xs
xsm
sm
md
lg

อมก๋อย...ยังคอยโอกาสการศึกษา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครูต่าย - นุชจิเรศ บัวขาว กับน้องๆ อมก๋อย
“บ้านหลังป่าข่า” ชุมชนชาวไทยภูเขาเล็กๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ มีประชากรไม่ถึงสามร้อยชีวิต ไกลเมืองใหญ่หากพระมหากรุณาธิคุณก็ยังปกแผ่ไปถึงพวกเขาเหล่านี้ บ้านหลังป่าข่ามีโครงการในพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ศูนย์การเรียนรู้ชาวไทยภูเขา (แม่ฟ้าหลวง) อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ แม้ศูนย์นี้จะมีครูอยู่เพียงสองคน แต่เด็กๆ ที่นี่ก็รักที่จะเรียน และพวกเขายังรอคอยโอกาสทางการศึกษา

บ้านหลังป่าข่า มีประชาชน 259 คน รวม 60 ครอบครัว 50 หลังคาเรือน มีศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา 1 ศูนย์ คือ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา (แม่ฟ้าหลวง) บ้านหลังป่าข่า เปิดสอนตั้งแต่เตรียมอนุบาล 1 โดยปัจจุบันมีเด็กนักเรียนทั้งหมด 41 คน เด็กนักเรียนจากหมู่บ้านอื่นอีก 14 คน มีครู 2 คน

ครูต่าย-นุชจิเรศ บัวขาว อายุ 32 ปี ครูอาสาสมัคร กศน.ที่เสียสละเวลาและความสุขส่วนตนมาสอนหนังสือที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา (แม่ฟ้าหลวง) บ้านหลังป่าข่า หมู่บ้านหลังป่าข่า ตั้งแต่ปี 2541 ครูต่ายเล่าถึงการทำงานกว่า 10 ปี ในฐานะแม่พิมพ์ของชาติด้วยรอยยิ้มแห่งความภาคภูมิใจ ว่า
ความน่ารักของน้องๆ อมก๋อย
“การศึกษาที่นี่ตอนนี้ดีขึ้น มีพัฒนาการมากขึ้น เมื่อก่อนพ่อแม่จะไม่ให้ลูกเรียนหนังสือสูง เด็กผู้หญิงอายุ 14 ปี ก็เตรียมตัวจะแต่งงานแล้ว แต่เดี๋ยวนี้ 7-8 ขวบเริ่มทยอยมาเรียนหนังสือ พอจบประถม ก็อยากเรียนในระดับมัธยม มากขึ้น ซึ่งต้องไปเรียนไกลจากหมู่บ้าน ต้องไปอยู่หอพัก ที่ศูนย์จะสอนภาษาไทยและคณิตศาสตร์ เพราะเราอยากให้เด็กของเราพูดได้ อ่านได้ เขียนได้ และคิดเลขเป็น ซึ่งตอนนี้นักเรียนที่ศูนย์ฯ เรียนสูงสุดที่ ป.3 มีคนเดียว คือ จุ๊เป หรือ ด.ช.สมชาย ต่วยซอ นอกจากเรียนที่ศูนย์ก็มีการเรียนทางไกลผ่านดาวเทียม เวลาสอนเราใช้ภาษาไทยปนภาษากะเหรี่ยง ตอนนี้ที่ศูนย์ต้องการความช่วยเหลือเรื่องสภาพศูนย์ที่ไม้เริ่มผุพัง หนังสือมีจำนวนน้อย โดยเฉพาะสื่อเสริมทักษะเด็กเล็ก”

ครูต่าย เผยจุดเริ่มต้นอาชีพเรือจ้างบนดอย ว่า “เรียนจบวิทยาลัยชุมชน และมาเรียนต่อที่ราชภัฏลำปาง และที่เลือกมาสอนหนังสือที่นี่ เพราะเห็นว่าการศึกษายังเข้าไม่ถึง เด็กๆ ขาดโอกาสทางการศึกษา และที่สำคัญ เราเป็นคนเชียงใหม่ ถ้าเราไม่ช่วยเด็กของเรา แล้วจะรอให้ใครมาช่วย สิ่งที่ครูอยากจะเห็น คือ เด็กๆ ได้เรียนหนังสือสูงๆ มีอนาคตที่ดีกว่านี้ ไม่ต้องมาลำบากเหมือนพ่อแม่ของเขา” ท้ายสุด ครูต่ายยังได้ฝากถึงเยาวชนในเมืองว่า “อยากให้เห็นคุณค่าของการเรียนหนังสือ เด็กในเมืองไม่เคยรู้หรอกว่าเด็กบนดอยขาดโอกาสทางการศึกษาอีกเยอะ สมุดทุกหน้าต้องใช้จนเต็ม ดินสอต้องใช้จนกุดจริงๆ จนจับไม่ได้จึงจะทิ้งได้ ทุกอย่างที่นี่มีคุณค่าหมดเลย ดังนั้น จึงอยากให้เด็กๆ ที่มีโอกาสได้เรียนจงเรียนอย่างเต็มที่ด้วยความตั้งใจ เพราะการศึกษาจะสามารถพัฒนาต่อยอดให้เรารู้เท่าทันกับสิ่งต่างๆ รอบตัว เมื่อมีโอกาสจงรีบคว้าโอกาสนั้นเสีย เพราะโอกาสจะสร้างคน และคนจะสร้างชาติต่อไป”

ด.ช.สมชาย 11 ปี นักเรียนชั้น ป.3 ตัวแทนศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา (แม่ฟ้าหลวง) บ้านหลังป่าข่า หนึ่งเดียวที่ได้มีโอกาสมาสัมผัสชีวิตคนเมืองในกรุงเทพฯ กับกิจกรรม “น้องๆ อมก๋อยตะลุยกรุงเทพฯ” เล่าว่า “ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเรา พ่อแม่จะทำไร่ข้าวเป็นหลัก ยามว่างก็จะรับจ้างเก็บมะเขือเทศ หรือทอผ้า ผมมาเรียนที่ศูนย์ฯ ทุกวัน ตั้งแต่วันจันทร์ – เสาร์ เวลา 08.30-16.00 น.ส่วนวันอาทิตย์นั้นจะไปโบสถ์ เพราะพวกเรานับถือศาสนาคริสต์ นิกายโปรแตสแตนท์
บรรยากาศการเรียนการสอนของน้องๆ อมก๋อย
การได้เรียนหนังสือผมมีความสุขมาก ผมอยากเรียนสูงๆ โตขึ้นจะได้เป็นหมอ เพราะผมอยากรักษาคน อยากช่วยคน อยากช่วยพ่อแม่และคนในหมู่บ้าน เวลาที่เห็นเขาไม่สบาย น่าสงสารมาก และถ้ามีโอกาสอีก ผมก็อยากกลับไปกรุงเทพฯ อีกครั้ง ที่กรุงเทพฯ สนุกและมีความสุขมาก ผมได้เห็นอะไรหลายอย่างที่ไม่เคยเห็น ที่ชอบที่สุดคือ ที่สยามโอเชียนเวิลด์ ที่นั่นมีปลาตัวใหญ่ๆ ให้ดู ผมไม่เคยเห็น กลับมาก็มาเล่าเรื่องปลาตัวใหญ่ให้แม่กับพ่อและน้องๆ ฟัง ตอนนี้หน้าหนาว อากาศบนดอยหนาวมาก ผมและที่บ้านต้องนอนข้างกองไฟ ห่มผ้า และใส่เสื้อกันหนาวเพื่อบรรเทาความหนาว” ด.ช.สมชาย ทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น