xs
xsm
sm
md
lg

นร.-ผู้ปกครองขานรับ “เรียนฟรี” ชี้ นโยบายดี แต่รัฐต้องทำให้จริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นับว่าเป็นข่าวดีสำหรับนักเรียนและผู้ปกครองหลายครอบครัว ที่กำลังถูกกระแสพิษเศรษฐกิจกดทับ เพราะรัฐบาลใหม่ภายใต้แกนนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ชูนโยบายด้านการศึกษาเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ เป็นเรื่องเร่งด่วนของรัฐบาลที่จะเริ่มในปีการศึกษา 2552 นี้

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ ครม.ได้อนุมัติงบประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท ให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดเรียนฟรีใน 5 รายการ ประกอบด้วย ค่าเล่าเรียน ค่าตำราเรียน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ อุปกรณ์การเรียน ชุดนักเรียน 2 ชุดต่อคนต่อปี และกิจกรรมพิเศษ

เราลองมาฟังเสียง และมุมมองของเด็ก รวมถึงผู้ปกครองกันดีกว่า ว่าแต่ละคนมีความคิดเห็นต่อนโยบายนี้กันอย่างไรบ้าง

เริ่มต้นจาก ด.ญ.สุชาวดี จันทร์เฮ็ง ร.ร.นวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล (สตรีวิทยา 3) ที่กล่าวว่า ถ้านโยบายเรียนฟรี 15 ปี ออกมาได้ผล จะสามารถแบ่งเบาภาระผู้ปกครองได้มากขึ้น โดยเฉพาะครอบครัวที่มีบุตรหลานหลายคน และมีรายได้ไม่เพียงพอ อย่าให้เหมือนกับรัฐบาลชุดก่อนที่เรียนฟรี (เฉพาะค่าเทอม) แต่ฟรีไม่จริงในทางปฏิบัติ

เช่นเดียวกับ เบญจวรรณ เชื้อดี นักเรียนชั้น ม.6 ร.ร.ราชโบริกานุเคราะห์ จ.ราชบุรี ที่ให้ความเห็นว่า การที่รัฐบาลแก้ไขปัญหาเรื่องการศึกษาโดยจัดตั้งนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ถือเป็นเรื่องที่ดี และเป็นความท้าทายของรัฐบาล แต่ถ้าจะให้ดีจริง ควรนำเงินตรงนี้มารองรับมหาวิทยาลัยและโรงเรียนในสายอาชีพด้วย เพราะการศึกษาของไทยไม่ได้กำจัดขอบเขตอยู่ที่อนุบาลจนถึงชั้นม.ปลายเท่านั้น แต่ปัญหาการขาดเงินจะเป็นช่วงที่เด็กกำลังเรียนมหาวิทยาลัยมากกว่า ถ้าหากให้เรียนฟรีแค่ ม.6 ถ้าเด็กไม่มีเงินเรียนต่อ ก็เหมือนเป็นการตัดโอกาสพวกเขา ถึงจะมีกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาแต่ก็ใช่ว่าเด็กทุกคนจะกู้ผ่าน ถึงกู้ผ่านบางทีเงินเข้าช้า เพราะเด็กที่กู้ไปครั้งก่อนยังไม่คืนเงิน รัฐบาลจึงไม่มีเงินอุดหนุนให้ให้กับนักศึกษารุ่นต่อไป
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศธ.
ขณะที่ “พุทธชาติ ธารถวิล” อายุ 43 ปี คุณแม่ลูก 3 ที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านการเรียนของลูก ได้ให้มุมมองว่า เป็นนโยบายที่ดี แต่รัฐบาลต้องทำให้จริง ทำให้ได้ อย่าให้เป็นเหมือนรัฐบาล “คิดเร็ว ทำเร็ว” ที่ขายฝัน บอกว่าเรียนฟรีจริง 12 ปี แต่ในทางปฏิบัติ ไม่สามารถหาเงินมาประคองได้อย่างที่พูด เรียนฟรี แต่ฟรีไม่จริง ต้องเสียค่าตำรา ค่าชุด หรือกิจกรรมการเรียนที่ต้องหมดเงินเป็นจำนวนมาก

“ถ้ารัฐบาลทำได้จริง เด็กที่ครอบครัวยากจน มีลูกหลายคน จะได้ไม่ต้องลาออกกลางคัน เพราะไม่มีเงินจะเรียน ส่งผลให้มีความรู้ สร้างงาน สร้างตัวเองได้ ขณะเดียวกัน ต้องเข้าถึงเด็กด้อยโอกาสให้ได้ หรือสร้างความเสมอภาคอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่ช่วยคนจน แต่คนรวยกลับมาแย่งโอกาสเหล่านั้น”

พุทธชาติ ยังบอกด้วยว่า บางโรงเรียนให้เรียนฟรีก็จริง แต่กลับเรียกเก็บเป็นเงินบำรุงการศึกษา หรือที่หนักกว่านี้ คือ การกำหนดตัวเงินให้ผู้ปกครองบริจาคให้กับโรงเรียนแทน จึงอยากฝากรัฐบาลให้ทำการตรวจสอบอย่างเข้มงวด รวมถึงรัฐบาลต้องมีมาตรฐาน หรือเกณฑ์กำหนด เพื่อให้ เข้าถึงเด็กด้อยโอกาสอย่างแท้จริง

...สำหรับนโยบายเรื่องการทบทวนระเบียบกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่จะเปิดโอกาสให้สิตนักศึกษา ปี 2-4 มีสิทธิ์กู้ได้นั้นก็ได้รับความสนใจจากสังคมเช่นกัน

น.ส.ธีราภรณ์ เผือกสีสุก นักศึกษาปี 4 คณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย ให้ความเห็นว่า เรื่องนี้มองได้ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ ข้อดีคือ ถือเป็นการช่วยเหลือนักศึกษาที่พลาดสิทธิ เพราะการเรียนมหาวิทยาลัยต้องลงทุนสูง แต่ต้องมีเกณฑ์คัดเลือกอย่างเป็นธรรม และเข้าถึงเด็กที่ขาดแคลนได้จริงเพราะบางทีนักศึกษามีเรื่องฉุกเฉินไม่สามารถหาเงินมาจ่ายค่าเทอมได้ทัน ก็สามารถมากู้ได้ แต่ข้อเสียก็คือว่าบางกรณีนักศึกษาอาจจะไม่ได้เดือดร้อนจริง แต่กู้เงินไปทำอย่างอื่น เช่น ซื้อเครื่องสำอาง มือถือ เรื่องนี้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องตรวจสอบข้อมูลให้ดีก่อนอนุมัติเงินกู้

สอดรับกับ ชุติมา ใจคง นักศึกษาปี 3 คณะรัฐประศาสนศาสตร์ มสธ.ที่บอกว่า นโยบายที่ออกมานั้นเป็นสิ่งที่ดีทำให้นักศึกษาที่ขาดแคลนหรือมีความต้องการจริงๆ ได้กู้ยืมเงินเรียนได้ แต่ทั้งนี้ต้องมีเงื่อนไขในการขอกู้ยืมเงินด้วย รวมทั้งนักศึกษาที่จะกู้ต้องมีจิตสำนึกว่าสาเหตุที่กู้ยืมนั้นมีความเดือดร้อนหรือไม่ ถ้าไม่มีการกำหนดกรอบตรงนี้เท่ากับว่า เป็นการชี้โพรงให้กระรอก และนำเงินดังกล่าวไปใช้โดยไม่เกิดประโยชน์
กำลังโหลดความคิดเห็น