xs
xsm
sm
md
lg

“ชัยวุฒิ” ย้ำ สกอ.อุดโหว่แอดมิชชัน-เน้นผลิตบัณฑิตตรงตลาดงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์
“ชัยวุฒิ” กำชับ สกอ.อุดช่องโหว่ระบบแอดมิชชันใหม่ปี 2553 หวั่นสอบ GAT, PAT วุ่นเหมือนครั้งแรกที่มีการสอบ O-net, A-net ยังย้ำให้ผลิตบัณฑิตให้ตรงกับตลาดแรงงาน

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับนายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาว่า ตนได้สอบถามปัญหาต่างๆ รวมถึงการเตรียมการสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลางการรับนิสิต นักศึกษา หรือ แอดมิชชันซึ่งเด็กที่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จะนำคะแนน A-net และ O-net ไปสมัครสอบแอดมิชชัน ในช่วงเดือนเมษายนนี้

อย่างไรก็ดี ทปอ.ได้มอบหมายให้ สกอ.ดำเนินการรับสมัครและคัดเลือกนักศึกษาเข้าเรียน แต่ในปี 2553 ทปอ.จะเป็นผู้รับสมัครและคัดเลือกนักศึกษาเองด้วยระบบแอดมิชชันใหม่ โดยวิธีการสอบจะเปลี่ยนจากสอบ A-net มาเป็นการสอบวัดความถนัด (General Aptitude Test GAT และ Professional Aptitude Test PAT) แทน และปี 2552 จึงเป็นปีสุดท้าย ที่ใช้ข้อสอบ O-net และ A-net แต่ต้องการ สกอ.เตรียมทางออกไว้ล่วงหน้า เผื่อการสอบ GAT,PAT มีปัญหา

“ตนไม่ห่วงการสอบแอดมิชชันมั่นใจว่าไม่มีปัญหา แต่ห่วงปี 2553 มากกว่า เพราะจะใช้ระบบใหม่ ขอให้เตรียมความพร้อมเพื่ออุดช่องให้เกิดปัญหาน้อยที่สุด การเปลี่ยนระบบครั้งแรกมักจะมีปัญหาเสมอ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ พร้อมกันนี้มีไอเดียนำระบบสอบเอนทรานซ์ แอดมิชชันเก่า และแอดมิชชันใหม่ของปี 2553 มาเปรียบเทียบกัน ผมเชื่อว่าทุกระบบมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ระบบแอดมิชชันใหม่ ปี2553 นี้ ตนคิดว่าจะทำให้ตรงเป้าคือเด็กได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียน ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยจะได้เด็กตรงสาขาวิชาที่สอนมากขึ้น”

ในขณะนี้โรงเรียนต่างๆ ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการสอบ GAT, PAT ไปแล้ว จึงอยากให้โรงเรียนชี้แจงทำความเข้าใจกับเด็กให้ดี เพื่อไม่ให้เด็กสับสน เพราะเด็กที่จะสอบ GAT, PAT ในปี 53 จะต้องเริ่มสอบในเดือนมีนาคมนี้แล้ว และยังได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมข้อมูลพิเศษเกี่ยวกับผลวิเคราะห์ว่าคะแนนการสอบ GAT, PAT ของเด็ก สอดคล้องกับคณะที่เด็กแสดงความสนใจเลือกเรียนหรือไม่

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ยังได้หารือกับเลขาฯ สกอ.เรื่องการผลิตบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการตลาดแรงงาน หรือโครงการสหกิจศึกษา ที่นำนักศึกษาเข้าไปฝึกงานในสถานประกอบการ 1 เทอม และหารือถึงโครงข่าย Uninet ที่มหาวิทยาลัยมีอยู่แล้วว่าจะพัฒนาให้เป็นโครงข่าย E-leaning ได้หรือไม่ อีกทั้งยังได้มีการหารือหลักสูตรโลจิสติก ที่ปัจจุบันกำลังขาดแคลน และการผลิตบุคลากรที่จะไปสอนเด็กพิเศษ หรือคนพิการ ซึ่งบุคลากรหรือครูสอนเด็กพิเศษมีจำนวนน้อยมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น