“อภิสิทธิ์” ร่วมงาน “วันครู” คารวะครูประจำชั้น “ลินจง-องอาจ” ให้ครูยึดจรรยาบรรณวิชาชีพดำรงความเป็นครูสู้กับความท้ายทายของปัญหาที่มากับความเปลี่ยนแปลงของโลกตลอดเวลา เสื้อแดงหน้ามึนหยิบมือฉวยโอกาสก่อกวน ตะโกนไล่“อภิสิทธิ์ออกไป” แต่เจอแม่พิมพ์สวนกลับ “สู้สู้” ดังกว่ากลบเสียงออกไป ด้าน “จุรินทร์” ลั่นรัฐบาลจะดูแลขวัญและกำลังใจ พร้อมทั้งสวัสดิการของครูเป็นอย่างดี ยืนยันจะช่วยลดภาระของครูให้ครูสอนหนังสือได้อย่างเต็มที่
วันนี้ (16 ม.ค.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นำรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คณะผู้บริหาร คณะกรรมการคุรุสภา ผู้บริหารสถานศึกษา ครู ข้าราชการและประชาชน ร่วมพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 99 รูป เนื่องในวันครู 16 มกราคม 2552 ที่บริเวณสนามหญ้าหน้ากระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งหน่วยงานและบุคคลต่างๆ ได้เตรียมข้าวสาร อาหารแห้ง มาตักบาตรในช่วงเช้าอย่างพร้อมเพรียง
จากนั้นในเวลา 8.45 น.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินทางถึงหอประชุมคุรุสภา ถวายเครื่องสักการะพระบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ 6 ก่อนเข้าสู่หอประชุมคุรุสภา จากนั้นนายอภิสิทธิ์ ได้คารวะ รศ.ลินจง อินทรัมพรรย์ ครูอาวุโส ซึ่งเป็นครูประจำชั้นประถมศึกษา 5-6 โรงเรียนสาธิตแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(ฝ่ายประถม) และนายองอาจ บุญรักษ์ ครูประจำชั้น ป.6/6 และมอบของที่ระลึกแก่ครูอาวุโส
ต่อมานายดิเรก พรสีมา ประธานกรรมการคุรุสภา กล่าวรายงานต่อนายกรัฐมนตรี นายชินภัทร ภูมิรัตน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ อ่านโองการอัญเชิญบูชาบูรพาจารย์ นายจักรพรรดิ วะทา ครูอาวุโสนอกประจำการ กล่านำพิธีสวดคำฉันท์ ระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ทำนองสรภัญญะ นายสวัสดิ์ กมล วานนท์ ครูอาวุโสในประจำการ เป็นผู้นำผู้ร่วมชุมนุมกล่าวคำปฏิญาณตน
จากนั้นนายอภิสิทธิ์มอบของที่ระลึกแก่ผู้อ่านโองการอัญเชิญบูชาบูรพาจารย์ ครูอาวุโสนอกประจำการ ครูอาวุโสในประจำการ และมอบรางวัลแก่ ผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาชาติ ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่ได้รับรางวัลคุรุสภา ครูภาษาฝรั่งเศสดีเด่น ประจำปี 2551 เพื่อเทิดพระเกียรติและสืบสานพระปณิธานด้านการศึกษาภาษาฝรั่งเศสของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ผู้ได้รับรางวัลตามรอยเกียรติยศครูผู้มีอุดมการณ์และจิตวิญญาณครู ผู้ชนะการประกวดคำขวัญวันครู และผู้ชนะการประกวดบทร้อยกรองเทิดเกียรติคุณครู ผู้ชนะการประกวดข้อเขียนความประทับใจที่ศิษย์มีต่อครู
นายอภิสิทธิ์ กล่าวสุนทรพจน์ว่า ตนรู้สึกยินดีที่มีโอกาสมาร่วมงานวันครูและมาพบปะกับครู อาจารย์ที่สร้างการศึกษาและอนาคตของชาติวันนี้ ซึ่งขณะนี้เราอยู่ในยุคที่สังคมมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถือได้ว่าเราอยู่ในโลกแห่งข่าวสารและเทคโนโลยี ซึ่งโลกทั้งโลกเชื่อมเข้าเป็นหนึ่งเดียว และมีจุดร่วมที่สำคัญทั้งด้านข้อมูลข่าวสาร ความคิด วัฒนธรรม การเงิน ธุรกิจสำนึกสิ่งแวดล้อม และกระบวนการทางสังคมอื่นๆ ที่มีความหลากหลาย สิ่งเหล่านี้ทำให้ประชาชนทุกคน ทุกแห่งจำเป็นต้องปรับตัวและเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในชีวิต แต่ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอย่างไร ความรับผิดชอบของคนเป็นครูไม่เคยลดน้อยลงกลับมากยิ่งขึ้น ท้าทายมากขึ้นตามสภาพสังคมที่มีความหลากหลาย และซับซ้อน รวมทั้งปัญหาของเด็กและเยาวชนที่มีมากขึ้นโดยลำดับ ดังนั้นสิ่งที่เป็นความเปลี่ยนแปลงที่มีทั้งความเจริญก้าวหน้า และปัญหาที่นำมาสู่ความเสื่อมนั้น เป็นสิ่งที่ท้าทายครูในยุคสมัยปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง การอุทิศตน การปฏิบัติหน้าที่ การทุ่มเทอย่างที่ได้ทำมานั้น ก็จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวทางวิธีการให้เหมาะสมกับความเป็นไปของสังคม จึงจะสามารถที่จะดำรงความเป็นครูในอุดมคติของคนส่วนใหญ่และมีบทบาทในการนำพาบ้านเมืองไปสู่ความเจริญต่อไป
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ในยุคสมัยนี้บทบาทของครูจึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาคน โดยเฉพาะเด็กของเราเป็นอย่างยิ่ง นอกจากต้องปฏิบัติหน้าที่ตามามาตรฐานวิชาชีพ และจรรยาบรรณวิชาชีพอย่างสม่ำเสมอแล้ว ครูยังต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในสังคม เป็นครูที่เราอยากเห็นอยากให้เป็นซึ่งมีคุณสมบัติต่างๆ มากมาย ตนจึงรู้สึกยินดีที่ปีนี้ทางคุรุสภาได้เห็นความสำคัญในการรณรงค์เพื่อให้ครูเป็นแบบอย่างที่ดี โดยการลด ละ เลิก อบายมุขต่างๆ ซึ่งจรรยาบรรณของครูอาจารย์นั้นมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นจรรยาบรรณต่อตนเองในการมีวินัย ในการฝึกฝนตนเองด้านวิชาชีพ ทั้งเรื่องบุคลิกภาพ วิสัยทัศน์ เพื่อให้ทันต่อวิทยาการ เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอยู่เสมอ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า จรรยาบรรณต่อวิชาชีพที่ต้องรัก ศรัทธา ซื่อสัตย์ สุจริตและรักต่อวิชาชีพ เป็นสมาชิกที่ดีขององค์กรวิชาชีพ และที่สำคัญที่สุดคือจรรยาบรรณ ต่อผู้รับบริการ ซึ่งคือลูกศิษย์ของตนนั่นเอง ที่ต้องรัก เมตตา เอาใจใส่ ช่วยเหลือ ส่งเสริมให้กำลังใจแก่ศิษย์ ตามบทบาทหน้าที่โดยเสมอหน้า ที่ต้องส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ทักษะที่ถูกต้องดีงามแก่ศิษย์ตามบทบาทหน้าที่เต็มความสามารถด้วยความบริสุทธิ์ใจ ทั้งที่จะต้องประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีทั้งทางกาย วาจา และใจ ต้องไม่ทำตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญทางกาย ใจ และอารมณ์ของศิษย์ ครูต้องไม่เรียกรับผลประโยชน์ในตำแหน่งงาน และหน้าที่ นอกจากนี้จะต้องมีจรรยาบรรณต่อผู้ร่วมประกอบวิชาชีพ ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันอย่างสร้างสรรค์ โดยยึดมั่นในระบบคุณธรรม สร้างความสามัคคีในหมู่คณะ พร้อมยึดมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า ภารกิจและสิ่งท้าทายทั้งหลายเหล่านี้ รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะทำให้กระบวนการพัฒนาคนของเราประสบความสำเร็จในการสร้างคนดีมีคุณธรรม ด้วยความเชื่อที่ว่าประเทศชาติบ้านเมืองและทุกปัญหาจะแก้ได้ถ้าหากคนของเรานั้นมีคุณภาพ ดังนั้น รัฐบาลจึงมุ่งเน้นการทุ่มเทการพัฒนาคุณภาพและจะผลักดันให้การปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบอย่างจริงจัง และการปฏิรูปฯ ครั้งนี้ก็ต้องครอบคลุมไปถึงเรื่อง การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้ได้ครูที่ดี เก่ง มีคุณธรรม และมีวิทยฐานะสูงขึ้น ความสำเร็จในผลักดันไปสู่เป้าหมายดังกล่าวต้องมาจากความร่วมมือของทุกฝ่ายโดยเฉพาะครู และไม่เกินกำลังของครู เพื่อให้ประโยชน์ทั้งหลายตกอยู่กับเด็ก
“ผมถือว่าวิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง ที่พึงจะได้รับการเคารพยกย่อง ผมสำนึกอยู่เสมอว่าความสำเร็จในการประกอบอาชีพการงานของผมเป็นผลมาจากได้รับการสั่งสอนจากครู แม้ว่าจะมีโอกาสศึกษาในห้องเรียนของไทยแค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 แต่ครูอาจารย์ของผมทั้ง 2 ท่าน ซึ่งเป็นครูประจำชั้นก็อยู่บนเวทีนี้ ถือเป็นแบบอย่างที่สำคัญสำหรับครูทั่วประเทศ อาจารย์ลินจงที่แม้ว่าจะเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศแล้ว พอกลับมาท่านก็แสดงความห่วงใยผมตลอด แสดงให้เห็นถึงความห่วงใยที่มีต่อลูกศิษย์ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของการประกอบวิชาชีพครู ส่วนอาจารย์องอาจแม้จะไม่มีโอกาสได้พบกับอาจารย์เลย แต่ก็ได้เขียนคำกลอนให้กับลูกศิษย์ทุกคนเมื่อเรียนจบ แสดงให้เห็นความเอาใจใส่และให้ลูกศิษย์ได้จดจำสิ่งที่เป็นคำสอน” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า การปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านนั้น เน้นให้เด็กเป็นศูนย์กลางของการปฏิรูปการศึกษา ได้เห็นจากอาจารย์ที่เอาใจใส่นักเรียนเป็นรายบุคคล และได้เห็นจากครูหลายคนในต่างประเทศ ซึ่งตนคิดว่าวิญญาณความเป็นครูเป็นสิ่งสำคัญมาก แม้แต่อาจารย์ที่ปรึกษาของตนของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านการเงินของประเทศอังกฤษเมื่อเดินทางมาประเทศไทย พบว่าตนดำรงตำแหน่งผู้บริหารประเทศก็ได้นำบทความทางวิชาการมามอบให้ และบอกให้อ่านเพื่อให้เข้าใจปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในโลกได้ ตนเห็นว่าครูทุกคนมีวิญญาณของผู้สอน มีความเมตตาให้ลูกศิษย์นั่นคือความพร้อมที่ดีที่สุดในการเผชิญกับความท้าทายปัญหาของโลก จึงขอเป็นกำลังใจให้กับครูทุกคนที่ทุ่มเทและเสียสละให้กับการศึกษาอย่างเต็มความสามารถทุกคน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นายอภิสิทธิ์ร่วมงานวันครูอยู่ในหอประชุมคุรุสภา ได้มีกลุ่มคนเสื้อแดงประมาณ 10 คน มายืนกล่าวไฮปาร์คโจมตีอยู่นอกรั้วประตูคุรุสภา โดยบอกว่าวันนี้จะไม่ปาไข่ แต่จะเผาพริกกับเกลือเพื่อเป็นการสาปแช่งแทน จากนั้นได้ตะโกนว่า “อภิสิทธิ์ออกไป” แต่ปรากฏว่ากลุ่มครูที่ยืนรอส่งนายกฯ อยู่ที่หน้าประตูทางเข้าหอประชุมคุรุสภา พร้อมใจกันตะโกนว่า “สู้สู้” เสียงดังกลบเสียง “ออกไป” ของกลุ่มคนเสื้อแดง ทั้งนี้ เมื่อกล่าวสุนทรพจน์จบนายอภิสิทธิ์ได้หลบออกทางประตูด้านข้างหอประชุมคุรุสภาขึ้นรถโฟล์คตู้ที่มาจอดรอรับอยู่กลับออกไปทางประตูด้านหน้ากระทรวงศึกษาธิการ โดยที่รถขบวนของนายกฯ ยังจอดหลอกกลุ่มเสื้อแดงอยู่ที่เดิม
ด้าน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีของขวัญสำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา 3 เรื่อง ได้แก่ 1.จัดตั้งกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตครู ซึ่งจะดูแลเรื่องสวัสดิการครู และช่วยแก้ปัญหาหนี้สินครู 2.ปรับหลักเกณฑ์ในการทำวิทยฐานะ โดยเน้นพิจารณาที่คุณภาพการสอนของครู และผลสัมฤทธิ์ด้านการเรียนของเด็กเป็นหลัก ไม่ใช่มุ่งเน้นที่การทำเอกสารเหมือนที่ผ่านมา และ 3.จัดตั้งสถาบันกำหนดมาตรฐานการผลิตครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้การผลิตครูของทุกสถาบันมีมาตรฐานเดียวกัน และมีคุณภาพมากขึ้น รวมทั้งจะเป็นหน่วยงานที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วย ทั้งนี้ขอฝากไปยังครูทุกคนว่า ตนไม่อยากให้ครูเปลี่ยนอุดมการณ์ของความเป็นครู และควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการทำหน้าที่สอนศิษย์อย่างมีคุณภาพ รวมทั้งอบรมสั่งสอนในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม และความเป็นไทย เพื่อให้เด็กเติบโตมาเป็นอนาคตของชาติที่ดีต่อไป
วันเดียวกันนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงนโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิตครู ตามโครงการ “คืนครูให้นักเรียน” ว่า โครงการดังกล่าวเป็นการหาทางลดภาระงานธุรการหรืองานบัญชีของครู เพื่อให้ครูมีเวลาสอนได้อย่างเต็มที่ ซึ่งได้หารือกับคณะกรรมการช่วยเหลือคนว่างงานแล้วว่า จะใช้งบประมาณการจ้างงานจากงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ 6,900 ล้านบาท ช่วยคนว่างงาน 200,000 อัตรา ว่าจ้างผู้ว่างงานมาทำงานธุรการต่าง ๆ แทนครู ซึ่งประเมินแล้วมีความต้องการประมาณ 10,000 อัตรา ทั้งงานธุรการรวมถึงงานอื่น ๆ เช่น นักการภารโรง
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า คาดว่าโครงการดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการได้ภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า ก่อนหน้านั้นจะมีการอบรมให้กับผู้ที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งการเดินทางมาอบรมจะได้รับเบี้ยเลี้ยงและค่าเดินทางด้วย เมื่อผ่านการอบรมแล้ว ก็จะให้กลับไปทำงานในโรงเรียนตามท้องถิ่นที่ได้ลงทะเบียนไว้ สำหรับค่าจ้างจะอยู่ในอัตราปกติของแต่ละตำแหน่งงาน สัญญาจ้างฉบับแรกจะเป็นสัญญาในงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่จะสิ้นสุดปลายปีงบประมาณนี้ แต่ยืนยันว่ากระทรวงศึกษาธิการจะดูแลและพิจารณาจ้างงานต่อ เบื้องต้นจะเป็นการทำสัญญาจ้างรายปี
นายชัยวุฒิ ยังกล่าวด้วยว่า อยากเห็นครูทุกคนเป็นครูอาชีพ ไม่ใช่คนที่มีอาชีพเป็นครู และตระหนักในหน้าที่การสอนเด็กนักเรียนให้มีความรู้ความสามารถ ทั้งนี้ ยืนยันว่าทางกระทรวงฯ ไม่ทอดทิ้งครู และได้วางแนวทางแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน 3 ด้าน ได้แก่ การปรับโครงสร้างหนี้สินครู การลดภาระให้ครูมีเวลาสอนมากขึ้น และการปรับวิธีประเมินวิทยฐานะความก้าวหน้าของครูให้เป็นการประเมินจากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ทั้งนี้ คาดว่าภายใน 1 ปีจะเห็นผลสำเร็จ เพราะแต่ละด้านได้เริ่มดำเนินการแล้ว
ด้าน น.ส.นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. กล่าวว่า ครูก็เป็นบุคคลธรรมดาที่ต้องรับผิดชอบภาระหน้าที่ต่าง ๆ ซึ่งบางครั้งก็กระทบกับหน้าที่ครู การที่นักเรียนจะดีได้นั้น ครูเป็นหัวใจสำคัญ ทาง ศธ.จึงเดินหน้ามุ่งแก้ปัญหาลดภาระต่าง ๆ ของครูอย่างจริงจัง ขอให้ครูทุกคนมีความภูมิใจที่ได้เป็นครู ในฐานะที่เป็นผู้ให้และผู้สร้างคน
“ในฐานะที่เคยทำธุรกิจส่วนตัว และได้เป็นอาจารย์พิเศษ ทราบดีว่าการเป็นอาจารย์เหนื่อยกว่าทำธุรกิจ เพราะจะต้องเตรียมตัวไปสอน ไปเป็นผู้ให้ ต้องรู้ว่าจะมีอะไรไปให้นักเรียน ครูเป็นตำแหน่งที่เมื่อเป็นแล้วก็จะติดตัวไปจนวันตาย เป็นความภาคภูมิใจของชีวิต” น.ส.นริศรา กล่าว