xs
xsm
sm
md
lg

ตาก กาญจนบุรี นราธิวาส 3 จังหวัดสุดท้ายพบผู้ป่วยเท้าช้าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เผยขณะนี้ไทยเหลือพื้นที่ที่มีผู้ป่วยโรคเท้าช้างเพียง 3 จังหวัด รวม 173 ราย สูงสุดที่นราธิวาส 118 ราย เร่งรณรงค์กำจัดโรค โดยให้อสม.เป็นฐานกำลังแจกยาฆ่าเชื้อพยาธิโรคเท้าช้างให้ประชาชนอายุตั้งแต่ 2 ขวบขึ้นไป ในพื้นที่เสี่ยง 141 หมู่บ้าน กินฟรี มั่นใจภายใน พ.ศ.2554 ไทยจะไม่มีผู้ป่วยโรคนี้

วันนี้ (14 ม.ค.) ที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ จังหวัดนราธิวาส นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ ร่วมเปิดรณรงค์หยอดวัคซีนโปลิโอ ครั้งที่ 2 ให้เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และเด็กต่างชาติอายุต่ำกว่า 15 ปีทุกคน ในจังหวัดนราธิวาสจำนวน 64,190 คน ซึ่งดำเนินการพร้อมกันทุกพื้นที่ทั่วประเทศในวันนี้ ตั้งแต่เวลา 08.30-17.00 น. เป้าหมายเด็กทั้งหมด 5 ล้านกว่าคน เพื่อป้องกันเชื้อโปลิโอข้ามประเทศ ซึ่งไทยไม่พบเด็กป่วยโรคโปลิโอติดต่อกันมากว่า 11 ปีแล้ว

จากนั้นได้เปิดโครงการรณรงค์กำจัดโรคเท้าช้างในจังหวัดนราธิวาสปีที่ 2 ระหว่างวันที่ 14-28 มกราคม 2552 โดยแจกยาฆ่าพยาธิโรคเท้าช้างให้แก่ อสม.เพื่อนำไปแจกประชาชนที่อยู่ในพื้นที่แพร่เชื้อและพื้นที่เสี่ยงในจังหวัดนราธิวาส จำนวน 8 อำเภอ คือ สุไหงปาดี เมือง ตากใบ สุไหงโก-ลก เจาะไอร้อง บาเจาะ ระแงะ และยี่งอ รวม 141 หมู่บ้าน จำนวน 133,400 คน

นายวิทยา ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังเหลือพื้นที่ที่พบผู้ป่วยโรคเท้าช้างเพียง 3 จังหวัด ซึ่งสภาพเป็นป่าเขาตามแนวชายแดนไทย-พม่า และป่าพรุ ได้แก่ ตาก กาญจนบุรี และนราธิวาส ตลอดปี 2551 มีผู้ป่วยขึ้นทะเบียนรักษาสะสม 173 ราย ร้อยละ 73 อยู่ในระยะแพร่เชื้อ โดยพบมากสุดที่นราธิวาส 118 ราย รองลงมา คือ ตาก และกาญจนบุรี กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายเร่งกำจัดโรคเท้าช้างให้หมดไปจากพื้นที่ดังกล่าว โดยจ่ายยาฆ่าพยาธิโรคเท้าช้างให้แก่ประชาชนที่มีอายุ 2 ขวบขึ้นไปในพื้นที่แพร่เชื้อฟรี ครอบคลุมให้ได้ร้อยละ 85 ติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2551–2554

นายวิทยา กล่าวต่อว่า สาเหตุที่นราธิวาสมีผู้ป่วยโรคเท้าช้างมากที่สุดในประเทศ เนื่องจากเหตุการณ์ความ ไม่สงบในพื้นที่ ทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าไปป้องกันควบคุมโรคได้ไม่เต็มที่ ในปีนี้ได้มอบนโยบายให้ อสม. เป็นกำลังช่วยดูแลแจกจ่ายยารักษาโรคเท้าช้าง ให้ครอบคลุมทุกหลังคาเรือนที่รับผิดชอบ เพื่อตัดวงจรการแพร่เชื้อ มั่นใจว่าจะสามารถกำจัดโรคนี้ให้หมดไปจากประเทศภายใน พ.ศ.2554 ได้อย่างแน่นอน

ด้านนายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า โรคเท้าช้างที่พบในไทยเกิดจากเชื้อพยาธิตัวกลม 2 ชนิด ได้แก่ วูเชอรีเรีย แบนครอฟไต (Wuchereria bancrofti) พบในจังหวัดภาคเหนือพื้นที่ติดกับพม่า ชนิดที่ 2 ชื่อ บรูเกีย มาลาไย (Brugia malayi) พบทางภาคใต้ของไทยคือนราธิวาส มียุงเสือซึ่งอาศัยอยู่ในป่าพรุเป็นตัวการนำเชื้อไปแพร่สูคนอื่น โดยพยาธิจะไปเจริญเติบโตในระบบน้ำเหลือง ทำให้ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ท่อน้ำเหลือง อุดตันเรื้อรัง ทำให้แขน ขา หรืออวัยวะเพศบวมโต พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงในอัตราส่วน 1.3 ต่อ 1 มาตรการในการควบคุมโรคจะเน้นให้การรักษาคนกลุ่มใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่แพร่เชื้อพร้อมๆ กัน โดยให้กินยาฆ่าพยาธิคือ ไดเอทธิลคาร์บามาซีน ไซเตรต หรือเดค (Diethylcarbamazine Citrate : DEC) กับอัลเบนดาโซล (Albendazole) ปีละ 1 ครั้ง โดยกินต่อหน้าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรืออสม. ติดต่อกัน 5 ปี ควบคู่ไปกับการรักษาผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อพยาธิในเลือดทุกราย ทำให้ไม่มีเชื้อพยาธิในเลือด ซึ่งมาตรการนี้ใช้กับผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงและแรงงานต่างด้าวทุกคนที่เข้ามาทำงานในไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น