ผ่านพ้นจากวันเด็กแห่งชาติไปไม่นาน ก็มาถึงวันสำคัญอีกวันหนึ่ง นั่นก็คือ “วันครู” ที่จะมาถึงในวันที่ 16 มกราคมนี้ และในวันครูปีนี้คณะกรรมการคุรุสภาได้มีมติมอบ “รางวัลครูดีเด่น” ให้กับครู 9 คนด้วยกัน
แน่นอนว่า สิ่งที่ทุกคนอย่างรู้ก็คือ ครูที่ได้รับรางวัลทั้ง 9 คนมีเส้นทางชีวิตและการทำงานมาอย่างไรกันบ้าง
-ประเภทครูผู้ปฏิบัติการสอน
1.นางจุรี โก้สกุล
ร.ร.ภูเก็ตปัญญานุกูลอ.ถลาง จ.ภูเก็ต
ครูจุรี โก้สกุล เกิดเมื่อวันที่ 25 ต.ค.2500 อายุ 51 ปี จบปริญญาครุศาสตร์บัณฑิต สาขาการศึกษาพิเศษ ปี 2526 จาก ม.ราชภัฏสวนดุสิต เริ่มเป็นครูครั้งแรกในตำแหน่งครูประจำชั้นที่ร.ร.โสตศึกษา จ.สงขลา ปัจจุบันเป็นครูชำนาญการพิเศษ ร.ร.ภูเก็ตปัญญานุกูล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต
ครูจุรี เป็นครูที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ตั้งแต่เริ่มเป็นครูปี 2522 ในปี 2542 ครูจุรีได้ทำงานวิจัยในชั้นเรียนเรื่องการแก้ปัญหาการออกเสียงพยัญชนะ ต สำหรับผู้พิการที่บกพร่องทางการได้ยิน ระดับ ชั้น ป.4 ผลงานวิจัยนี้เป็นสื่อนวัตกรรมทางการศึกษาที่เป็นประโยชน์สำหรับนักเรียนที่มีปัญหาทางการได้ยิน นอกจากนี้ยังจัดทำโปรแกมประดิษฐ์พจนานุกรมภาษามือ ช่วยสื่อสารคนพิการทางหู โดยเป็นสื่อที่สามารถติดต่อออนไลน์ได้ทางอินเทอร์เน็ต และได้รับการเผยแพร่ทางสื่อมวลชน
นอกจากผลงานที่กล่าวมาแล้ว ครูจุรียังมีผลงานทางวิชาการเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง เช่น งานวิจัยหนังสือเสริมการอ่าน หนังสือเอกสารภาษามือ เล่ม 1,2 “การพูดสำคัญอย่างไร” เอกสารแผ่นพับ อรรถบำบัด แบบสะกดนิ้วมือไทย ,อังกฤษ และแบบสะกดตัวเลข และได้รับการยกย่องในผลงานบทความภาษาอังกฤษ “นางฟ้าของคนหูหนวก” The angle of the deaf ที่ลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ Phuket Gazette ฉบับวันที่ 1-7 มี.ค.2551
2. นายจตุรพัฒน์ วิไลรัตน์
ร.ร.วัดสันติธรรม อ.เมือง จ.นครสวรรค์
ครูจตุรพัฒน์ วิไลรัตน์ เกิดเมื่อวันที่ 31 ก.ค.2498 อายุ 53 ปี เป็นครูสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ช่วงชั้นที่ 3 (ม.1-3) ร.ร.วัดสันติธรรม อ.เมือง จ.นครสวรรค์ จบการศึกษาสูงสุดระดับปริญญาโท ครุศาสตรมหาบัณฑิต (ค.ม.) วิชาเอกพื้นฐานการศึกษา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มรับราชการเป็นครูครั้งแรกเมื่อเดือน ก.ค. 2518
ครูจตุรพัฒน์เน้นการเรียนรู้โดยผู้เรียนเป็นสำคัญ เนื่องจากนักเรียนที่สอนเป็นนักเรียนด้อยโอกาส มีสติปัญญาระดับปานกลางถึงอ่อน และอ่อนมาก แต่คุณครูจตุรพัฒน์ ได้พยายามจัดการเรียนการสอนโดยให้โอกาสแก่นักเรียนในการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ตามศักยภาพของตนเอง ด้วยความเสียสละและทุ่มเท ส่งผลให้คุณครูจตุรพัฒน์ได้รับโล่รางวัลเกียรติยศ/ครูดีเด่น/รางวัลแห่งความภาคภูมิใจ ปัจจุบันรวมทั้งสิ้น 45 รางวัล
ตัวอย่างเช่น ครูผู้สอนคณิตศาสตร์ดีเด่น ระดับประเทศ ปี 2528,2533 ครูต้นแบบสาขาคณิตศาสตร์ ปี 2548,2549 และ2550 (3 ปีซ้อน) ครูเกียรติยศ(Teacher Award ) ปี พ.ศ.2550 รางวัล Best Practies วิธีการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ สาขาคณิตศาสตร์ ปี พ.ศ. 2550 และ รางวัลผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณสร้างคุณประโยชน์ในด้านการศึกษาให้แก่ประเทศชาติ ของคุรุสภา ปี 2550 ฯลฯ
3. นายพลศักดิ์ เผ่ากันทรากร
ครูวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์
ครูพลศักดิ์ เผ่ากันทรากร เกิดเมื่อวันที่ 14 เม.ย.2499 อายุ 52 ปี จบการศึกษาสูงสุดวุฒิปริญญาโท วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาพืชไร่ วิชาเอกการปรับปรุงพันธุ์พืช จาก ม.กษตรศาสตร์ เมื่อปี 2527 ปัจจุบันเป็นครูชำนาญการ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์ เข้ารับราชการครูครั้งแรกในตำแหน่งอาจารย์ 1 ระดับ 3 เมื่อปี 2527 นอกจากเป็นครูสอนนักศึกษาแล้ว ยังได้รับมอบหมายให้เป็นหัวแผนกงานปลูกพืชไม่ใช้ดิน และหัวหน้างานความร่วมมือ
ครูพลศักดิ์ เป็นครูที่มีความริเริ่มสร้างสรรค์ในวิชาชีพเป็นอย่างสูง นับตั้งแต่เริ่มเข้ารับการเป็นครู ได้นำความรู้ทางด้านพืชไร่มาฝึกสอนถ่ายทอดให้นักเรียน จนนักเรียนได้รับรางวัล ได้นำความรู้เกี่ยวกับการขยายพันธุ์พืชมาใช้ให้นักศึกษาหารายได้ระหว่างเรียน ช่วยแบ่งเบาภาระทางครอบครัวได้ ครูพลศักดิ์ได้ค้นคิด และหานวัตกรรมการสอนที่สามารถช่วยให้นักเรียนเข้าใจได้ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งหาเทคนิคใหม่ๆ เพื่อให้นักเรียนนักศึกษา มีความรู้ในวิชาที่ได้ศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานชุดปลูกพันธุ์พืชโดยไม่ใช้ดินแบบไม้ไผ่ ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับภาคที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม เป็นการใช้วัสดุที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ลงทุนเพียง 2,000 บาท ต่อชุด ซึ่งเกษตรกรสามารถนำไปสร้างเองใช้ปลูกผักปลอดสารพิษเป็นอาชีพแบบเกษตรพอเพียง นอกจากนี้ยังมีงานและโครงการเด่นอีกหลายโครงการที่ครูพลศักดิ์ภาคภูมิใจ อาทิ โครงการอาหารกลางวันแบบยั่งยืน ( Food bank ) โครงการธงฟ้าสู่ชุมชน
4. นายไพบูลย์ กฤษณจักราวัฒน์
ครู ร.ร.บดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) 2
เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร
ครูไพบูลย์ กฤษณจักราวัฒน์ เกิดเมื่อวันที่ 25 เม.ย.2499 อายุ 52 ปี จบการศึกษาปริญญาตรีสาขาวิชาเอกพลศึกษา และสาขาวิชาโท สุขศึกษา ม.ศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อปี 2520 เข้าสู่วงการครูครั้งแรกในตำแหน่งอาจารย์ 1 ร.ร.พุทธบูชาวิทยาคม ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นครูชำนาญการพิเศษ ร.ร.บดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) 2 เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ
ครูไพบูลย์ได้พัฒนาความรู้ของตนเอง โดยเข้ารับอบรมเกี่ยวกับวิชาที่สอน ศึกษาเอกสารและบทความต่างๆ โดยเฉพาะวิชากระบี่กระบองและมวยไทย ได้ก่อตั้งชมรมกระบี่กระบองมวยไทย บดินทรเดชา 2 ตั้งแต่ปี 2539 - ปัจจุบัน เพื่อเพิ่มพูนพัฒนาทักษะการเรียนการสอน สร้างจิตสำนึกให้นักเรียนได้ตระหนักถึงคุณค่ากีฬาประจำชาติไทย และยังร่วมกับนักเรียนในชมรมฯให้บริการสังคม โดยเป็นวิทยากรสาธิตกีฬาทั้งสองชนิดให้แก่ชุมชนและมูลนิธิการศึกษา และวัฒนธรรมสัมพันธ์ไทย – นานาชาติ ( A F S X ประเทศไทย ) เป็นการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของประเทศไทยให้ชาวต่างชาติได้ชื่นชม และได้ร่วมกับนักเรียนมูลนิธิ YOUNG EXCHANG SERVICE (Y E S ) ซึ่งเป็นนักเรียนทุนจากแคนนาดาฝึกซ้อมจนสามารถออกแสดงตามงานต่างๆได้
ครูไพบูลย์ เป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์พัฒนาการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ โดยพัฒนาสื่อและอุปกรณ์การเรียนการสอนให้สอดคล้องกับเนื้อหาที่สอน เช่น เอกสารประกอบการสอน สื่อสิ่งพิมพ์ DVD และ Website เป็นที่ยอมรับว่าผลงานมีความถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์เป็นแบบอย่างในวงการศึกษาด้านวิชากระบี่กระบองและมวยไทย
ครูไพบูลย์ ได้รับการยกย่องและได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย เช่นได้รางวัล“ ครูดีในดวงใจ ” 3 ปีติดต่อกัน (ปีการศึกษา 2548 , 2549 , 2550) ได้รับถ้วยรางวัลผู้ฝึกสอนไหว้ครู ทักษะมวยไทย คีตะมวยไทย ชนะเลิศแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 9 , รางวัลผู้บังคับบัญชาลูกเสือ-เนตรนารีดีเด่น ,เกียรติบัตรผู้ฝึกสอนชนะเลิศระดับเหรียญทองไหว้ครูมวยไทย,โล่เกีรยติคุณ “บุคคลที่ทำคุณประโยชน์เยาวชน สาขากีฬาและนันทนาการ” ประจำปี 2550 ฯลฯ
5. นายเสกสรร กาวินชัย
ครู ร.ร.แจ้ห่มวิทยา
อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง
ครูเสกสรร กาวินชัย เกิดเมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2509 อายุ 42 ปี จบการศึกษาสูงสุดระดับปริญญาตรี (อุตสาหกรรม) ศึกษาศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 2 จาก ม.เชียงใหม่ เมื่อปี 2532 ปัจจุบันเป็นครูชำนาญการพิเศษ ร.ร.แจ้ห่มวิทยา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง รับราชการเป็นครูครั้งแรกในตำแหน่งอาจารย์ 1 ระดับ 3 สอนชั้นมัธยม 1-3 เมื่อปี 2533
ตั้งแต่เริ่มเป็นครู ครูเสกสรร ได้เริ่มศึกษาเรียนรู้เทคนิควิธีการเรียนการสอน ศึกษาสภาพข้อมูลท้องถิ่น นักเรียน บริบทของโรงเรียนและสภาพสังคมปัจจุบัน ทดลองออกแบบนวัตกรรม เรื่อง “ชิ้นงานฝึกทักษะจากเศษไม้” โดยพัฒนาปรับปรุงให้มีความเหมาะสมกับสภาพความต้องการของโรงเรียน ชุมชน ทำให้นักเรียนสร้างสรรค์ผลงานหลากหลาย มียอดการจำหน่ายผลผลิตเพิ่มขึ้นและได้รับการยอมรับอย่างมาก จนก้าวสู่เวทีการประกวดระดับชาติ ซึ่งก็ได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย รวมทั้งผลงานของนักเรียนได้รับการยอมรับเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ 4 ดาว
ครูเสกสรรได้รับการยกย่องเกียรติคุณจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ ได้รับพระราชทานโล่เป็นบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อเยาวชน ประจำปี 2550 ,ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ de chevalier แห่งราชอาณาจักรเบลเยียม ในฐานะนักประดิษฐ์คิดค้น 1 ใน 5 คนไทย ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ปี 2548 และได้รับรางวัลเหรียญทอง Brussels Eureka 2005 นวัตกรรมทางการศึกษา ในการจัดงาน World Exhibition กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม ในปี 2548
ผู้บริหารสถานศึกษา
6. นายธำรงค์ น่วมศิริ
ผอ.ร.ร.อนุบาลอุตรดิตถ์
อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์
นายธำรงค์ น่วมศิริ เกิดเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2501 อายุ 51 ปี จบการศึกษาสูงสุดระดับปริญญาเอก Doctor of Education (Ed.D.) Educational Administration เมื่อปี 2546 เริ่มเข้าสู่วงการครูครั้งแรกในตำแหน่งครู 1 ระดับ 1 โดยเป็นครูประจำชั้น ป.2 ร.ร.บ้านแสนขัน จ.อุตรดิตถ์ และเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารครั้งแรกในตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ ร.ร.นานกกก จ.อุตรดิตถ์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผอ.ร.ร.อนุบาลอุตรดิตถ์ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์
อาจารย์ธำรงค์เป็นผู้ที่นำโทรทัศน์และจานดาวเทียมมาใช้ในการจัดการศึกษา นำเทคโนโลยีมาใช้ในการสอนนาฏศิลป์และส่งเสริมให้ครูและนักเรียนแสดงออก จนโรงเรียนได้รับรางวัลโรงเรียนเอกลักษณ์ดีเด่น เป็นผู้ริเริ่มโครงการพัฒนาความสามารถพิเศษ 7 ศูนย์อันประกอบด้วย ศูนย์พัฒนาความสามารถด้านคณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ดนตรี นาฏศิลป์ ศิลปะ จิตวิทยาและแนะแนว และทักษะการคิดระดับสูง มีการนำคุณธรรมมาใช้ในการบริหารงานและการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของครู จนโรงเรียนได้รับรางวัลสถานศึกษาดีเด่นด้านการปลูกฝังพัฒนาจริยธรรม คุณธรรม ของสำนักพัฒนาการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เขตการศึกษา 7
นอกจากนี้ยังได้นำวิถีชีวิตประชาธิปไตยมาประยุกต์ใช้ในโรงเรียนโดยเน้นคารวะธรรม ปัญญาธรรมและสามัคคีธรรม เป็นผลให้โรงเรียนได้รับรางวัลโรงเรียนต้นแบบการประยุกต์ใช้ประชาธิปไตยในโรงเรียน ประจำปี 2548 จากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งระดับชาติ
7. ภราดาประภาส ศรีเจริญ
อธิการร.ร.ลาซานจันบุรี (มาดาพิทักษ์)
อ.เมือง จ.จันทบุรี
ภราดาประภาส ศรีเจริญ เกิดเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2510 อายุ 50 ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นผู้รับใบอนุญาต ผู้จัดการและอธิการ ร.ร.ลาซานจันบุรี (มาดาพิทักษ์) อ.เมือง จ.จันทบุรี จบการศึกษาสูงสุดระดับปริญญาโทศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต เมื่อปี 2547 เริ่มเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารโรงเรียนครั้งแรกในตำแหน่งครูใหญ่ฝ่ายวิชาการ เมื่อปี 2542
ภราดาประภาสได้จัดให้มีกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง ปีการศึกษา 2550 ที่ผ่านมา โรงเรียนได้รับคัดเลือกจากสำนักงานบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ให้เป็นโรงเรียนส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงดีเด่น ในงานมหกรรมเศรษฐกิจพอเพียงเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระชนมายุ 80 พรรษา รางวัลโรงเรียนคุณภาพชั้นนำ จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจันทบุรี เขต 1 รางวัลสถานศึกษาแบบอย่างการจัดกระบวนการเรียนการสอนและการบริหารจัดการตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จากกระทรวงศึกษาธิการ รางวัลโรงเรียนพระราชทาน ระดับก่อนประถมศึกษา จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชุมารี ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เน้นการพัฒนาตามความถนัด เหมาะสมของเด็กปฐมวัย ระดับกลาง ณ ศาลาดุสิดาลัย และรางวัลชมเชย “โครงการรณรงค์ ป้องกันและแก้ไข ปัญหายาเสพติด ( To be number one ) จากทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ประเภทสถานศึกษา ประจำปี 2549 ณ อิมแพค เมืองทองธานี
ผู้บริหารการศึกษา
8. ดร.สุรัตน์ ดวงชาทม
ผอ.สพท.มหาสารคาม เขต 1
อ.เมือง จ.มหาสารคาม
ดร.สุรัตน์ ดวงชาทม ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(ผอ.สพท.)มหาสารคาม เขต 1 เกิดเมื่อวันที่ 21 ก.ย.2498 ปัจจุบันอายุ 53 ปี ในปีพ.ศ. 2523 จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาการศึกษาบัณฑิต วิชาเอกชีววิทยา (กศ.บ.) จากม.ศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม ปี 2539 จบการศึกษาระดับปริญญาโท การศึกษามหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา (กศ.ม.) จาก ม.มหาสารคาม และ ปี พ.ศ. 2549 จบการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาบริหารการศึกษา (ศษ.ด.) จากม.ขอนแก่น
ดร.สุรัตน์ เริ่มชีวิตการเป็นครูครั้งแรกเมื่อ 2517 ที่ ร.ร.บ้านเหล่า จ.มหาสารคาม เริ่มตำแหน่งผู้บริหารเมื่อปี 2524 ในตำแหน่งผู้ช่วยครูใหญ่ ร.ร.บ้านหนองสนม จ.มหาสารคาม และเป็นผู้บริหารการศึกษาเต็มตัว ในปี 2525 ตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าการประถมศึกษา จ.มหาสารคาม จนกระทั่งปี 2550 ดำรงตำแหน่ง ผอ.สพท.มหาสารคาม เขต 1 จนถึงปัจจุบัน
ดร.สุรัตน์ สามารถพัฒนาให้ สพท.มหาสารคาม เขต 1 ได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เป็นเขตนำร่องในการใช้ระบบควบคุมเชิงประจักษ์ (Visual Control) ในการดำเนินงานตามคำรับรองปฏิบัติราชการ และนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการของหน่วยงานทางการศึกษาในสังกัดทุกระดับ โดยมุ่งโรงเรียนเป็นฐาน (SMB : School Based Management) และการโครงการสำนักงานอัตโนมัติ (One Stop Service) และใช้ระบบ E-Office ในงานธุรการ ทำให้ลดการรับส่งเอกสารและลดการเดินทางระหว่าง สพท.กับโรงเรียน
ดร.สุรัตน์ ได้รับรางวัลเป็นจำนวนมาก อาทิ พ.ศ. 2539 รางวัลบุคคลดีเด่น ประเภทผู้บริหารการศึกษา พ.ศ. 2545 โล่เกียรติคุณผู้บริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานดีเด่น และเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ “คุรุสดุดี” จากคุรุสภา พ.ศ. 2546 นักบริหารดีเด่น สาขานักบริหาร-พัฒนา และส่งเสริมการศึกษา เกียรติบัตรเป็นคนดีสังคมไทย สาขาพัฒนาส่งเสริมระบบการศึกษาใหม่ ฯลฯ
บุคลากรทางการศึกษาอื่น
9. นายเสริม คงประเสริฐ
ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ สพท.นราธิวาส เขต 1
อ.เมือง จ.นราธิวาส
อาจารย์เสริม คงประเสริฐ เกิดเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2493 อายุ 58 ปี จบการศึกษาสูงสุดระดับปริญญาโท สาขาการบริหารการศึกษา จาก ม.สุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อปี 2548 ปัจจุบันดำรง ตำแหน่งศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ หัวหน้ากลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา สพท.นราธิวาส เขต 1 และมีหน้าที่ดูแลด้านวิชาการของ สพท.นราธิวาส เขต 2 และ เขต 3 โรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองนราธิวาสและเทศบาลสุไหงโก-ลก
อาจารย์เสริมเข้าสู่ชีวิตราชการครูในตำแน่งครูจัตวา ร.ร.บ้านโคกงู อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อปี 2512 และดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ 4 เมื่อปี 2525 ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ สำนักการประถมศึกษา อ.เมืองนราธิวาส จ.นราธิวาสจนถึงปัจจุบัน
อาจารย์เสริม ได้รับมอบหมายให้เป็นเลขานุการคณะกรรมการการติดตาม ตรวจสอบนิเทศและประเมินผลการจัดการศึกษาของ สพท.นราธิวาส เขต 1 โดยสนับสนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในพื้นที่ 5 อำเภอ คือ อ.เมืองนราธิวาส ยี่งอ บาเจาะ รือเสาะ และ อ.ศรีสาคร โดยทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุนช่วยเหลือโรงเรียนปฏิบัติงานในสถานการณ์วิกฤติจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดูแลความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ที่เสี่ยงต่อการถูกทำร้าย โดยถือเป็นหน้าที่ต้องช่วยกัน “ตอบแทนบุญคุณของแผ่นดิน” ในสถานการณ์วิกฤติที่ติดต่อกันมายาวนาน และได้ให้กำลังใจแก่ครูทุกครั้งที่มีครูต้องเสียชีวิต ได้ทำหน้าที่นำเพื่อนครูเข้าฝึกอบรมทักษะยิงปืนเพื่อช่วยเตรียมความพร้อม
อาจารย์เสริม ได้คิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการปฏิบัติวิชาชีพ ได้คิดค้นพัฒนานวัตกรรมสร้าง “งานเกษตรสมุนไพรตามแนวพระราชดำริ” โดยบูรณาการ “คุณธรรมจริยธรรมนำความรู้” สู่นักเรียนชั้น ป. 6 โดยใช้แหล่งการเรียนรู้พัฒนาคุณภาพ “การจัดการเรียนรู้สร้างโรงเรียนเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้” ได้มีการพัฒนารูปแบบการนิเทศที่มีผลต่อการบริหารงานวิชาการของโรงเรียนในสถานการณ์วิกฤต โดยใช้กระบวนการนิเทศแบบเครือข่ายและการมีส่วนร่วม “สคลิบแดน โมเดล” (Networks & Participation “SCLIPDAN Model”)
อาจารย์เสริมได้รับการยกย่องเป็นศึกษานิเทศก์ดีเด่นระดับจังหวัด ระดับชาติ และระดับประเทศในปี 2533 และได้เป็นศึกษานิเทศก์เกียรติยศ ในปี 2546 เป็นที่ยอมรับในวิชาชีพครูผู้บริหารและศึกษานิเทศก์อย่างกว้างขวาง