xs
xsm
sm
md
lg

ผ่ากึ๋นนโยบายด้านเด็ก เยาวชน คนพิการ จาก 4 ผู้ท้าชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


4 ผู้ท่าชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.ตบเท้าเปิดนโยบายด้านเด็ก คนพิการ “แซม” เล็งสร้างการศึกษาของเด็ก กทม.อย่างต่อเนื่อง ขยายโรงเรียนมัธยม ผลักดันมหาวิทยาลัยประจำเมืองหลวง ดึงเอกชนสนับสนุนงานด้านเด็กพร้อมลดหย่อนภาษีให้ 2 เท่า “อ.แก้ว” ประกาศยกเลิกงบโฆษณานำเงินทุ่มให้การทำงานด้านเด็ก พร้อมประสานเอ็นจีโอให้การช่วยเหลือ ติดตามเด็กมีปัญหา ขจัดขอทาน สั่งสถานที่ราชการเปิดพื้นที่กิจกรรมหลังเวลาราชการ ด้าน “ลีน่า จัง” เน้นการศึกษาฟรี สร้างเด็กนักเรียน กทม.พูดอังกฤษได้ ฟุ้งขอรับบริจาคคอมพิวเตอร์ จาก บิลเกตส์ เจ้าพ่อไมโครซอฟท์ พร้อมเสนอเพิ่มค่าครองชีพคนพิการ ดันให้เป็นเถ้าแก่น้อย ส่วน “หม่อมปลื้ม” เน้นประชานิยมเตรียมดัน “1 ร.ร.1 ทุน กทม.” ใช้งบ 400 ล้าน สนับสนุนเด็กจนจบ ป.ตรี เสนอห้องเรียนพิเศษเพื่อคนพิการ

วันนี้ (21 ธ.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 10.30 น.ที่พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานคร เขตจตุจักร เครือข่าย 19 องค์กรด้านเด็ก เยาวชน คนพิการและครอบครัว เปิดเวทีให้เหล่าผู้สมัครชิงผู้ว่าฯ กทม.ได้แสดงวิสัยทัศน์และนโยบายด้านการพัฒนาการศึกษา และการบริหารสื่อสำหรับเด็ก เยาวชน คนพิการ และครอบครัวขึ้นโดยมีผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.เข้าร่วม 4 ท่าน ได้แก่ นางลีนา จังจรรจา ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.หมายเลข 3 ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.หมายเลข 8 นายยุรนันท์ ภมรมนตรี ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.หมายเลข 10 และ นายแก้วสรร อติโพธิ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.หมายเลข 12 โดยใช้รูปแบบการจับสลากในการพูดนโยบาย พร้อมทั้งมีเวลาในการนำเสนอคนละ 10 นาที

** “แซม” เล็งสร้างการศึกษาอย่างต่อเนื่องเพื่อเด็กกทม.
โดย นายยุรนันท์ กล่าวว่า ตนรับอาสาเพื่อที่จะเข้ามาทำงานด้านเด็ก เยาวชน คนพิการ ผู้ยากไร้ โดยเฉพาะ เนื่องจากที่ผ่านมาได้ทำงานด้านนี้มาโดยตลอด ซึ่งทุกกระบวนการผู้ว่าฯ กทม.ไม่สามารถทำได้เบ็ดเสร็จคนเดียวแต่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการเข้ามาผลักดันนโยบาย ซึ่งตอนนี้พบว่าเด็ก เยาวชนในกรุงเทพฯ มีถึง 30% ของจำนวนประชากรกรุงเทพฯ ทั้งหมด โดยเรื่องการศึกษาคือเรื่องที่น่าจะให้ความสำคัญมากที่สุด

เท่าที่ทราบมามีโรงเรียนทั้งสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนสังกัดเอกชน และโรงเรียนในสังกัดของ กทม.ตรงนี้จะเห็นว่าเป็นการขาดความต่อเนื่องในการเรียน บางครั้งเด็กเรียนชั้นประถมจากโรงเรียนสังกัด กทม.แต่ต้องไปต่อชั้นมัธยมในโรงเรียนเอกชน โรงเรียนของรัฐ ซึ่งตนจะให้โรงเรียนระดับประถมศึกษาของ กทม.ขยายโอกาสเป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาให้ได้มากขึ้น เพื่อสร้างความต่อเนื่องของการเรียน ทั้งผลักดันในมีมหาวิทยาลัยประจำเมืองหลวง และหากมองในส่วนของสถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียนที่ กทม.ดูแลอยู่ทั้ง 291 แห่งนั้นก็จะต้องให้บริการอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยทั้งหมดนี้จะเป็นภาพรวมด้านการศึกษาที่เด็กควรจะได้รับตั้งแต่อนุบาลจนถึงอุดมศึกษา

“สิ่งที่โรงเรียนสังกัด กทม.ควรจะมี คือ “ความเท่าเทียม ทั่วถึง ทันโลก” ซึ่งขยายความได้ว่า เท่าเทียม คือ ในนโยบายเรียนฟรีนั้นต้องเกิดขึ้นอย่างเท่าเทียมกัน ทั่วถึง คือ ทุกเขตใน กทม.ต้องกระจายโรงเรียนให้ครบ เพียงพอต่อจำนวนเด็ก และทันโลก คือ ในด้านเทคโนโลยีการเรียนรู้ต้องมี แต่ต้องดูแลไม่ให้เด็กใช้ไปในทางที่ไม่ถูกต้อง อีกทั้งต้องมีการสร้างเครือข่ายผู้ปกครอง เพื่อช่วยป้องกันดูแล ประสานงานระหว่างโรงเรียนกับครอบครัวด้วย” นายยุรนันท์ กล่าว

นายยุรนันท์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการสนับสนุนให้มีการสอน 2 ภาษาในโรงเรียนนั้นก็มีความสำคัญ แต่ตนคิดว่า ต้องรอในความพร้อมหลายๆ ด้านโดยเฉพาะครูผู้สอนก่อนจะมีการสนับสนุนอย่างจริงจังจาก กทม.สำหรับพื้นที่การเรียนรู้สำหรับเด็กนั้น เห็นว่า ต้องไม่ใช่มีเฉพาะแค่ในโรงเรียน แต่ในหน่วยงานราชการ เอกชนต่างๆ ต้องเปิดพื้นที่ให้แก่เด็ก ได้เล่นกีฬา ออกกำลังกาย ในส่วนห้างสรรพสินค้าต่างๆ ต้องจูงใจโดยการลดหย่อนภาษี 2 เท่าเพื่อแลกกับการเปิดพื้นที่ทำกิจกรรมให้เด็กโดยเฉพาะ และทุกพื้นที่การเรียนรู้สำหรับเด็กไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์เด็ก หรือที่อื่นๆ ก็ไม่ควรคิดค่าเข้าชม ควรเปิดบริการฟรี นอกจากนี้จะให้บริษัทเอกชนจับคู่กับแต่ละโรงเรียนในสังกัด กทม.เพื่อร่วมกันช่วยเหลือ พัฒนาศักยภาพเด็กในด้านต่างๆ อีกด้วย

** “แก้วสรร” ยันยกเลิกงบพีอาร์ นำเงินช่วยเด็ก
นายแก้วสรร กล่าวว่า ปัจจุบันนี้จะเห็นได้ว่าครอบครัวไทยไม่ค่อยจะเป็นครอบครัว ทั้งในเรื่องของความแตกแยก การหย่าร้าง ซึ่งปัญหาทั้งหมดจะตกมาอยู่กับเด็กทั้งสิ้น หากสังเกตจะเห็นว่าพื้นที่ในเขตรอบนอกของเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ นั้น ครอบครัวส่วนใหญ่จะเป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ดังนั้น จะให้ความสำคัญกับหน่วยงานด้านเด็ก และผู้ยากไร้ หรือเอ็นจีโอในการเข้ามาให้การดูแลในส่วนนี้ โดยมีการร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อเข้ามาจัดการปัญหา ที่มีทั้ง ปัญหาขอทาน โดยจะปราบปรามวิสาหกิจกระบวนการขอทานให้หมดไป ในด้านเด็กที่มีปัญหาภายในโรงเรียนหากพบเจอจะส่งให้เครือข่ายการทำงานได้รับไปดูแล ในส่วนของชุมชนนั้นจะมีการจัดตั้งเป็นมูลนิธิต่างๆ ทั้งมูลนิธิชุมชน มูลนิธิกีฬา มูลนิธิดนตรี ในทุกเขต ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมด กทม.จะเป็นผู้ให้การสนับสนุน

นายแก้วสรร กล่าวอีกว่า นอกจากที่หน่วยงานองค์กรที่ทำงานด้านเด็กจะเข้ามาประสานในการให้ความช่วยเหลือเด็กแล้ว ต้องมีทีมงานเพื่อทำสื่อการเรียนรู้ป้อนให้แก่โรงเรียนต่างๆ ด้านพื้นที่การเรียนรู้นั้น ในพื้นที่ว่างใต้ทางด่วน ใต้สะพาน จะต้องเปิดเป็นสถานที่เพื่อเด็ก สนามเด็กเล่น ลานกีฬา ลานกิจกรรม ซึ่ง กทม.ต้องเดินหน้า หากพื้นที่มีจำกัด โรงเรียน หรือสถานที่ราชการในเวลาตั้งแต่ 5 โมงเย็นเป็นต้นไป ต้องเปิดให้เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมสำหรับเด็ก เยาวชน

“ที่ผ่านมา ผู้ว่าฯ อภิรักษ์ จะทุ่มเงินที่ใช้ในด้านเด็กอย่างมาก แต่เป็นการทุ่มให้กับการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ซึ่งไม่ลงลึกถึงปัญหาที่แท้จริง หากผมได้ทำหน้าที่ตรงนี้ จะยกเลิกงบโฆษณาทั้งหมด และนำเงินตรงส่วนนั้นมาเพื่ออุ้มชูเด็ก ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และในอนาคตคาดการณ์ว่าแรงงานในกรุงเทพฯ อาจจะตกงานกว่า 5 แสนคน แล้วอะไรจะเกิดขึ้นกับเด็ก กับครอบครัว ดังนั้นหากไม่เริ่มเสริมสร้างให้เด็กเข้มแข็ง สังคมอยู่ไม่ได้แน่นอน และหากทำโมเดลด้านเด็กเหล่านี้ได้แล้วเชื่อว่าน่าจะเป็นแนวทางที่ดีในการกระจายไปสู่หัวเมืองในภูมิภาคทั่วประเทศ”นายแก้วสรร กล่าว

** “ลีน่า จัง” เสนอเพิ่มค่าครองชีพคนพิการ
ด้าน นางลีน่า จัง กล่าวด้วยว่า ในฐานะที่ตนทำมูลนิธิ ลีน่า จัง ที่ให้การช่วยเหลือเด็ก สตรี คนชรา คนพิการมาตลอด 7 ปี ปัญหาที่พบด้านเด็กในพื้นที่ กทม.มีอยู่มากมาย จะเห็นได้ว่า จากการลงพื้นที่หาเสียง สำรวจในหลายๆ เขต รอบนอก พบว่า โรงเรียน หรือสถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียนมีความเป็นอยู่อย่างรันทดมาก บ้างขาดแคลนเครื่องใช้ โต๊ะ เก้าอี้ หรือแม้กระทั่งคอมพิวเตอร์ ทั้งยังมีเรื่องของสุขลักษณะที่มีผลต่อสุขภาพของเด็กนักเรียน ซึ่งหากตนได้รับหน้าที่ตรงนี้จะให้เด็กนักเรียนทุกคนใช้ภาษาอังกฤษได้ มีคอมพิวเตอร์ใช้ทุกโรงเรียนอย่างทั่วถึง หากเป็นไปได้ตนจะประสานขอความช่วยเหลือจาก บิลเกตต์ มหาเศรษฐีเจ้าของไมโครซอฟ เพื่อให้บริจาคคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ ในส่วนของเด็กจะได้รับอาหารฟรี ชุดนักเรียนฟรี อุปกรณ์การเรียนฟรี ค่าเล่าเรียนฟรี และมีรถนักเรียนรับส่งฟรี

นางลีน่า จัง กล่าวอีกว่า ในส่วนของครูในสังกัดกทม.จะมีการปรับขึ้นเงินเดือนให้ 2 เท่า พร้อมทั้งหาผู้เชี่ยวชาญมาเพื่อฝึกฝนทักษะให้เด็กต้องคิดเป็น ทำเป็น ในส่วนของนโยบายเกี่ยวกับผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการนั้น จะทำให้พวกเขาเหล่านี้เป็นนักธุรกิจ โดยการหาพื้นที่สำหรับการค้าขาย ทำเป็นตลาดนัดสินค้า ให้คนพิการนำของที่ตนทำมาวางขายฟรี ส่งเสริมให้เป็นเจ้าของกิจการ ดันให้เป็นเถ้าแก่น้อย ทั้งจัดเพิ่มค่าครองชีพ เบี้ยยังชีพให้แก่คนพิการเดือนละ 3,000 บาท

** “ปลื้ม” ชู “1 ร.ร.1 ทุนกทม.”
ส่วน ม.ล.ณัฏฐกรณ์ กล่าวว่า นโยบายที่ตนจะเสนอ คือ จะทำการแบ่งงบประมาณของกทม.400 ล้านบาท เพื่อนำมาเป็นทุนการศึกษาในระดับปริญญาตรีแก่เยาวชน 200 ทุน เฉลี่ยต่อหัวจนจบการศึกษาปริญญาตรี 4 ปี เป็นเงิน 2 ล้านบาท โดยนักเรียนที่สมัครเข้ารับทุนจะพิจารณาจากเด็กในครอบครัวที่มีรายได้น้อย แต่ผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งตั้งชื่อโครงการดังกล่าวว่า “ 1 ร.ร.1 ทุนกทม.” ด้านนโยบายที่ทำเพิ่มจากที่เป็นข่าวเมื่อไม่นานมานี้ในการแยกโรงเรียนระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาออกจากกัน จึงอยากดำเนินการตามแนวคิดดังกล่าวแต่ต้องมีการเพิ่มโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาให้มากขึ้น โดยอาจมีการขอรับบริจาคทุนจากเอกชนเข้ามาในการสร้างโรงเรียน

ม.ล.ณัฏฐกรณ์ กล่าวต่อว่า ด้านนโยบายเกี่ยวกับผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาสนั้น ตนอยากเห็นโรงเรียนในสังกัดกทม. ระดับประถมศึกษา ประมาณ 10-20 แห่ง จัดห้องเรียนพิเศษสำหรับเปิดทำการเรียนการสอนให้แก่ผู้พิการ หรือเด็กที่มีลักษณะพิเศษต่างๆ ที่สำคัญจะจัดให้มีบุคลากรเฉพาะทางมาทำการสอนโดยการสนับสนุนมูลนิธิต่างๆ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ นอกจากนั้นยังขึ้นค่าครองชีพให้แก่พนักงานเก็บขยะ คนกวาดถนนอีกด้วย

“ตอนนี้ภาพรวมของครอบครัวไทยค่อนข้างอ่อนแอ สถิติการหย่าร้างสูง หากจะสร้างความแตกต่างในฐานะของการเป็นผู้ว่าฯ กทม.สิ่งที่อยากจะทำเพิ่มเติมคือการสร้างความแข็งแกร่งแก่สังคม โดยเฉพาะเด็ก ต้องสร้างพื้นที่สำหรับเด็ก เมื่อเด็กไม่ต้องการอยู่บ้าน เมื่อบ้านเป็นสถานที่น่าเบื่อในสายตาเขา และเมื่อเขาออกมาเจอโลกภายนอกต้องมีแต้สิ่งดี มีสถานที่ดีๆ เพื่อรองรับพวกเขา เป็นที่ที่สามารถสร้างการเรียนรู้แก่เขาได้ เช่นมีการเปิด คลินิกภาษาอังกฤษ โดย กทม.หาครูมาสอนให้ หรือแม้กระทั่งห้องสมุด หรือสถานที่เรียนรู้ต่างๆ ภายใยสถานที่ราชการต้องเปิดให้เด็กสามารถเข้าใช้ได้ทันที เมื่อทำตรงส่วนนี้ได้เชื่อว่าแหล่งเรียนรู้จะมีอยู่รอบตัวเขา และให้เขาห่างจากสิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาได้หากทุกคนร่วมมือกัน” ม.ล.ณัฏฐกรณ์ กล่าว

นายยุรนันท์ ภมรมนตรี ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.เบอร์ 10 กับการสรุปนโยบายด้านเด็ก เยาวชน คนพิการ
นายแก้วสรร อติโพธิ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.เบอร์ 12 ในการสรุปแนวนโยบายด้านเด็ก เยาวชน คนพิการ
นางลีนา จังจรรจา ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 3 ในการสรุปนโยบายด้านเด็ก เยาวชน คนพิการ

ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.เบอร์ 8 กับการสรุปนโยบายด้านเด็ก เยาวชน คนพิการ
กำลังโหลดความคิดเห็น