารเกณฑ์ โดยเฉพาะในจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง โดยระหว่างเดือน ม.ค.-ก.พ.และเดือน พ.ค.เป็นระยะเวลาที่เสี่ยงต่อการระบาด ส่วนโรคคางทูมอาจเกิดได้บ่อยครั้งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีการสร้างโรงเรียนอนุบาลขึ้นใหม่โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและนำเด็กจำนวนมากในวัย 2-6 ปีมาเรียนรวมกัน
2.โรคระบบทางเดินอาหารและน้ำ โดยเฉพาะโรคอาหารเป็นพิษจะเกิดมากขึ้น เนื่องจากการปนเปื้อนสารพิษและสารเคมีต่างๆ ทั้งที่เกิดจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือการจงใจเพื่อเป็นการแต่งสี แต่งรูปหรืออื่นๆ 3.โรคติดต่อนำโดยแมลง เช่น โรคไข้ปวดข้อออกผื่น หรือโรคชิกุนกุนยา ที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค คาดว่า การระบาดจะยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและแพร่กระจายไปยังภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศไทย โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนที่มียุงลายชุกชุมมากขึ้น สำหรับโรคไข้เลือดออกยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดการป่วยการตาย ทั้งนี้ ทั้งสองโรคนำโดยยุงลายเช่นเดียวกัน การป้องกันยุงลายให้เข้มข้นจะได้ประโยชน์ช่วยป้องกันและควบคุมทั้งสองโรค
4.โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยเฉพาะโรคฉี่หนูอาจมีการระบาดของโรคในพื้นที่เดิมๆ ที่มีการประสบภัยน้ำท่วมซ้ำซาก และพื้นที่ใหม่ที่ไม่เคยเกิดการระบาดมาก่อน โรคสเต็ปโตค็อกคัส ซูอิส เป็นอีกโรคหนึ่งที่มีแนวโน้มว่าขนาดของปัญหายังจะไม่ลดลง โดยเฉพาะในจังหวัดทางภาคเหนือ เนื่องจากยังมีการรับประทานเนื้อหมูและเลือดแบบสุกๆ ดิบๆ 5.โรคไข้หวัดใหญ่ ยังต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ทั่วโลก และ 6.โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และโรคเอดส์ เช่น โรคหนองใน แผลริมอ่อน และกามโรคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะ 2-3 ปีนี้